เป็นกะเทย LGBTQ+ บวชพระได้หรือไม่ "บัณเฑาะก์" ที่ห้ามบวช สามารถตีความได้อย่างไร

28 พ.ค. 67

เป็นกะเทย LGBTQ+ บวชพระได้หรือไม่ "บัณเฑาะก์" ที่มีความหมายว่า "กะเทย" เป็น 1 ใน 3 ประเภทของผู้ที่ห้ามบวชโดยเด็ดขาด เราจะตีความเรื่อง "บัณเฑาะก์" อย่างไร

พระพุทธองค์ทรงให้หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคลที่จะบรรพชาและอุปสมบท โดยต้องมีคุณสมบัติที่พระพุทธองค์ทรงกำหนดไว้ ดังนี้

บุคคลที่มีคุณสมบัติต้องห้ามบวชพระ

1.คนทำความผิดหลบหนีอาญาแผ่นดิน
2.คนหลบหนีราชการ
3.คนต้องหาในคดีอาญา
4.คนเคยถูกตัดสินจำคุก โดยฐานเป็นผู้ร้ายสำคัญ
5.คนถูกห้ามอุปสมบทเด็ดขาดทางพระศาสนา
6.คนมีโรคติดต่อเป็นที่น่ารังเกียจ เช่น วัณโรคในระยะอันตราย
7.คนมีอวัยวะพิการจนไม่สามารถปฏิบัติกิจพระศาสนาได้

นอกจากนี้ ในศาสนาพุทธยังได้กำหนดว่าผู้ที่ห้ามบวชโดยเด็ดขาดมีอยู่ 3 ประเภทด้วยกัน คือ ผู้ที่มีเพศและภาวะบกพร่อง ผู้ที่เคยทำอนันตริยกรรม 5 อย่าง และผู้ที่ทำผิดต่อพระพุทธศาสนา หากคณะสงฆ์ให้บวชไปโดยที่ไม่รู้ เมื่อทราบภายหลังจะต้องให้ลาสิกขา

ประเภทที่ 1 ผู้ที่มีเพศและภาวะบกพร่อง
• บัณเฑาะก์ หมายถึง กะเทย
• อุภโตพยัญชนก หมายถึง คนที่มีอวัยวะเพศ 2 เพศ คือ มีทั้งเพศหญิงและเพศชายในคนเดียวกัน
• สัตว์ดิรัจฉาน

ประเภทที่ 2 ผู้ที่เคยทำอนันตริยกรรม
• ผู้ที่ฆ่าบิดา
• ผู้ที่ฆ่ามารดา
• ผู้ที่ฆ่าพระอรหันต์
• ผู้ที่ทำร้ายพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนถึงห้อพระโลหิต
• ผู้ที่ทำสังฆเภทคือทำให้พระสงฆ์แตกกัน

ประเภทที่ 3 ผู้ที่ทำผิดต่อพระพุทธศาสนา
• ผู้ที่เคยต้องอาบัติปาราชิก หมายถึงผู้ที่เคยบวชแล้วแต่ทำผิดร้ายแรงถึงระดับที่ขาดจากความเป็นพระภิกษุ บุคคลประเภทนี้จะกลับมาบวชอีกไม่ได้
• ผู้ที่ประทุษร้ายภิกษุณี
• คนลักเพศ หมายถึง ปลอมบวช คือเอาผ้าเหลืองมาห่มเองโดยไม่มีพระอุปัชฌาย์
• ผู้ที่ไปเข้ารีตเดียรถีย์ หมายถึงพระภิกษุ-สามเณรที่เปลี่ยนไปเป็นนักบวชนอกพระพุทธศาสนา จะกลับมาบวชไม่ได้

pexels-quang-nguyen-vinh-2225_2

ทั้งนี้ มีการถกเถียงกันว่า ผู้ที่ห้ามบวชโดยเด็ดขาด ประเภทผู้ที่มีเพศและภาวะบกพร่อง ซึ่งเป็น บัณเฑาะก์ หมายถึง กะเทย นั้นตีความได้อย่างไร จะตัดสินกันทางด้านกายภาพหรือจิตใจ เพราะปัจจุบันเราก็ยังคงเห็นข่าวพระเณรที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบน จนเกิดการตั้งคำถามว่า กะเทยสามารถบวชได้หรือไม่?

พระมหาอิสระ ชัยภักดี ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตีความ "บัณเฑาะก์" เป็นกะเทย บวชพระได้ไหม? ผ่านทางเว็บไซต์ มิวเซียมสยาม (Museum Siam) ได้อย่างน่าสนใจว่า สังคมส่วนใหญ่มักเริ่มต้นประเด็นที่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ไม่สามารถอุปสมบทได้ โดยนำเอาข้อความในพระไตรปิฎกมาเป็นที่ตั้งว่า

“...ปณฺฑโก ภิกฺขเว อนุปสมฺปนโน น อุปสมฺปาเทตพฺโพ...”

“... ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ บัณเฑาะก์ ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย...” หมายความว่า ห้าม “บัณเฑาะก์” บวช หากบวชแล้วก็ต้องให้สึก

แต่หากลองพิจารณาคำว่า “บัณเฑาะก์” นั้น หมายถึงใคร กินความแค่ไหน หรือมีการตีความไว้ว่าอย่างไรบ้าง คัมภีร์อรรถกถาซึ่งเป็นคัมภีร์ที่พระมหาเถระได้ร่วมกันพิจารณาขยายความถึงข้ออรรถข้อธรรมต่างๆ อธิบายเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย จะพบว่าในคัมภีร์สมันตปาสาทิกา ในข้อว่า “บัณเฑาะก์” นั้น พระอรรถกถาจารย์อธิบายขยายความแยกบัณเฑาะก์ออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

1. อาสิตตบัณเฑาะก์ คือ ชายที่อมอวัยวะเพศของชายอื่น
2. อุสุยยบัณเฑาะก์ คือ ชายที่ชอบพอใจในการดูกิจกรรมร่วมเพศระหว่างชายกับชาย
3. โอปักกมิยบัณเฑาะก์ คือ บุคคลที่ถูกตอน เช่น ขันที
4. ปักขบัณเฑาะก์ คือเป็นบัณเฑาะก์ในช่วงข้างแรม (มีอารมณ์กำหนัดบางวัน) แต่ช่วงข้างขึ้นไม่เป็น
5. นปุงสกัปบัณเฑาะก์ คือ ผู้มีความบกพร่องทางเพศสภาพ คือไม่ปรากฏเพศที่แน่ชัด

จากอรรถกาจึงกล่าวได้ว่า "(1) อาสิตตบัณเฑาะก์" และ "(2) อุสุยยบัณเฑาะก์" สามารถบวชได้ "(4) ปักขบัณเฑาะก์" สามารถบวชได้ในวันที่ไม่มีกำหนัด ส่วน "(3) โอปักกมิยบัณเฑาะก์" และ "(5) นปุงสกัปบัณเฑาะก์" นั้นไม่สามารถบวชได้

afp__20200325__1q60zo__v1__hi

การอนุญาตให้บัณเฑาะก์บวช พระอรรถกถาจารย์หมายความว่าต้องเป็นบัณเฑาะก์ก่อนที่จะเข้ารับการอุปสมบท เมื่อบัณเฑาะก์ผู้นั้นมีความประสงค์ที่จะเลือกเพศสภาพแห่งความเป็นชาย ละทิ้งกริยาอาการแห่งหญิง ตั้งใจที่จะมาอุปสมบทบำเพ็ญภาวนาก็สามารถที่จะกระทำได้ แต่เมื่อบวชแล้วต้องบังคับข่มใจสละ ความประพฤติเดิมนั้นออกเสีย คือเมื่อเลือกที่จะบวชแล้วถือได้ว่าเป็นการเลือกเพศสภาพแห่งความเป็นชาย ของตน ข่มจิตใจอาการแห่งความเป็นหญิงไม่ให้ฟุ้งซ่านขึ้น

การอธิบายของพระอรรถกถาจารย์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเปิดโอกาสของพระพุทธศาสนา คือ อนุโลมให้ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศได้มีโอกาสเข้ามาประพฤติตามพระธรรมวินัยได้ แต่ตนเองนั้นต้อง เป็นผู้เลือกที่จะยอมรับวิถีปฏิบัติในหมู่สงฆ์ ส่วนประเภทที่ห้ามบวชนั้นล้วนมีปัญหาเกี่ยวกับเพศกำเนิดทางกายภาพที่บกพร่อง ในส่วนของผู้ทำการบวชให้ ได้แก่ประชุมสงฆ์อันมีพระอุปัชฌาย์เป็นประธาน พระอุปัชฌาย์นี้ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบกุลบุตรผู้ที่เข้ามาขออุปสมบทว่าสามารถบวชได้หรือไม่

ในขั้นตอนนี้พระอุปัชฌาย์จะถามอันตรายิกธรรมกับนาคท่ามกลางหมู่สงฆ์ หนึ่งในนั้นมีข้อหนึ่งถามว่า “...ปุริโสสิ๊..” (เธอเป็นผู้ชายหรือไม่ ?) เมื่อกล่าวตอบว่า “อาม ภนฺเต” (ใช่ครับ) พระอุปัชฌาย์จึงจะอุปสมบทให้ ในขั้นตอนนี้จึงถือเป็นการคัดกรอง สอบถามความแน่ใจและย้ำเตือนบุคคลที่จะเข้ามาอุปสมบทถึงการเลือกและยอมรับการปฏิบัติอย่างสมณเพศ

ถึงจุดนี้คงได้คำตอบแล้วว่า “บัณเฑาะก์” สามารถบวชได้หรือไม่ แต่ประเด็นที่อาจนำมาพิจารณาต่อว่าเมื่อบวชแล้วนั้นจะประพฤติตนอย่างไรมากกว่า

โลกแห่งสังคมปัจจุบันทุกคนมีสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกได้อย่างชัดเจนโดยไม่จำกัดความหลากหลายทางเพศ แต่ในด้านศาสนานั้นค่อนข้างมีความละเอียดอ่อนบ้างอยู่พอสมควร เมื่อพุทธศาสนาเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้ามาประพฤติปฏิบัติตามความศรัทธาของตนแล้ว ตัวพระภิกษุสามเณรนั้นควรจะต้องยกระดับประคับประคองจิตใจให้ไม่ก้าวล่วงพระธรรมวินัยด้วยเช่นกัน จีวรคือสิ่งที่ย้ำเตือนให้ระมัดระวังในการประพฤติ เป็นเครื่องแบบ (uniform) ที่กระตุ้นความรู้สึกความเป็นพระที่ต้องข่มกลั้นจิตใจ ต้านทานต่อกระแสโลก กระแสความต้องการของตน

afp__20190403__1fb9sg__v1__hi

ทั้งนี้ ในการอุปสมบท ภิกษุจะถามอันตรายิกธรรมกับอุปสัมปทาเปกขะ (ผู้มุ่งจะบวช) เมื่อทราบว่าไม่มีอันตรายิกธรรมดังกล่าว จึงจะอุปสมบทได้ ซึ่งชายผู้จะบวชเป็นพระภิกษุต้องปราศจากอันตรายิกธรรม 13 ข้อ

1.เธอเป็นโรคเรื้อนหรือไม่
2.เธอเป็นโรคฝีชนิดเป็นทั่วตัวหรือไม่
3.เธอเป็นโรคกลากหรือไม่
4.เธอเป็นโรคมองคร่อ คือ มีเสมหะแห้งอยู่ในก้านของหลอดลมหรือไม่
5.เธอเป็นโรคลมบ้าหมูหรือไม่
6.เธอเป็นมนุษย์ ใช่ไหม
7.เธอเป็นผู้ชาย ใช่ไหม
8.เธอเป็นไทแก่ตัวเอง ใช่ไหม
9.เธอไม่เป็นหนี้ใคร ใช่ไหม
10.เธอไม่ใช่ข้าราชการที่ยังมีภาระต้องรับผิดชอบ ใช่ไหม
11.บิดา มารดาของเธออนุญาต ใช่ไหม
12.เธออายุครบ 20 ปี ใช่ไหม
13.เธอมีบาตรและจีวรครบ ใช่ไหม

ข้อ 1-5 ผู้อุปสมบทต้องตอบว่า นตฺถิ ภนฺเต (นัตถิ ภันเต) ซึ่งแปลว่า ไม่ ส่วนที่เหลือต้องตอบว่า อาม ภนฺเต (อามะ ภันเต) แปลว่า ใช่ครับ

advertisement

เทรนดี้ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด