ดอกไม้ก็ "แพง" หวั่นซ้ำลอยกระทงซบ

11 พ.ย. 64

ลอยกระทงปีนี้ดูท่าจะเงียบเหงากว่าทุกปี แม้ประเทศไทยเพิ่งเปิดประเทศไปเมื่อ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา แต่ผลตอบรับยังไม่ได้ดีอย่างที่คาด ด้วยสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถเอาชนะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างอยู่หมัด เทศกาลที่จะมาเป็นตัวชูโรงของเดือนอย่างเทศกาลลอยกระทงเลยต้องเงียบเหงาไปด้วย

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า ปริมาณเงินสะพัดวันลอยกระทงของปี 2563 อยู่ที่ 9,429 ล้านบาท ต่ำสุดในรอบ 9 ปี เป็นลดลงต่อเนื่องเช่นนี้มา 3 ปีติดต่อกันแล้ว สาเหตุหลักเพราะประชาชนยังไม่กล้าออกมาใช้จ่าย ส่วนในปีนี้ โควิด-19 ก็ยังไม่จากไปไหน
 

 
แม้รัฐบาลจะอนุญาตให้มีการจัดงานลอยกระทงในหลายพื้นที่ แต่ก็เป็นไปภายใต้มาตรการสาธารณสุขอย่างเข้มงวด ซึ่งคาดว่าอาจจะทำให้เป็นงานลอยกระทงที่เงียบเงาอีกปีเช่นกัน

ธุรกิจที่พิ่งพิงเทศกาลอย่าง 'ร้านดอกไม้' จึงเป็นธุรกิจแรกที่ได้รับผลกระทบไปแบบเต็มๆ แม้จะเป็นเทศกาลช่วงท้ายของปีแล้ว แต่ความคึกคักของทั้งลูกค้าและยอดขายก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นกลับมา

----------------------------------------------------------------------
SPOTLIGHT พาไปสำรวจราคาใบตองกับดอกไม้สด ที่เป็นวัตถุดิบในการทำกระทงบางส่วน รวบรวมจากเว็บไซต์ ‘ลุงมังส์ดอกไม้สด’ ณ วันที่ 8 พ.ย. 2564

-ใบตองตานี 150 บาท/ 4 กก.
-ดอกดาวเรือง 
เล็ก 120 บาท / จัมโบ้ 200 บาท
-ดอกบานไม่รู้โรย ม่วง 220 บาท/กก.
-ดอกกุลหลาบมอญ ตูม 100 บาท/กก.
-ดอกกล้วยไม้ บอมม่วง 80 บาท/กก.
-ดอกมัม เชียงใหม่ 100 บาท/กก.
----------------------------------------------------------------------

 

124431


"ดอกบานไม่รู้โรย ม่วง 100-120 บาท ต่อ 1 กก."

ร้าน 'ลุงโหน่ง ปากคลองตลาด' เปิดเผยว่า แม้ราคาดอกไม้ส่วนใหญ่ในช่วงนี้จะยังใกล้เคียงกับช่วงปกติ เพราะดีมานด์ความต้องการของลูกค้ายังไม่ได้กลับมา แม้ว่าจะเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการ ให้ตลาดและร้านรวงต่างๆ เริ่มออกมาค้าขายได้ปกติแล้วก็ตาม

แต่ทั้งนี้ ก็จะมีดอกไม้ที่เป็นวัตถุดิบหลักในการทำกระทงช่วงเทศกาล ได้แก่ ดอกดาวเรือง ดอกกุหลาบ ดอกบานไม่รู้โรย ที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นเกือบ “สองเท่า” จากช่วงปกติ ซึ่งบานไม่รู้โรย (ม่วง) นั้นยังแพงขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงลอยกระทงปีที่แล้ว โดยขยับขึ้นมา 220 บาท/กก. จากเดิมประมาณ 100 - 120 บาท/กก. ในขณะที่ราคาของดอกกุหลาบได้ดีดขึ้นไปใกล้ราคาในช่วง “วันวาเลนไทน์” เช่นกัน

ทว่า สิ่งที่ต่างออกไปก็คือ ราคาดอกไม้ที่แพงขึ้นใกล้ช่วงวาเลนไทน์ ไม่ได้เป็นเพราะ “ดีมานด์” ที่ขยับขึ้น แต่เป็นเพราะปัจจัยลบต่างๆ ที่ทำให้ต้นทุนพุ่งสูงขึ้นต่างหาก ตั้งแต่ผลผลิตจากชาวสวนที่ส่งเข้าสู่ตลาดมีปริมาณน้อยลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ส่งผลให้ผลผลิตดอกไม้มีปริมาณน้อยลง

ยิ่งเมื่อกระแสที่ว่าลอยกระทงปีนี้อาจจะไม่ครึกครื้น ผนวกกับราคาวัตถุดิบที่สูง จึงยิ่งทำให้ยอดการสั่งดอกไม้เพื่อเตรียมไปทำกระทงของทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ผลกระทบนี้จึงไม่ได้เกิดขึ้นกับธุรกิจร้านขายดอกไม้เท่านั้น แต่ยังไปถึงธุรกิจ“เจ้าของสวนดอกไม้” ที่โดนผลกระทบต่อรายได้ถึง 2 เด้ง อีกด้วย

'เด้งแรก' จาการที่ผลผลิตลดน้อยลงเนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป

'เด้งที่สอง' เกิดจากความต้องการซื้อในตลาดที่ลดน้อยลง จากผลของพิษโควิดและเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อทุกคนในห่วงโซ่อุปทาน

 

 
ด้านร้าน 'ลุงมังส์ดอกไม้สด' เจ้าของข้อมูลราคาดอกไม้ ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ภาพรวมของราคาดอกไม้ส่วนใหญ่อาจไม่ได้ขยับขึ้น แต่จะมีดอกไม้บางกลุ่ม เช่น ดอกมะลิ ดอกรัก ดอกกุหลาบมอญ ราคาขยับตัวสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาน้ำท่วม ส่งผลให้มีผลผลิตน้อยลง ส่วนความคึกคักของลูกค้าก็ถือว่าดีขึ้นตั้งแต่เปิดเมืองมา แต่ก็ยังไม่กลับมาเท่าที่ควร

จากการสอบถามความเห็นพนักงานบริษัทเอกชนส่วนหนึ่ง ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า จากกระแสที่เงียบเหงา สภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา บวกกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มกัน จึงยังไม่สนใจเข้าร่วมงานลอยกระทงปีนี้

โดยบางส่วนยังเสริมว่าจะหันไป “ลอยกระทงออนไลน์” แทนด้วย เพราะกังวลเรื่องปัญหาการจัดการขยะจากการลอยกระทง ซึ่งยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน

จากนี้ไปจนถึงสิ้นปี ตราบเท่าที่การท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนยังไม่กลับมา อีกธุรกิจที่หวังพิ่งพึงเทศกาลสำคัญอย่าง 'ร้านดอกไม้' และ “สวนดอกไม้” คงต้องรับศึกหนักแบบนี้ต่อไป

#ลอยกระทง #ธุรกิจดอกไม้ #Economy

advertisement

Powered by อมรินทร์ทีวีออนไลน์

ข่าวยอดนิยม