การเงิน

สรุป 5 ข้อ Easy E-Receipt ที่คุณควรรู้!ก่อนใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี

7 ม.ค. 67
สรุป 5 ข้อ Easy E-Receipt ที่คุณควรรู้!ก่อนใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี

หนึ่งในนโยบายลดหย่อนภาษีที่หลายคนสนใจในช่วงนี้ นั่นคือ Easy E-Receipt ซึ่งก่อนหน้านี้หลายคนอาจจะคุ้นเคยกันในชื่อ ช้อปดีมีคืน มีคืนมากกว่า แต่ปี 2567 มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกี่ยวกับนโยบายนี้ และนี่คือ 10 ข้อที่ควรรู้และทำความเข้าใจก่อนใช้สิทธิ์ครับ

ข้อแรก: Easy E-Receipt เป็นรายการค่าลดหย่อนสำหรับปีภาษี 2567

(ใช้ยื่นภาษีเงินได้ช่วงต้นปี 2568) ดังนั้นไม่เกี่ยวกับการยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2567 ที่เป็นการยื่นภาษีเงินได้ของปี 2566 ดังนั้นอย่าสับสนกันนะครับ

ข้อสอง:เงื่อนไขการลดหย่อนภาษี

สิทธิ์ลดหย่อนนี้ให้สำหรับ "บุคคลธรรมดา" ที่ไม่ใช่ "ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล" ที่ซื้อสินค้าหรือบริการภายในช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2567 และสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50,000 บาท

โดยกำหนดสินค้าและบริการที่ซื้อแล้วใช้สิทธิ์ได้มี 3 กลุ่มดังนี้

  • สินค้าและบริการที่อยู่ในระบบ VAT
  • หนังสือและอีบุ๊ก (รวมหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน)
  • สินค้าท้องถิ่น OTOP (ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องกับกรมพัฒนาชุมชน)

ส่วนสินค้าหรือบริการที่ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ คือ รายการต่อไปนี้ครับ

  • ค่าสุรา เบียร์ ไวน์ ค่ายาสูบ
  • ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
  • ค่าน้ำมันและก็าซสำหรับเติมยานพาหนะ
  • ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการสำหรับบริการที่มีข้อตกลง การให้บริการระยะยาวซึ่งเริ่มต้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 67 หรือสิ้นสุดหลังวันที่ 15 ก.พ. 67 แม้ว่าจะจ่ายค่าบริการระหว่างวันที่ 1 ม.ค. 67 ถึงวันที่ 15 ก.พ. 67
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย

นอกจากนั้นยังหมายความรวมถึง สินค้าและบริการที่ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT7%) ก็ไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้เช่นเดียวกัน ยกเว้นแต่หนังสือและอีบุ๊ก (รวมหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ตำราเรียน) และ สินค้าท้องถิ่น OTOP (ที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง) ที่สามารถใช้สิทธิ์ได้ตามที่ได้อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ครับ

ข้อสาม: หลักฐานที่ใช้ต้องเป็นใบกำกับภาษี หรือ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

ไม่สามารถใช้เอกสารแบบกระดาษได้ ซึ่งข้อสังเกตสำคัญของเอกสารเป็นแบบนี้ครับ 

กรณี E-tax invoice & E-receipt โดยปกติจะได้รับเป็นไฟล์ PDF ผ่าน e-mail / SMS หรือได้รับในรูปแบบกระดาษก็ได้ (ผู้ขายพิมพ์ให้) แต่ข้อสังเกตในใบกำกับภาษีที่ได้รับในกรณีนี้ (หากพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษให้กับผู้ซื้อ) ต้องมีคำว่า "เอกสารนี้ได้จัดทำและนำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์" และมักจะมี มีลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (Digital signature) อยู่ในนั้นด้วย

E-Tax invoice by e-mail / by timestamp เป็นใบกำกับภาษีสำหรับกิจการขนาดเล็ก และถือว่าเป็นใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เหมือนกัน โดยเราจะได้รับใบกำกับภาษีประเภทนี้ในรูปแบบ PDF ผ่าน e-mail ของเรา (ผู้ขายส่งให้) และเราจะต้องได้รับเมล์อีกฉบับจากทาง ETDA (http://etax.teda.th)ที่มีหัวข้อว่า "ประทับรับรองทางเวลาเรียบร้อย" และมีรหัสเอกสารต่อท้าย เพื่อยืนยันว่า ระบบได้ทำการประทับรับรองเวลาให้กับเอกสารแนบแล้วครับ

อย่างไรก็ตาม ทางกรมสรรพากรแจ้งว่า เราสามารถใช้ข้อมูล e-Tax Invoice ในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรในการยื่นแบบแสดงรายการภาษี และเจ้าหน้าที่สรรพากรจะไม่ขอให้ส่งใบกำกับภาษีอีกหากมีข้อมูลในฐานข้อมูลของกรมสรรพากรอยู่แล้วครับ 

ข้อสี่ :คำแนะนำสำหรับคนที่ต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี

คำถามที่ควรถามก่อนใช้สิทธิ์นี้ ไม่ใช่ซื้ออะไรใช้สิทธิ์ได้บ้าง แต่เป็นคำถามว่า “คนขายออก E-TAX หรือ E-Receipt ได้ไหม” เพราะสิทธิ์ลดหย่อนภาษีคราวนี้ สำคัญตรงที่เอกสารหลักฐานที่กฎหมายกำหนด  ดังนั้น ถ้าคนขายออกเอกสารใบกำกับภาษี หรือ ใบรับอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ ต่อให้ซื้อของที่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมาย ก็ยังไม่มีสิทธิ์ลดหย่อนภาษี

ใครอยากตรวจสอบรายชื่อ สามารถตรวจสอบได้ทีนี่ครับ

https://efiling.rd.go.th/rd-questionnaire-web/etax-invoice

ดังนั้นอย่าลืมตรวจสอบข้อมูลให้ครบถ้วนทั้งคนขายว่าสามารถออกเอกสารหลักฐานได้ไหม และใบกำกับภาษีหรือใบรับที่เราได้รับนั้นเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วยหรือเปล่าครับ

ข้อห้า : สิ่งทีต้องระวัง

คือ การใช้เงินกับการลดหย่อนภาษี ต้องย้ำอีกทีว่า เราไม่ได้ลดภาษีตามจำนวนเงินที่เราจ่ายไป แต่ลดได้จากอัตราภาษีที่เราเสีย ดังนั้นถ้าคำนวณภาษีเป็นด้วย จะช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นครับ

 Easy E-Receipt

ป.ล. หากใครสนใจเรื่องนี้ ผมทำคลิปไว้ในช่อง TAXBugnoms สามารถดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ เตรียมตัว! ช้อปลดหย่อนภาษีปี 2567 กับ Easy E-Receipt ซื้ออะไรได้บ้าง? ลดภาษีได้กี่บาท?

สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกคนวางแผนจัดการเงินให้ดี ซื้อของลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้อง และเก็บหลักฐานไว้ให้ครบถ้วนด้วยนะครับผม :)

ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT