เปิดรายชื่อ 37 ประเทศทั่วโลก ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ให้คุณค่าแก่ความรักของทุกคน

15 มิ.ย. 67

เปิดรายชื่อ 37 ประเทศทั่วโลก ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ให้คุณค่าแก่ความรักของทุกคน ให้คู่รักทุกเพศสามารถแต่งงานได้อย่างเสมอภาคกัน

Pride Month เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ หลายประเทศกำลังต่อสู้เรื่องสมรสเท่าเทียม เพื่อให้คู่รักทุกเพศมีความเท่าเทียมกัน เพื่อจะได้สิทธิประโยชน์ทางกฎหมายรองรับ โดยปัจจุบันมี 36 ประเทศที่เห็นคุณค่าของความรักแบบไม่จำกัดเพศของกลุ่ม LGBTQ+ เปิดโอกาสให้มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม และไทยก็กำลังจะเป็นอีกหนึ่งประเทศที่กำลังเข้าสู่กระบวนการนี้

1. เนเธอร์แลนด์

วันที่รับรอง: 1 เมษายน 2001

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมาย คู่รักเพศเดียวกันในประเทศมีสิทธิสมรส หย่า รับเลี้ยงบุตรบุญธรรมและเข้าถึงบริการผสมเทียมได้ หลังกฎหมายผ่านปัจจุบันมีคู่สมรสเพศเดียวกันแล้วประมาณ 20,000 คู่ นอกจากจะมีผลต่อสามัยชนแล้ว ยังครอบคลมถึงพระราชวงศ์ด้วย โดยกษัตริย์หรือราชินีสามารถอภิเษกสมรสกับบุคคลเพศเดียวกันได้ โดยไม่ต้องสละสิทธิในการขึ้นครองราชย์

2. เบลเยียม

วันที่รับรอง: 1 มิถุนายน 2003

เบลเยียมเป็นประเทศที่สอง ที่ให้การแต่งงานของเกย์เป็นสิ่งถูกกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2003 เบลเยียมยังได้ให้สิทธิแก่คู่รักเพศเดียวกันในการรับบุตรบุญธรรมด้วย ในอดีตการสมรสกับบุคคลเพศเดียวกันสัญชาติอื่นหรือระหว่างบุคคลเพศเดียวกันสัญชาติอื่นด้วยกันเองไม่สามารถกระทำได้หากประเทศเจ้าของสัญชาติไม่อนุญาต อย่างไรก็ตามได้มีคำสั่งรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2004 ที่อนุญาตให้บุคคลดังกล่าวสามารถสมรสได้ แม้ประเทศเจ้าของสัญชาติจะไม่อนุญาตก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลเพศเดียวกันทุกคู่ทำการสมรสได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

3. สเปน

วันที่รับรอง: 3 กรกฎาคม 2005

สเปนเป็นหนึ่งในประเทศที่การแต่งงานของเกย์เป็นสิ่งถูกกฎหมาย การแต่งงานของเพศเดียวกันถูกกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2005 คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสและรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ในปีแรกของการประกาศใช้กฎหมาย คู่ครองเพศเดียวกันกว่า 4,500 คนได้ทำการสมรส ทางการสเปนยังอนุญาตให้ชาวสเปนสามารถสมรสกับบุคคลต่างชาติ แม้ว่าประเทศเจ้าของสัญชาติจะไม่รับรองความเป็นคู่ครองทางกฎหมายก็ตาม อย่างไรก็ตาม คู่ครองหนึ่งคนนั้นจะต้องมีสัญชาติสเปนจึงจะสามารถสมรสได้ แต่บุคคลต่างชาติสองคนอาจสมรสกันได้หากทั้งคู่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสเปนโดยชอบด้วยกฎหมาย

afp__20230514__33f22j6__v1__h

4. แคนาดา

วันที่รับรอง: 20 กรกฎาคม 2005

กระบวนการนี้เริ่มต้นขึ้นในปี 2003 เมื่อออนแทรีโอและบริติชโคลัมเบียกลายเป็นสองรัฐแรกที่ออกกฎหมายให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกกฎหมายเฉกเช่นคู่สมรสทั่วไป ก่อนที่ต่อมาจะมีพระราชบัญญัติการแต่งงานของพลเมืองของรัฐบาลกลาง มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2005 กฎหมายนี้เป็นกฎหมายระดับประเทศที่ใช้ร่วมกัน คู่สมรสสามารถเลือกประกอบพิธีได้ทั้งทางศาสนาและทางราชการ โดยมีบาทหลวงและผู้พิพากษาเป็นผู้มีอำนาจในการประกอบพิธี ทั้งนี้ บาทหลวงจะยังคงสามารถปฏิเสธการดำเนินพิธีให้แก่คู่สมรสได้หากเห็นว่าเป็นการขัดต่อหลักศาสนาของตน นอกจากนี้ ผลของการจดทะเบียนสมรสยังส่งผลให้คู่สมรสเพศเดียวกันมีสิทธิและหน้าที่เท่ากันกับคู่สมรสต่างเพศ และสามารถหย่าขาดจากกันได้

5. แอฟริกาใต้

วันที่รับรอง: 30 พฤศจิกายน 2006

ศาลแอฟริกาใต้ได้ตัดสินว่ากฎหมายเดิม ที่ไม่มีการรับรองคู่รักเพศเดียวกันในประเทศ ถือเป็นการละเมิดสิทธิที่ประชาชนควรได้รับตามรัฐธรรมนูญ การแต่งงานของเพศเดียวกันจึงได้รับการรับรองในแอฟริกาใต้เมื่อพระราชบัญญัติสหภาพพลเรือนปี 2006 มีผลบังคับใช้ อนุญาตให้มีการรับรองตามกฎหมายสำหรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน โดยให้สิทธิและความรับผิดชอบที่เท่าเทียมกัน นับเป็นประเทศแรกในแอฟริกาที่ยอมรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน แต่ก็มีข้อยกเว้นที่เปิดช่องให้สถาบันทางศาสนาและเจ้าหน้าที่ สามารถปฏิเสธที่จะทำพิธีเกี่ยวกับงานสมรสให้กับคู่สมรสเพศเดียวกัน

6. นอร์เวย์

วันที่รับรอง: 1 มกราคม 2009

นอร์เวย์เป็นหนึ่งในประเทศที่การแต่งงานของเกย์เป็นสิ่งถูกกฎหมาย กฎหมายการแต่งงานที่เป็นกลางระหว่างเพศซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2009 รับรองสิทธิในการแต่งงานและการเลี้ยงดูที่เท่าเทียมกันสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน กฎหมายนี้ใช้แทนที่กฎหมายคู่ชีวิต 1973 ทำให้บุคคลเพศเดียวกันสามารถแต่งงาน รับบุตรบุญธรรม หรือมีบุตรหลอดแก้ว ได้ตามกฎหมาย

7. สวีเดน

วันที่รับรอง: 1 พฤษภาคม 2009

สวีเดนมีกฎหมายคู่ชีวิตสำหรับคู่รักเพศเดียวกันตั้งแต่ปี 1995 อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มีการประกันสิทธิที่เท่าเทียมกันกับคู่รักต่างเพศ รัฐสภาสวีเดนจึงลงมติให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2009 โดยคะแนนโหวตรับรองการเปลี่ยนกฎหมายนี้ ผ่านมติเสียงข้างมากในสภาไปอย่างล้นหลาม คู่รักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนได้เมื่อบุคคลมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ตั้งแต่มีการประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมมีคู่รักมาจดทะเบียนไปแล้วเกือบหมื่นคู่

afp__20140802__dv1840075__v2_

8. โปรตุเกส

วันที่รับรอง: 5 มิถุนายน 2010

โปรตุเกสเป็นหนึ่งในประเทศที่การแต่งงานของเกย์เป็นสิ่งถูกกฎหมาย รัฐสภาผ่านกฎหมายเพื่อทำให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถสมรสถูกต้องตามกฎหมายเมื่อปี 2010 ศาลรัฐธรรมนูญของประเทศก็เห็นชอบการเคลื่อนไหวดังกล่าวด้วย ต่อมารัฐสภาโปรตุเกส ก็ได้ประกาศอนุญาตให้คู่สมรสเพศเดียวกัน สามารถรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ในปี 2016

9. ไอซ์แลนด์

วันที่รับรอง: 11 มิถุนายน 2010

ปี ค.ศ. 2010 รัฐสภาไอซ์แลนด์โหวตผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ ร่างกฎหมายดังกล่าวแทนที่แนวปฏิบัติที่มีอยู่ของกฎหมายคู่ชีวิต กฎหมายใหม่กำหนดให้การแต่งงานมีความเป็นกลางทางเพศ และทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ โจฮันนา ซิกูร์ดาร์ด็อตติช ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ก็ใช้สิทธิ์นั้นแต่งงานกับคู่รักเพศเดียวกันของเธอ นับเป็นนายกฯ หญิงรักหญิงคนแรกของประเทศ เป็นผู้นำรายแรกของโลกที่ยอมรับว่าตนเองเป็นหญิงรักหญิง

10. อาร์เจนตินา

วันที่รับรอง: 22 กรกฎาคม 2010

อาร์เจนตินาเป็นประเทศแรกในอเมริกาใต้ที่รับรองการแต่งงานของชาว LGBTQ อย่างถูกกฎหมาย คู่รักเพศเดียวกันสามารถรับเลี้ยงเด็กในประเทศได้เช่นกัน นอกจากนี้อาร์เจนตินายังให้สิทธิทางกฎหมายแก่กลุ่มความหลาหลายทางเพศเพิ่มขึ้นมาอีก ในปี 22012 รัฐบาลได้ผ่านร่างกฎหมายอัตลักษณ์ทางเพศ คนข้ามเพศสามารถแปลงเพศได้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์อย่างผิดๆ และอย่างกดเหยียดว่าเป็นความผิดปกติทางจิต รวมถึงกฎหมายจัดสรรงานในภาคส่วนรัฐบาลร้อยละ 1 เอาไว้ให้คนข้ามเพศ รวมถึงผ่อนปรนทางภาษีและการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่อแก่ธุรกิจที่มีการจ้างงานคนข้ามเพศด้วย และเมื่อปี 2021 อนุญาตให้กลุ่มนอนไบนารีและบุคคลอื่นๆ สามารถระบุเพศเป็น X ในหนังสือเดินทางกับบัตรประจำตัวประชาชนได้

afp__20211106__9r78kr__v1__hi

11. เดนมาร์ก

วันที่รับรอง: 15 มิถุนายน 2012

ก่อนจะประกาศใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี 2012 เดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่รับรองสถานภาพคู่รัก LGBTQ+ ในฐานะ Domestic Partners หรือการอยู่กินด้วยกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยยังไม่ใช่สถานะสมรส ในปี 1989 กฎหมายดังกล่าวได้รับการแก้ไขในภายหลังเพื่ออนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการประกาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2012 และได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2012

12. อุรุกวัย

วันที่รับรอง: 10 เมษายน 2013

ก่อนจะมีกฎหมายคู่สมรสเพศเดียวกันออกมาบังคับใช้ในปี 2013 อุรุกวัยมีกฎหมายยินยอมให้คู่รักเพศเดียวกัน สามารถใช้สิทธิ์ในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันตั้งแต่ปี 2009 เกย์ เลสเบี้ยน และไบเซ็กชวลได้รับอนุญาตให้รับราชการอย่างเปิดเผยในกองทัพ และในปี 2018 กฎหมายใหม่ก็รับประกันสิทธิมนุษยชนของประชากรคนข้ามเพศ

13. บราซิล

วันที่รับรอง: 5 พฤษภาคม 2013

สภายุติธรรมแห่งชาติ (เอ็นซีเจ) และคณะกรรมการกำกับดูแลระบบกฎหมายของบราซิล ได้อนุญาตให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย ด้วยมติ 10-0 โดยมีการงดออกเสียงเพียง 1 เสียงเท่านั้น โดยระบุว่า หน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลที่ออกทะเบียนสมรสไม่มีสิทธิที่จะปฏิเสธคู่รักที่เป็นพวกรักเพศเดียวกัน

14. ฝรั่งเศส

วันที่รับรอง: 18 พฤษภาคม 2013

กระบวนการทำให้การแต่งงานของเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมายในฝรั่งเศสต้องเผชิญกับการถกเถียงและความคิดเห็นที่ขัดแย้งกันมากมาย แต่ในที่สุด นายฟรองซัวส์ ออลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในขณะนั้น ก็ลงนามรับรองกฎหมายที่อนุญาตให้กลุ่ม LGBTQ+ แต่งงานและจดทะเบียนสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงมีสิทธิในการรับอุปการะบุตรบุญธรรมเหมือนคู่สมรสชายหญิงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังกฎหมายผ่านไป 9 วัน ก็มีคู่รักชายกับชายเข้าพิธีแต่งงานเป็นคู่แรก ถือเป็นชัยชนะก้าวสำคัญของชาวรักร่วมเพศ ท่ามกลางกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยโดยรวมตัวกันประท้วงจนเกิดการปะทะกันกับเจ้าหน้าที่ ฝ่ายอนุรักษนิยม มองว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงคำจำกัดความของครอบครัวไปอย่างถาวร

afp__20230617__33k474l__v1__h

15. สหราชอาณาจักร

วันที่รับรอง: 17 กรกฎาคม 2013

อังกฤษเริ่มต้นโดยการมีกฎหมายคู่ชีวิต (civil union) ที่หมายถึงการครองคู่ที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย คล้ายกับคู่ที่จดทะเบียนแต่งงาน ในปี 2005 แต่ต่อมาอังกฤษก็ผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี 2013 และมีพิธีแต่งงานของคนเพศเดียวกันครั้งแรกในวันที่ 29 มีนาคม 2014 ซึ่งในช่วงแรกก่อนที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะถูกรับรอง โพลสำรวจความคิดเห็นส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนกฎหมายนี้ แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปหลายคนก็ยอมรับได้มากขึ้น เห็นได้จากผลสำรวจล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ชาวอังกฤษ 80% สนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม

16. นิวซีแลนด์

วันที่รับรอง: 19 สิงหาคม 2013

นับตั้งแต่ปี 1986 กลุ่ม LGBTQ+ ในนิวซีแลนด์ถูกเลือกปฏิบัติ หลังศาลมีคำสั่งตัดสินให้การร่วมเพศทางทวารหนัก การโป๊เปลือย การทำอนาจารระหว่างผู้ชายด้วยกัน หรืออำนวยความสะดวกด้านสถานที่ให้กับกลุ่มคนรักร่วมเพศได้ทำกิจกรรมทางเพศ ถือว่ามีความผิดและจะต้องถูกลงบันทึกประวัติติดตัว ต้องโทษจำคุก ถูกปรับ และได้รับแรงกดดันจากสังคม ก่อนจะถูกยกเลิกไปในปี 1993 จากนั้นเรื่องนี้มีการทำให้ถูกต้องตามกฎหมายในรูปแบบของพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมการแต่งงาน โดยเปลี่ยนคำจำกัดความของการแต่งงานที่ครอบคลุมคู่รักเกย์ด้วย ซึ่งการแต่งงานของเพศเดียวกันได้รับการอนุมัติจากสภานิวซีแลนด์ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2013 ด้วยคะแนนเสียง 77 ต่อ 44

17. ลักเซมเบิร์ก

วันที่รับรอง: 18 มิถุนายน 2014

ลักเซมเบิร์กเป็นหนึ่งในประเทศที่การแต่งงานของ LGBTQ+ เป็นสิ่งถูกกฎหมาย ลักเซมเบิร์กออกกฎหมายให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมายในปี 2014 กฎหมายดังกล่าวรับประกันความเท่าเทียมกันในการแต่งงานและมีเป้าหมายเพื่อลดการเลือกปฏิบัติจากรสนิยมทางเพศ กฎหมายฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี ซึ่งหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้ไม่กี่เดือน นายซาเวียร์ เบตเทล นายกรัฐมนตรีลักเซมเบิร์กในขณะนั้น ก็ประกาศแต่งงานกับคู่รักชายของเขาที่คบหากันมายาวนาน

18. ไอร์แลนด์

วันที่รับรอง: 22 พฤษภาคม 2015

ชาวไอร์แลนด์ลงประชามติเห็นชอบให้ปรับแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ อนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมายผ่านการทำประชามติ ทำให้ไอร์แลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันมีสถานะคู่สมรสด้วยการลงคะแนนเสียงโดยตรงจากประชาชน ผลการวิจัยพบว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบ 62% เห็นด้วยกับการแต่งงานของชาวเกย์ การลงประชามตินำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้มีการรับรองการแต่งงานโดยไม่คำนึงถึงเพศของคู่สมรส

19. สหรัฐอเมริกา

วันที่รับรอง: 26 มิถุนายน 2015

การเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการสมรสของพลเมืองและสิทธิประโยชน์ของคู่ครองเพศเดียวกันในสหรัฐเริ่มต้นขึ้นในยุค 1970 จนเมื่อโลกก้าวเข้าสู่คริสต์ศตวรรษที่ 21 ผู้คนที่สนับสนุนการสมรสเพศเดียวกันได้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2004 รัฐแมสซาชูเซตส์ได้กลายเป็นรัฐแรกของสหรัฐที่สิทธิในการสมรสเพศเดียวกันชอบด้วยกฎหมาย ก่อนจะผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันในปี 2015 ล่าสุดเดือนธันวาคม 2022 ประธานาธิบดี "โจ ไบเดน" ได้ลงนามในกฎหมายคุ้มครองการแต่งงานของเพศเดียวกัน ซึ่งการรับรองนี้ช่วยให้คู่รัก LGBTQ หลายแสนคู่ไม่ต้องกังวลอีกต่อไปว่าศาลสูงสุดสหรัฐจะล้มล้างคำพิพากษากฎหมายสมรสเพศเดียวกันที่เคยผ่านร่างในปี 2015 อีกทั้งยังคุ้มครองการแต่งงานข้ามเชื้อชาติที่ 16 รัฐเคยออกกฎหมายห้ามตั้งแต่ปี 1967 และอนุญาตให้การแต่งงานในเพศเดียวกันถูกกฎหมายในทุกรัฐ

afp__20170625__py334__v5__hig

20. โคลอมเบีย

วันที่รับรอง: 28 เมษายน 2016

ศาลรัฐธรรมนูญโคลอมเบียรับรองการแต่งงานของคู่รัก LGBTQ+ ด้วยคะแนนเสียง 6 ต่อ 3 พร้อมระบุว่าการห้ามการแต่งงานของเพศเดียวกันนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งโคลอมเบีย การตัดสินใจดังกล่าวมีผลทันที และยังให้สิทธิการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมแก่คู่รักเพศเดียวกันเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ

21. ฟินแลนด์

วันที่รับรอง: 1 มีนาคม 2017

ก่อนหน้านี้ ฟินแลนด์มีกฎหมายคู่ชีวิตสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน โดยให้สิทธิและความรับผิดชอบเช่นเดียวกับการแต่งงานสำหรับคู่รักเพศตรงข้าม ยกเว้นสิทธิในการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมและความสามารถในการใช้ชื่อสกุลร่วมกัน ก่อนที่รัฐสภาฟินแลนด์จะมีการแก้กฎหมายให้การแต่งงานของเพศเดียวกันเป็นสิ่งถูกกฎหมายตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2017 ด้วยคะแนนเสียง 101–90 อย่างไรก็ตาม ฟินแลนด์ไม่มีการอนุมัติกฎหมายคู่ชีวิตเพิ่มเติม ส่วนคู่ครองที่จดทะเบียนไว้สามารถคงสถานะไว้ได้ต่อเมื่อพวกเขาไม่แต่งงาน

22. เยอรมนี

วันที่รับรอง: 1 ตุลาคม 2017

ถือเป็นประเทศที่ 15 ในทวีปยุโรปที่มีการอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานได้อย่างเป็นทางการ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ผ่านการรับรองในรัฐสภาด้วยเสียงข้างมาก 393 ต่อ 226 เสียง ผู้ที่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป นอกจากนี้ยังอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันที่ไม่ได้ถือสัญชาติเยอรมนีสามารถจดทะเบียนสมรสได้ เยอรมนียังเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับคู่รักเพศเดียวกันที่ต้องการจดทะเบียนแต่ประเทศของตนยังไม่รับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียมอีกด้วย

afp__20230715__33p74uf__v1__h

23. ออสเตรเลีย

วันที่รับรอง: 9 ธันวาคม 2017

ปี 2017 รัฐสภาออสเตรเลียได้ประกาศใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมเป็นครั้งแรก โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลออสเตรเลียเปิดทำประชามติทั่วประเทศโดยไม่มีผลผูกพัน และประชาชนได้ลงคะแนนสนับสนุนกว่า 62% ถือว่าเป็น 1 ใน 3 ประเทศที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมมาจากเสียงของประชาชนโดยตรง ซึ่งผู้ที่จะจดทะเบียนสมรสได้จะต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป นอกจากนี้ กฎหมายสมรสเท่าเทียมในออสเตรเลียยังเปิดโอกาสให้คู่รักเพศเดียวกันที่ไม่ได้ถือสัญชาติออสเตรเลีย ได้มีโอกาสจดทะเบียนสมรสอีกด้วย รวมถึงผู้ที่จดทะเบียนสมรสในต่างประเทศสามารถเข้าถึงรัฐสวัสดิการเท่ากับผู้ที่จดในประเทศ แต่จะไม่สามารถจดทะเบียนซ้ำได้

24. มอลตา

วันที่รับรอง: 12 กรกฎาคม 2017

มอลตา เป็นเกาะเล็กๆ ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี เป็นประเทศที่อนุรักษนิยม 98% ของประชากรมอลตานับถือศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิก ซึ่งเชื่อว่าการสมรสเพศเดียวกันเป็นบาป แต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนไปตามกระแสโลกได้อย่างดี คนส่วนใหญ่มองเห็นว่าการจดทะเบียนคู่ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกันนั้นเป็นเรื่องสำคัญ นอจากนี้ยังเป็นประเทศแรกในยุโรปที่บัญญัติให้การบำบัดแก้เกย์เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะเชื่อว่าความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เรื่องที่จะต้องแก้ไข ใครจะเป็นอะไร หรือมีรสนิยมทางเพสแบบไหนไม่ใช่เรื่องผิดอะไร และยังสามารถแก้ไขคำนำหน้าเพศของตัวเองได้ตามที่ต้องการบนพาสปอร์ต

25. ออสเตรีย

วันที่รับรอง: 1 มกราคม 2019

ออสเตรียมีการออกกฎหมายจดทะเบียนคู่ชีวิตมาก่อนในปี 2010 ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญของออสเตรียมีคำตัดสินในเดือนธันวาคม 2017 ว่าการห้ามการแต่งงานของเพศเดียวกันนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ คู่รักเพศเดียวกันทั่วประเทศจึงสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2019 ทำให้คู่รักทุกคู่สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการที่เท่าเทียมกัน โดยผู้ที่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

26. ไต้หวัน

วันที่รับรอง: 24 พฤษภาคม 2019

ไต้หวันนับเป็นชาติแรกในเอเชียที่ผ่านกฎหมายอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในปี 2017 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งทบทวนกฎหมายการสมรสเดิม ที่ตีความบังคับใช้ได้แค่กับคู่รักชายและหญิง ก่อนจะมีการทบทวนกฎหมายสมรสใหม่จนได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายสมรสเท่าเทียมในปี 2019 และได้ผ่อนคลายกฎระเบียบว่าด้วยการสมรสของบุคคลเพศเดียวกันแบบข้ามพรมแดน และสิทธิการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ในปี 2023 ส่งผลให้การสมรสเท่าเทียมในไต้หวัน มีความก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น จนถึงสิ้นปี 2023 คู่รักเพศเดียวกันที่จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีจำนวนทั้งสิ้น 25,716 คน ในจำนวนนี้ เป็นคู่รักที่เป็นเพศชาย 7,748 คน โดยคู่รักเพศหญิง 17,968 คน ส่วนการจดทะเบียนสมรสข้ามชาตินั้น ชาวไต้หวันและชาวต่างชาติที่ได้จดทะเบียนสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีจำนวน 1,054 คน แบ่งเป็นเพศชาย 644 คน เพศหญิง 410 คน

 afp__20231028__33z93ek__v1__h

27. เอกวาดอร์

วันที่รับรอง: 8 กรกฎาคม 2019

เอกวาดอร์รับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2019 ตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2019 ซึ่งมีมติเห็นชอบว่า การจำกัดสิทธิของคู่รักเพศเดียวกันดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย โดยเอกวาดอร์เป็นประเทศที่ 5 ในลาตินอเมริกาต่อจากอาร์เจนตินา บราซิล อุรุกวัย และโคลอมเบีย ที่บังคับใช้กฎหมายสมรสเพศเดียวกัน อีกทั้งยังรับรองสิทธิของคู่ชีวิต นับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา

28. ไอร์แลนด์เหนือ

วันที่รับรอง: 13 มกราคม 2020

หลังจากที่ประเทศในเครือสหราชอาณาจักร อังกฤษ เวลส์ และสกอตแลนด์ผ่านกฎหมายสมรสมเท่าเทียมไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน รัฐสภาสหราชอาณาจักร ได้เสนอร่างกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันในไอร์แลนด์เหนือเมื่อปี 2019 ก่อนจะถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2020 ซึ่งไอร์แลนด์เหนือนับเป็นประเทศสุดท้ายในเครือสหราชอาณาจักรที่ผ่านร่างกฎหมายนี้

29. คอสตาริกา

วันที่รับรอง: 26 พฤษภาคม 2020

คอสตาริการับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2020 และกลายเป็นประเทศแรกในอเมริกากลางที่ทำเช่นนั้น เรื่องนี้เกิดขึ้นหลังจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญของประเทศเมื่อเดือนสิงหาคม 2018 ซึ่งประกาศว่ากฎหมายที่ห้ามการแต่งงานของคนเพศเดียวกันนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับสิทธิ LGBTQ ในประเทศ คู่รักเพศเดียวกันและต่างเพศที่จะจดทะเบียนสมรสได้จะต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

30. ชิลี

วันที่รับรอง: 7 ธันวาคม 2021

ชิลีเป็นหนึ่งในประเทศที่การแต่งงานของเพศเดียวกันเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญชิลีได้ปฏิเสธคำร้องของคู่รักเพศเดียวกัน ก่อนที่จะมีการเสนอการแก้ไขกฎหมายการสมรส “จากชายกับหญิงเป็นบุคคลกับบุคคล” ผ่านรัฐสภาในปี 2021 และผ่านมติอย่างล้นหลาม ชิลีออกกฎหมายให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมายในวันที่ 7 ธันวาคม 2021 นอกจากนี้ การทำให้ถูกต้องตามกฎหมายยังนำไปสู่การยกเลิกข้อกำหนดที่ว่าคนข้ามเพศที่แต่งงานแล้วจะต้องหย่าร้างหากพวกเขาต้องการให้การรับรองเพศของตนถูกต้องตามกฎหมาย กฎหมายยังอนุญาตให้พ่อแม่เพศเดียวกันมีสิทธิของผู้ปกครองเหนือบุตรทางสายเลือดหรือบุตรบุญธรรมด้วย โดยผู้ที่จะจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมในชิลีได้จะต้องมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป

afp__20230625__33ky78m__v1__h

31. สวิตเซอร์แลนด์

วันที่รับรอง: 1 กรกฎาคม 2022

สวิตเซอร์แลนด์ออกกฎหมายให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2022 การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลมาจากการลงประชามติทั่วประเทศ โดยประชาชน 2 ใน 3 ที่มาใช้สิทธิได้โหวตรับร่างกฎหมายดังกล่าว กฎหมายใหม่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงาน รับบุตรบุญธรรมร่วมกัน และรับเงินบำนาญของคู่สมรสที่เสียชีวิตได้

32. คิวบา

วันที่รับรอง: 25 กันยายน 2022

คิวบารับรองการแต่งงานของคนเพศเดียวกันในปี 2022 การตัดสินใจดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการลงประชามติระดับชาติเรื่อง “กฎหมายครอบครัวฉบับใหม่” โดยมีผู้มาใช้สิทธิเกือบ 6 ล้านคนจากทั้งหมด 8.4 ล้านคน มีผู้โหวตเห็นชอบกฎหมายใหม่มากกว่า 3.9 ล้านคน หรือ 66.9% ขณะที่ 1.95 ล้านคนหรือ 33% โหวตคัดค้าน ซึ่งกฎหมายครอบครัวฉบับใหม่นี้ ทำให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และการจดทะเบียนเป็นคู่ร่วมชีวิต เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย และอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันรับบุตรบุญธรรมได้ด้วย

33. สโลวีเนีย

วันที่รับรอง: 4 ตุลาคม 2022

สโลวีเนียกลายเป็นประเทศหลังคอมมิวนิสต์ประเทศแรกในยุโรปตะวันออกที่ออกกฎหมายให้การแต่งงานและการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมของคนเพศเดียวกัน เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยในเดือนกรกฎาคม 2022 ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสโลวีเนียตัดสินว่าการห้ามการแต่งงานของเพศเดียวกันถือเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญของสโลวีเนีย การแต่งงานของกลุ่มหลากหลายทางเพศได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2022

afp__20170617__pn5b1__v1__hig

34. อันดอร์รา

วันที่รับรอง: 17 กุมภาพันธ์ 2023

อันดอร์ราออกกฎหมายให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันในปี 2023 ก่อนหน้านี้ คู่รักเพศเดียวกันสามารถจัดสหภาพพลเรือนได้ตั้งแต่ปี 2014 ที่นี่เป็นหนึ่งในประเทศที่การแต่งงานของเกย์เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย รัฐธรรมนูญห้ามการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลจากรสนิยมทางเพศ

35. เอสโตเนีย

วันที่รับรอง: 1 มกราคม 2024

รัฐสภาเอสโตเนียมีมติผ่านร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ด้วยมติเห็นชอบ 55 ต่อ 34 เสียง จากทั้งหมด 101 เสียง ส่งผลให้เอสโตเนียกลายเป็นประเทศแรกในแถบยุโรปกลางที่ผ่านร่างกฎหมายนี้ โดยมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2024 ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงาน รับเลี้ยงเด็ก และได้รับสิทธิเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ

36. กรีซ

วันที่รับรอง: 15 กุมภาพันธ์ 2024

กรีซเป็นหนึ่งในประเทศที่การแต่งงานของเกย์เป็นสิ่งถูกกฎหมาย การแต่งงานของเพศเดียวกันถูกกฎหมายในกรีซตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2024 ทำให้กรีซเป็นประเทศแรกที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ นิกายออร์โธดอกซ์ ที่อนุญาตให้การแต่งงานของเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมาย ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับเสียงสนับสนุนในสภา 176 ต่อ 76 เสียง ทั้งนี้กรีซมีความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ โดยในปี 2015 กรีซอนุญาตให้คนเพศเดียวกันสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ และในปี 2017 กรีซให้การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ (ที่อาจไม่ตรงกับเพศกำเนิด) ตามกฎหมาย และในปี 2022 กรีซได้สั่งห้ามการบำบัดเพื่อเปลี่ยนรสนิยมทางเพศให้ตรงกับเพศกำเนิด (Conversion Therapy) สำหรับเยาวชน

afp__20220618__32cr3aq__v1__h

37. ไทย

สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง

จากนั้นวันที่ 24 กันายน 2567 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ทั้งนี้ซึ่งมีเนื้อหารับรองการสมรสระหว่างบุคคล โดยไม่จำกัดเฉพาะชาย หญิง โดยให้บุคคลสองคนสามารถแต่งงานกันได้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยแก้ไขคำว่า ชาย และ หญิง เป็น บุคคล และเรียกคู่สามี-ภรรยา เป็น คู่สมรส

นอกจากนี้ปรับอายุขั้นต่ำ การหมั้น สมรส จาก 17 ปี เป็น 18 ปี และคนไทยสามารถจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติโดยใช้กฎหมายไทยได้ รวมทั้งรับบุตรบุญธรรม เรียกค่าทดแทน และเหตุฟ้องหย่าได้

ทั้งนี้ กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค.2568 เป็นต้นไป

afp__20240618__34x73d9__v1__h

advertisement

เทรนดี้ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด