การเงิน

ภาษี ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด สรุป 4 เรื่องใกล้ตัวเกี่ยวกับภาษี 

16 ก.ย. 66
ภาษี ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด สรุป 4 เรื่องใกล้ตัวเกี่ยวกับภาษี 

ภาษี! อยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิดโดยเฉพาะคนที่ไม่เคยคิดจะยื่นจ่ายภาษีมาก่อน บทความนี้จะมาบอกว่าแทบทุกคนทุกอาชีพล้วนเกี่ยวข้องกับภาษีทั้งสิ้น โดยภาษีหากจ่ายให้ถูกต้องจริงๆ อาจไม่ได้น่ากลัวหรือวุ่นวายอย่างที่หลายคนกังวลกัน

 สรุป 4 เรื่องใกล้ตัวเกี่ยวกับภาษี 

1.ใครต้องยื่นภาษี

ทุกคนที่มีรายได้ส่วนใหญ่ล้วนต้องยื่นภาษี อย่างเช่นคนที่ประกอบอาชีพที่ไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน หรือมีอาชีพเสริมอื่นนอกจากงานประจำ สำหรับคนโสดหากมีรายได้ทั้งปีเกิน 60,000 บาท (เฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาท) และคนที่แต่งงานแล้วหากสามีภรรยามีรายได้รวมกันทั้งปีเกิน 120,000 บาท (เฉลี่ยสองคนรวมกันเดือนละ 10,000 บาท) ล้วนมีหน้าที่ต้องยื่นภาษี ไม่ว่ารายได้ที่ว่านั้นจะถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษีหรือไม่ ก็ตาม

ตัวอย่างเช่น คนโสดที่มีรายได้จาก (1) rider ส่งอาหาร สมมติได้ค่าส่งครั้งละ 40 บาท มีงานเฉลี่ยเดือนละ 125 ครั้ง หรือวันละ 5 ครั้งขึ้นไป (2) ขับรถ taxi/รถโดยสาร หรือ (3) ขายอาหาร/ขนม/สินค้า ที่ได้รับเงินเฉลี่ยเดือนละ 5,000 บาท หรือเฉลี่ยวันละ 167 บาท ก็อยู่ในเกณฑ์ต้องยื่นภาษี โดยรายได้เหล่านี้ไม่ว่าจะได้รับรูปแบบใดก็ล้วนนับเป็นรายได้ที่ต้องยื่นภาษีทั้งสิ้น ซึ่งหากเป็นการรับเงินผ่านแอปพลิเคชัน ผู้ให้บริการแอปฯ มักมีการสรุปยอดเงินที่ต้องนำไปยื่นภาษีให้ตามความถี่ของแต่ละผู้ให้บริการ เช่น สรุปให้ทุกสัปดาห์ ฯลฯ

2.ผลของการไม่จ่ายภาษี

การยื่นและจ่ายภาษี ถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ แม้ว่าในทางปฏิบัติที่ผ่านมาหลายคนจะคุ้นเคยกับการทำงานมีรายได้โดยไม่ยื่นและจ่ายภาษีก็ตาม แต่การไม่เคยถูกลงโทษหรือจับได้มาก่อน ไม่ได้แปลว่าการกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เปรียบเสมือนกับการที่เราไปสถานที่ท่องเที่ยวแล้วเผลอทำทรัพย์สินเสียหาย โดยไม่มีคนเห็นและไม่มีกล้องวงจรปิดเก็บภาพไว้ได้ ก็เป็นเพียงการกระทำผิดที่ไม่มีใครจับได้ แต่ก็ยังคงเป็นการกระทำที่ “ผิด” อยู่ดี

สรรพากรมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ยื่นหรือไม่จ่ายภาษีไว้ เช่น

(1) กรณีไม่ยื่นภาษีตามกำหนดเวลา (เช่น ภายใน มี.ค. หรือ ก.ย.) จะมีค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท
(2) กรณีไม่จ่ายภาษีตามกำหนดเวลา ต้องจ่ายเงินเพิ่มอีก 1.5%ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย ฯลฯ เช่น หากมีภาษีที่ต้องจ่าย 5,000 บาท ภายในเดือน มี.ค. 65 แต่เพิ่งมาจ่ายตอน ต.ค. 66 จะถูกคิดเงินเพิ่ม 1,425 บาท ( = 5,000 บาท x 1.5%ต่อเดือน x 19 เดือน) ฯลฯ แต่หากใครเจตนาหลีกเลี่ยงไม่จ่ายภาษีอาจมีโทษปรับที่มากขึ้น และโทษอื่นๆ ตามมา รวมถึงหากเราเคยทำผิดไปครั้งหนึ่งแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามเราเป็นพิเศษไปอีกระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะยื่นและจ่ายภาษีได้อย่างถูกต้อง ไม่กลับมาจ่ายภาษีผิดอีกเหมือนที่เคยเป็นมา

 สรุป 4 เรื่องใกล้ตัวเกี่ยวกับภาษี 

3.ภาษี ต้องจ่ายแค่ไหน

ด้วยรายได้ทั้งปีที่เท่ากัน แต่ภาษีที่ต้องจ่ายแต่ละคนนั้นอาจต่างกัน ขึ้นกับค่าลดหย่อนที่มีและที่มาของรายได้

ตัวอย่างเช่น สำหรับคนโสดและมีเฉพาะค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานของทุกคนที่ยื่นภาษี ตัวอย่างภาษีทั้งปีที่ต้องจ่ายนั้น เช่น

  • Rider ส่งอาหาร ซึ่งรายได้ถือเป็นเงินได้ 40(2) ที่หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50%ของรายได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้นหากมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 30,000 บาท ต้องจ่ายภาษีปีละ 2,500 บาท หรือหากขยันรับงานจนรายได้สูงขึ้นเป็นเฉลี่ยเดือนละ 50,000 บาท ต้องจ่ายภาษีปีละ 21,500 บาท

  • ขับรถรับส่ง (เช่น Taxi) หรือขายอาหาร/ขนม/สินค้า ซึ่งรายได้ถือเป็นเงินได้ 40(8) และมีลักษณะที่หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60%ของรายได้ โดยไม่มีเพดานสูงสุด ดังนั้นหากมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 30,000 บาท จะยังไม่ต้องจ่ายภาษี แต่จะเริ่มจ่ายภาษีเมื่อมีรายได้เกินเดือนละ 43,000 บาท เช่น รายได้เฉลี่ยเดือนละ 50,000 บาท หรือ 100,000 บาท ต้องจ่ายภาษีปีละ 1,500 บาท หรือปีละ 19,500 บาทตามลำดับ ฯลฯ (ซึ่งเป็นภาษีที่น้อยกว่ามนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้เท่ากันที่ต้องเสียภาษีสูงถึงปีละ 21,500 บาท และปีละ 125,000 บาทตามลำดับ)

4.จ่ายภาษีอย่างไร ให้ถูกต้อง

จากตัวอย่างภาษีข้างต้น จะเห็นว่าสำหรับคนทั่วไป เช่น Rider หรือ Taxi ที่มีรายได้เดือนละ 30,000 บาท แม้มีหน้าที่ต้องจ่ายภาษีที่ถือเป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มของการประกอบอาชีพ แต่ภาษีนั้นก็ไม่ใช่ยอดเงินที่สูงจนน่าตกใจอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่หากเราไม่ยื่นภาษีและมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่จ่ายภาษี อาจมีโทษเป็นค่าปรับสูงสุดตามกฎหมายถึง 200,000 บาทเลย ดังนั้นการยื่นภาษีให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด น่าจะเป็นภาระที่ส่งผลกระทบต่อเราน้อยที่สุดแล้ว โดยการยื่นภาษีในแต่ละปีนั้น มีอยู่ 2 รอบ ได้แก่

  • ช่วง ก.ค.-ก.ย. 66: สำหรับคนที่มีเงินได้ 40(5) – 40(8) เช่น ปล่อยเช่าคอนโด/รถยนต์/ที่ดิน ผู้รับเหมา ขับ Taxi/รถรับจ้าง ขายขายอาหาร/ขนม/สินค้า ไม่ว่าจะแบบมีหน้าร้านหรือออนไลน์ ฯลฯ ต้องนำรายได้นั้นที่ได้รับช่วงครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย. 66) มายื่นเพื่อคำนวณและจ่ายภาษีกลางปี

  • ช่วง ม.ค.-มี.ค. 67: ทุกคนต้องนำรายได้ทั้งหมดที่ได้รับตลอดปี 66 รวมถึงรายได้ที่ได้ยื่นไปแล้วเมื่อ ก.ค.-ก.ย. 66 (ถ้ามี) มายื่นเพื่อคำนวณและจ่ายภาษีสิ้นปี

ภาษี ภาระค่าใช้จ่ายที่หลายคนอยากหลีกเลี่ยง แต่เมื่อเป็นหน้าที่ที่ต้องทำและยังมีอีกหลายคนที่ต้องจ่ายภาษีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น มนุษย์เงินเดือน ฯลฯ การเลือกยื่นภาษีให้ถูกต้องและตรงเวลาจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ควรหลีกเลี่ยง โดยก่อนถึงสิ้นปี เรายังมีเวลาศึกษาหาช่องทางในการลดหย่อนภาษีที่ถูกต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายได้ เพื่อบรรเทาภาระภาษีในปีนี้และปีต่อๆ ไป

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

advertisement

SPOTLIGHT