การเงิน

เตรียมเกษียณอย่างไร ไม่ต้องง้อเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

20 ส.ค. 66
เตรียมเกษียณอย่างไร ไม่ต้องง้อเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
ไฮไลท์ Highlight
ตัวอย่างเช่น หลังเกษียณต้องการใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ระยะเวลา 25 ปี (ระหว่างอายุ 60-85 ปี) แสดงว่าควรเตรียมเงินก้อนไว้ที่ 6 ล้านบาท ( = 20,000 บาทต่อเดือน x 12 เดือนต่อปี x 25 ปี) ซึ่งหาก ณ ตอนเกษียณ ยังมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 – 1,000 บาทอยู่ ก็อาจช่วยให้เตรียมเงินน้อยลงประมาณ 204,000 บาท เหลือยังมีส่วนที่ต้องเตรียมอยู่ที่ 5.8 ล้านบาท (ยังไม่คำนึงถึงเงินเฟ้อ)

เมื่อมีข่าวว่าการจ่าย “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” แบบถ้วนหน้าอาจสิ้นสุด หลายคนอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากมองให้ลึกๆ แล้ว จะรู้ว่าข่าวแบบนี้ส่งผลให้เราต้องหันมาตื่นตัวกับการเตรียมความพร้อมหลังเกษียณ โดยเฉพาะเรื่องเงินที่ต้องมีให้พร้อม เพื่อให้เพียงพอกับการใช้จ่ายจนถึงอายุอย่างน้อย 80-85 ปี ดังนั้นวันนี้มี 4 เรื่องที่ต้องพิจารณาเพื่อเตรียมพร้อมหลังเกษียณ

1.หลังเกษียณ ใช้จ่ายเดือนละเท่าไรดี

ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่เหมาะสมของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป ขึ้นกับวิถีชีวิตหรือคุณภาพชีวิตของแต่ละคน โดยสามารถประมาณการได้จาก 70%ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน หรือ 50%ของรายได้ปัจจุบัน (ยังไม่คำนึงถึงผลกระทบของเงินเฟ้อ หรือต้นทุนค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี) เนื่องจากหลังเกษียณจะมีค่าใช้จ่ายบางอย่างที่หายไปหรือลดลง เช่น ค่าผ่อนบ้าน/รถ ค่าเลี้ยงดูบุตรหลาน ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้า ฯลฯ 

หากใครยังจินตนาการหรือคำนวณค่าใช้จ่ายหลังเกษียณที่เหมาะสมกับตนเองไม่ได้ ลองพิจารณาค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือนของครัวเรือนคนกรุงเทพฯ ปี 2565 ซึ่งอยู่ที่เดือนละ 27,970.47 บาท โดยส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขนาดเล็กสมาชิกประมาณ 2 คน ดังนั้นหากคิดเป็นค่าใช้จ่ายต่อคนและคำนึงถึงความแตกต่างเรื่องรายได้ของในกรุงเทพฯ แล้ว ด้วยวิถีชีวิตคนเมืองอาจต้องมีค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ขั้นต่ำไม่น้อยกว่าเดือนละ 14,000 – 20,000 บาทต่อคน

2.เตรียมเงินไว้ใช้จ่าย ถึงอายุเท่าไรดี

จากข้อมูลสารประชากรมหิดล ม.ค. 66 ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งระบุอายุคาดหมายเฉลี่ยสำหรับผู้ชายและผู้หญิงที่ปัจจุบันอายุ 60 ปี ไว้ที่อายุ 77.5 ปี และ 83 ปี ตามลำดับ ดังนั้นการเตรียมเงินให้เพียงพอกับการใช้ชีวิตไปจนถึงอายุ 80-85 ปี ก็ถือเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม เมื่อรู้ค่าใช้จ่ายและระยะเวลาที่ต้องเตรียมแล้ว ก็จะสามารถคำนวณจำนวนเงินที่ควรเตรียมเบื้องต้นได้

ตัวอย่างเช่น หลังเกษียณต้องการใช้จ่ายเดือนละ 20,000 บาท ระยะเวลา 25 ปี (ระหว่างอายุ 60-85 ปี) แสดงว่าควรเตรียมเงินก้อนไว้ที่ 6 ล้านบาท ( = 20,000 บาทต่อเดือน x 12 เดือนต่อปี x 25 ปี) ซึ่งหาก ณ ตอนเกษียณ ยังมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเดือนละ 600 – 1,000 บาทอยู่ ก็อาจช่วยให้เตรียมเงินน้อยลงประมาณ 204,000 บาท เหลือยังมีส่วนที่ต้องเตรียมอยู่ที่ 5.8 ล้านบาท (ยังไม่คำนึงถึงเงินเฟ้อ)

วางแผนเกษียณ

3.ตัวช่วย เตรียมเงินให้พร้อมทันเกษียณ

ปัจจุบันตัวช่วยเก็บเงินมีอยู่มากมาย สามารถเลือกให้เหมาะกับตนเองได้ โดยมีทั้ง

  1. มีผลตอบแทนที่แน่นอน ตามสัญญา” เช่น เงินฝากประจำปลอดภาษี ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ ประกันชีวิตแบบบำนาญ พันธบัตรรัฐบาล รวมไปถึงหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูง

  2. มีโอกาสรับผลตอบแทนเฉลี่ยที่สูงขึ้น ตามความเสี่ยงของสินทรัพย์ที่ลงทุน” เช่น กองทุนรวมผสม กองทุนหุ้น ที่ซื้อขายได้ผ่านธนาคาร และหุ้นสามัญที่ซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ ฯลฯ

  3. ได้รับสิทธิทางภาษีเพิ่ม นอกเหนือจากผลตอบแทน” ได้แก่ กองทุน SSF กองทุน RMF ที่มีสินทรัพย์หรือนโยบายการลงทุนให้เลือกทั้งความเสี่ยงต่ำอย่างกองทุนตราสารหนี้ สินทรัพย์เสี่ยงปานกลางอย่างกองทุนผสม สินทรัพย์เสี่ยงสูงอย่างกองทุนหุ้น รวมถึงประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์หรือแบบบำนาญ

สำหรับการเก็บเงินเพื่อเป้าหมายเกษียณ ที่มักเป็นการเก็บเงินระยะยาว 5-10 ปีขึ้นไป หากรายได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ควรเน้นเลือกเก็บหรือลงทุนในทางเลือกที่ (3) ที่เป็น SSF/RMF กองทุนผสมหรือกองทุนหุ้น เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนโดยเฉลี่ยที่สูงกว่าเงินฝากหรือประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์/บำนาญ สอดคล้องกับเงื่อนไขการลงทุนระยะยาวของ SSF/RMF เช่น 10 ปีขึ้นไป หรือจนถึงอายุ 55 ปี และยังได้เงินคืนภาษีเป็นผลประโยชน์ส่วนเพิ่มอีกด้วย

4.ด้วยเวลาที่เหลือ ต้องเตรียมเงินเดือนละเท่าไร

เป้าหมายที่จำนวนเงินเท่ากัน ด้วยเวลาหรือทางเลือกการลงทุนที่ต่างกัน เงินที่ต้องเก็บหรือลงทุนในแต่ละเดือนย่อมต่างกัน เช่น เป้าหมาย 1 ล้านบาท ระยะเวลา 15 ปี หากเก็บเงินด้วยเงินฝาก e-Savings ที่ดอกเบี้ยประมาณ 1.5%ต่อปี ต้องเก็บเดือนละ 4,995 บาท แต่หากเปลี่ยนเป็นการลงทุนในกองทุนผสมหรือกองทุนหุ้นที่ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 7%ต่อปี จะเหลือลงทุนเดือนละ 3,316 บาท แต่หากเตรียมตัวได้เร็วขึ้นหรือมีเวลามากขึ้น เช่น 30 ปี หากเลือกลงทุนในกองทุนผสมหรือกองทุนหุ้นจะเหลือลงทุนเดือนละ 882 บาทเท่านั้น 

เก็บเงิน1 ล้าน

หากมีเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น อย่างเป้าหมายเงินก้อนเพื่อใช้จ่ายหลังเกษียณจำนวน 6 ล้านบาท หากมีเวลาเตรียมตัว 30 ปี และเลือกลงทุนในกองทุนผสมหรือกองทุนหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7%ต่อปี จะต้องลงทุนเดือนละประมาณ 5,292 บาท ( = 882 บาทต่อเดือน x 6 ลบ.) ซึ่งจำนวนเงินที่ต้องลงทุนดังกล่าว อาจไม่ใช่จำนวนที่สูงหรือทำได้ยากเกินไปเลยสำหรับคนวัยทำงาน อายุประมาณ 25-30 ปี ที่คิดอยากจะเริ่มเก็บเงินหรือเตรียมตัวให้พร้อมรับวัยเกษียณ

ชีวิตหลังเกษียณ แม้มีตัวช่วยหรือสวัสดิการอยู่บ้าง เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เงินบำนาญประกันสังคม ฯลฯ แต่หากสามารถเตรียมตัวได้เองโดยไม่ต้องหวังพึ่งตัวช่วยจากภาครัฐ ก็จะทำให้สามารถมั่นใจได้มากขึ้นว่า เราจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้หลังเกษียณ ไม่ว่ากฎเกณฑ์ของตัวช่วยหรือสวัสดิการต่างๆ จะเปลี่ยนไปแค่ไหนก็ตาม

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT