สมอ.เร่งตรวจสอบหน้ากากอนามัยไร้มาตรฐาน4ยี่ห้อเล็งใช้มาตรฐานบังคับกลางปี’65

14 ธ.ค. 64

สมอ. แจงแผนกำหนดมาตรฐานหน้ากากอนามัยตามขั้นตอน หลังมีหน่วยงานออกมาแถลงข่าวผลการทดสอบหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว 41 ยี่ห้อไม่ผ่านมาตรฐานพบที่ขออนุญาตสมอ.มีแค่4ยี่ห้อ เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ลั่นกลางปี 2565 ประกาศมาตรฐานบังคับหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวทิ้งทุกยี่ห้อต้องได้มาตรฐาน มอก. แนะผู้บริโภคเลือกซื้อ



นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ มีหน่วยงานแถลงข่าวผลการทดสอบหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00-12.00 น. ผ่านทาง Facebook live โดยทดสอบหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว จำนวน 41 ยี่ห้อ พบว่าไม่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน มอก. 2424-2562 จำนวน 35 ยี่ห้อ และทดสอบหน้ากาก N95 จำนวน 19 ยี่ห้อ พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก.2480-2562 จำนวน 6 ยี่ห้อ และเรียกร้องให้ สมอ. กำหนดให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมหรือเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าและคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า นั้น ขอชี้แจงว่า การดำเนินการของ สมอ. ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประกาศให้หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว มอก.2424-2562 เป็นสินค้าควบคุม โดยเสนอร่างกฎกระทรวงต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในกลางปี 2565

ปัจจุบัน สมอ. กำหนดมาตรฐานหน้ากากอนามัยและที่เกี่ยวข้อง เป็นมาตรฐานทั่วไป หรือมาตรฐานภาคสมัครใจ จำนวน 7 มาตรฐาน ดังนี้ 1. มอก. 2424-2562 หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว 2. มอก.2480-2562 หน้ากาก N 95 3. มอก. 3189-2564 หน้ากากใช้ครั้งเดียวชนิด N99 ลดความเสี่ยงการติดเชื้อทางการแพทย์ 4. มอก. 3190-2564 หน้ากากใช้ครั้งเดียวชนิด N100 ลดความเสี่ยงการติดเชื้อทางการแพทย์ 5. มอก. 3199-2564 หน้ากากผ้า 6. มอก. 2199-2547 อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ : ชนิดกรองอนุภาค7. มอก. 2382-2551 อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ : ชนิดกรองอนุภาคดูดซับก๊าซและไอในขณะเดียวกัน
โดยมีผู้ประกอบการสมัครใจยื่นขอรับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. 2424-2562 หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว และได้รับใบอนุญาตแล้ว จำนวน 9 ราย และมีผู้ได้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. 2480-2562 หน้ากาก N 95 แล้ว จำนวน 1 ราย ดังตาราง

ต่อกรณีที่มีการแถลงข่าวดังกล่าว สมอ. ได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ในจำนวน 41 ยี่ห้อนั้น มีผู้ประกอบการ 4 ราย ที่ได้รับอนุญาตจาก สมอ. ได้แก่ บริษัท ทีพีซีเอส จำกัด (มหาชน) บริษัท เคเอส โกลเด้น จำกัด บริษัท เอ็น.เอ็น.สกายเทรด จำกัด และบริษัท เฮลท์เวย์ ซัพพลาย จำกัด มีผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สมอ. จึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เนื่องจากหน้ากากอนามัยมาตรฐาน มอก. นั้น มี 3 ระดับการป้องกัน ดังนี้ ระดับ 1 ใช้งานทั่วไป ระดับ 2 ใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป และระดับ 3 ใช้งานทางการแพทย์ในทางศัลยกรรม ซึ่งแต่ละระดับมีความเข้มข้นในการทดสอบต่างกัน และต้องตรวจสอบวันเดือนปีที่ผลิตหน้ากากอนามัยล็อตที่ถูกสุ่มตรวจด้วย ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ที่ผลิตขึ้นก่อนได้รับใบอนุญาตตามมาตรฐาน มอก. โดยขณะนี้ สมอ.ได้ส่งหน้ากากอนามัยของผู้ประกอบการทั้ง 4 รายไปทดสอบตามมาตรฐาน มอก. แล้ว และจะตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อขยายผลต่อไป นอกจากนี้ ยังได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการทั้ง 10 รายที่ได้รับใบอนุญาต ให้ผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอตามที่ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. หากตรวจสอบพบว่าสินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จะดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตทันที

“ หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวตามมาตรฐาน มอก. 2424-2562 นั้น กำหนดระดับการกรองน้อยสุด มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียไม่น้อยกว่า 95% กรองอนุภาคขนาด 0.1 ไมครอนได้ ไม่น้อยกว่า 95% และสามารถป้องกันไม่ให้ของเหลวซึมผ่านได้ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นมาตรฐานทั่วไปที่ผู้ประกอบการสมัครใจจะยื่นขอใบอนุญาตหรือไม่ก็ได้ แต่หลังจากที่ สมอ. ประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมแล้ว จะเป็นผลให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย จะต้องผลิต นำเข้า และจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่ได้รับอนุญาตจาก สมอ. เท่านั้น หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย ซึ่งในระหว่างที่ สมอ. ดำเนินการประกาศเป็นสินค้าควบคุม และผู้บริโภคจำเป็นต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาใช้ ขอให้สังเกตเครื่องหมาย มอก. ก่อนซื้อทุกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่ามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน” เลขาธิการ สมอ. กล่าว

advertisement

Powered by Positioning

คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด