ครั้งแรกในญี่ปุ่น อนุญาตคู่รักเพศเดียวกัน จดทะเบียนเป็นคู่สมรสด้วยใบรับรองถิ่นที่อยู่

30 พ.ค. 67

เมืองโอมูระ ทางตอนใต้ของจังหวัดนางาซากิ เป็นเมืองแรกในญี่ปุ่นที่อนุญาตคู่รักเพศเดียวกัน จดทะเบียนเป็นคู่สมรสตามกฎหมายด้วยใบรับรองถิ่นที่อยู่ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2024 ที่ผ่านมา

สำนักข่าวเจแปนไทม์ส เปิดเผยว่า นายเคอิตะ มัตสึอุระ และนายยูทาโร ฟูจิยามะ ได้ยื่นขอใบรับรองการเป็นคู่ชีวิตภายใต้ระบบคำสาบานของหุ้นส่วนในปี 2020 และมีพิธีแต่งงานแบบชินโตที่ศาลเจ้าแห่งหนึ่งในจังหวัดเฮียวโงะในเดือนมิถุนายน 2023 อย่างไรก็ตาม พวกเขาไม่มีเอกสารทางกฎหมายที่ระบุว่าทั้งคู่แต่งงานกัน จนกระทั่งหลังจากย้ายมาอยู่ที่เมืองโอมูระในเดือนมีนาคมของปีนี้ ทั้งคู่ได้ยื่นขอจดทะเบียนเป็นคู่สมรสโดยพฤตินัยโดยใช้หนังสือรับรองการอยู่อาศัย แทนที่จะจดทะเบียนสองครัวเรือนภายใต้หลังคาเดียวกัน

เดิมทีเทศบาลเสนอให้ระบุทั้งคู่เป็นญาติกัน แต่หลังจากการพิจารณาเพิ่มเติมแล้ว เจ้าหน้าที่ได้ออกใบรับรองโดยระบุว่า นายมัตสึอุระเป็น "เจ้าบ้าน" และนายฟูจิยามะเป็น "สามีที่ไม่ได้จดทะเบียน" ของเขา นับว่าเป็นคู่รักเพศเดียวกันคู่แรกในญี่ปุ่นที่มีการระบุไว้ในเอกสารราชการลักษณะนี้

"ผมหยุดยิ้มไม่ได้เลย มันเป็นการตัดสินใจที่ก้าวไปไกลกว่าระบบคู่รักที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ซึ่งเทศบาลจะออกใบรับรองให้กับคู่รักเกย์ ผมหวังว่าสิ่งนี้จะนำประโยชน์เชิงปฏิบัติมาสู่คู่รักเพศเดียวกันมากขึ้น และจะเป็นก้าวสำคัญในการทำให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมาย" นายมัตสึอุระกล่าว

screenshot-kyodo-news

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นเพียงประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนํา 7 ประเทศ หรือ G7 จี 7 (ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และแคนาดา) ที่ไม่ยอมรับการสมรสระหว่างเพศเดียวกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นล่าสุด ทำให้นักเคลื่อนไหวมองว่าเป็นความก้าวหน้าเชิงบวก โดยหวังว่าสิ่งนี้จะสร้างแบบอย่างใหม่ในญี่ปุ่น และอาจปูทางไปสู่การรับรองการแต่งงานเพศเดียวกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ในญี่ปุ่น ผลสำรวจความคิดเห็นแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนกฎหมายที่เป็นมิตรกับ LGBTQ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาว แต่พรรคอนุรักษนิยมที่ปกครองอยู่ไม่เต็มใจที่จะผลักดันการปฏิรูปเรื่องนี้

ขณะนี้เทศบาลใหญ่ๆ หลายสิบแห่ง รวมถึงโตเกียว เสนอใบรับรองการเป็นหุ้นส่วนที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันได้รับการปฏิบัติเหมือนแต่งงานกันในบางพื้นที่ เช่น ที่อยู่อาศัย ยา และสวัสดิการ ฯลฯ ธุรกิจขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นหลายแห่งยังเสนอสิทธิประโยชน์แบบครอบครัวให้กับพนักงาน LGBTQ และพนักงานต่างเพศอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม คดีในศาลหลายคดีเมื่อเร็วๆ นี้เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในญี่ปุ่นทำให้เกิดคำตัดสินที่แตกแยกและยังต้องผลักดันเรื่องนี้กันต่อไป

advertisement

เทรนดี้ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด