"อลัน ทัวริง" บิดาแห่งคอมพิวเตอร์ ผู้ถอดรหัส Enigma แต่ถูกตีตราอาชญากรเพราะเป็น LGBTQ+

7 มิ.ย. 67

"อลัน ทัวริง" บิดาแห่งคอมพิวเตอร์ ผู้ถอดรหัส Enigma ช่วยเหลือผู้คนจากสงครามโลก แต่กลับถูกตีตราเป็นอาชญากรเพราะรักเพศเดียวกัน

อลัน ทัวริง (Alan Turing) นักคณิตศาสตร์และนักรหัสวิทยาชาวอังกฤษ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์ ผู้ถอดรหัส Enigma สร้างคุณูปการและช่วยชีวิตผู้คนจำนวนมากบนโลก แต่กลับไม่ได้ยอมรับจากสังคม ถูกจับกุมเป็นอาชญากร เพียงเพราะว่าเขามีรสนิยมรักเพศเดียวกัน จนต้องพบจุดจบอันน่าเศร้า ผ่านไปหลายสิบปีกว่าจะถูกปลดแอกจากคำว่า "อาชญากร"

ประวัติ อลัน ทัวริง

อลัน ทัวริง เกิดเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จบการศึกษาภาควิชาคณิตศาสตร์ จากคิงส์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ จากนั้นไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนกลับมาเป็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ โดยในปี 1936 เขาได้ตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการในหัวข้อ On Computable Numbers ซึ่งนำเสนอแนวคิดสำคัญสองเรื่องคือ "ขั้นตอนวิธีหรืออัลกอริทึม" และ "การคำนวณ" ที่กลายเป็นสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในทุกวันนี้

afp__20150319__hkg10161313__v

ผู้ถอดรหัส Enigma ช่วยคนนับล้านให้รอดพ้นจากเงื้อมมือของนาซีสมัยสงครามโลก

ในปี 1939 สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็อุบัติขึ้น รัฐบาลอังกฤษรวบรวมนักคณิตศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ระดับท็อปประเทศ เพื่อมาช่วยกันถอดรหัสเครื่อง Enigma (อีนิกมา) ซึ่งเป็นอุปกรณ์เข้ารหัสในการสื่อสารทางการทหารของกองทัพนาซี เยอรมนี

ในแต่ละวันกองทัพเยอรมนีได้ส่งข้อความที่มีการเข้ารหัสนับร้อยนับพันข้อความ เนื้อหามีตั้งแต่เรื่องทั่วไปอย่างสภาพอากาศ รายงานสถานการณ์การสู้รบจากบรรดานายพล ไปจนถึงคำสั่งที่ "อดอล์ฟ ฮิตเลอร์" ลงนาม ซึ่งผู้ถอดรหัสต้องมีโค้ดสำหรับการเซตรหัสที่ถูกต้อง ซึ่งวิธีการเซตทั้งหมดมีมากถึง 159 ล้านล้านล้านรูปแบบ

ทัวริงได้พัฒนาเครื่องถอดรหัสต้นแบบ Bombe ช่วยถอดรหัสลับของเครื่องอีนิกมาของเยอรมนีได้สำเร็จ โดยมีการระบุว่า เครื่องถอดรหัสลับที่ทิวริงพัฒนาขึ้นนี้ ได้ถอดรหัสข้อความของกองทัพเยอรมนีได้ถึงประมาณ 84,000 ข้อความต่อเดือน หรือนาทีละ 2 ข้อความเลยทีเดียว ช่วยให้อังกฤษและพันธมิตรสามารถล่วงรู้แผนและความเป็นไปของเยอรมนี ทำให้สามารถวางแผนป้องกันการโจมตีทางอากาศของกองทัพอากาศเยอรมัน ช่วยอังกฤษลดการสูญเสียกำลังพลเพราะการถอดรหัสของทัวริง

afp__20150421__063_469049416_

เดินหน้าสู่การเป็น บิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์

ปี 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงหนึ่งปี ทิวริงได้ทำงานให้กับห้องปฏิบัติการทางฟิสิกส์แห่งชาติของอังกฤษ ได้ออกแบบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีหน่วยเก็บโปรแกรม จนกระทั่งปี 1949 เขาได้สร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ โดยมีต้นแบบจาก “Turing Machine” ที่เขาเคยประดิษฐ์สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ถือได้ว่าเป็นคอมพิวเตอร์เครื่องแรกๆ ของโลก

นอกจากนี้ เขายังได้เผยแพร่ผลงานทางวิชาการในหัวข้อเครื่องจักรกลในการคำนวณและเชาว์ปัญญา โดยเสนอแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไออีกด้วย

จากบิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์ กลายเป็นอาชญากรเพราะเพศวิถี

ทัวริงกลายเป็นนักคณิตศาสตร์หนุ่มอนาคตไกล เขาเริ่มคบหากับ อาร์โนลด์ เมอร์เรย์ เด็กหนุ่มอายุ 19 ปี แบบลับๆ เพราะสมัยนั้นการรักเพศเดียวกันยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายในอังกฤษ จนกระทั่งปี 1952 ทัวริงโทรศัพท์แจ้งตำรวจเพราะถูกขโมยขึ้นบ้าน แต่เมื่อตำรวจมาถึงกลับพบหลักฐานว่าเขามีความสัมพันธ์กับผู้ชายภายในบ้านพัก ทำให้ทัวริงและแฟนหนุ่มถูกจับกุม มีความผิดฐาน "มีพฤติกรรมอนาจารกับชายอื่น"

ทัวริงถูกไล่ออกจากงาน ศาลตัดสินว่าเขาและแฟนหนุ่มผิดจริง และเสนอบทลงโทษให้ทัวริงเลือกระหว่าง ถูกจำคุกกับการฉีดฮอร์โมนให้อัณฑะฝ่อ เพื่อลดความต้องการทางเพศเป็นเวลา 1 ปี ซึ่งเขาไม่อยากติดคุกจึงเลือกข้อเสนอฉีดยาทำให้เป็นหมัน

หลังการพิจารณาคดีได้ 2 ปี ในวันที่ 7 มิถุนายน ปี 1954 ทัวริงเสียชีวิตอยู่ในบ้านพัก ขณะมีอายุ 41 ปี ผลชันสูตรศพพบว่ามีสารไซยาไนด์ในร่างกายจำนวนมาก ผลสรุปจากการไต่สวนชี้ว่า เขาฆ่าตัวตายเพราะความอับอายจากคดีรักร่วมเพศ แต่หลายคนก็กลับมองไปอีกแบบว่า อาจถูกรัฐบาลสั่งเก็บเพราะรู้ความลับมากเกินไป ซึ่งประเด็นนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่

afp__20121214__dv1368504__v1_

ตกเป็นอาชญากรนาน 60 ปี กว่าจะได้ปลดแอกจากคำนี้

ในปี 2013 อลัน ทิวริง ได้รับพระราชทานอภัยโทษหลังการเสียชีวิต จากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 นับว่าเขาต้องแบกรับคำว่าอาชญากรจากรสนิยมทางเพศของเขามานานถึง 60 ปี ถึงจะพ้นจากคำนี้ ต่อมาในปี 2017 อังกฤษได้บังคับใช้กฎหมายลดทอนความเป็นอาชญากรรมของการรักร่วมเพศระหว่างผู้ชาย หรือ 'ทัวริงส์ลอว์' (Turing's Law) ส่งผลให้ชายที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามกฎหมายรักร่วมเพศที่ถูกยกเลิกไปก่อนหน้านี้ ทั้งผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วและยังมีชีวิตอยู่ พ้นจากความผิด โดยจะได้รับการล้างมลทินและข้อหาดังกล่าวจะถูกลบออกจากประวัติอาชญากรรม สะท้อนถึงการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสหราชอาณาจักร

ต่อมาธนาคารกลางสหราชอาณาจักร ได้นำภาพของ อลัน ทัวริง บิดาด้านคอมพิวเตอร์และนักถอดรหัสคนสำคัญ พิมพ์ลงบนธนบัตรใบละ 50 ปอนด์ และออกใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ 23 มิ.ย. 2021

afp__20210622__9cu9bm__v1__hi

ทั้งนี้ ชีวิตของ อลัน ทัวริง ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Imitation Game ในปี 2014 เล่าเรื่องชีวิตของเขาทั้งในแง่มุมอัจฉริยะด้านคอมพิวเตอร์และการถอดรหัส รวมไปถึงชีวิตรักส่วนตัวจนกลายเป็นโศกนาฏกรรม นำแสดงโดย เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์ ได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง 8 สาขา และชนะรางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (Best Writing, Adapted Screenplay)

advertisement

เทรนดี้ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด