ข่าวเศรษฐกิจ

ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท สะเทือนธุรกิจ ภาคอสังหาฯเสนอใช้กับแรงงานฝีมือ

29 ส.ค. 66
ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท สะเทือนธุรกิจ ภาคอสังหาฯเสนอใช้กับแรงงานฝีมือ
ไฮไลท์ Highlight
“สำหรับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใช้แรงงานก่อสร้างเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวมากกว่า 80% ในขณะที่อีกไม่ถึง  20% เป็นแรงงานไทยในประเทศ การปรับขึ้นค่าแรง 600 บาท อาจไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายเป็นแรงงานไทยน้อยกว่า”
นอกเหนือจากเงินดิจิทัล 10,000 บาทแล้ว อีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน ภายในปี 2570 หรือ อีก 4 ปีข้างหน้า นั่นหมายถึง ต้นทุนของผู้ประกอบการที่จ่ายค่าแรงขั้นต่ำสูงสุดอยู่ 354 บาทต่อวันในปัจจุบัน จะต้องเพิ่มขึ้น 246 บาท หรือเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 61.50 บาทต่อปี เป็นเวลา 4ปี จึงจะไปแตะที่ 600 บาท ซึ่งเป็นการปรับขึ้นสูงกว่าปกติในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทย 
 
SPOTLIGHT พูดคุยกับ คุณอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย และ สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ถึงผลกระทบในกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หากค่าแรงขั้นต่ำของไทยไปถึง 600 บาทว่า  อัตราค่าแรง 600 บาท/วันนั้น สามารถทำได้ แต่ควรกำหนดเงื่อนไขให้กับกลุ่มแรงงานที่มีฝีมือ (Skilled Labour) หรือแรงงานกึ่งฝีมือ (Semi-Skilled labour) เพราะแรงงานกลุ่มนี้มีประสิทธิภาพในการผลิตที่สูงกว่า กลุ่มแรงงานแรกเข้า   
 
ขณะเดียวกันการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฏหมาย ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี และแต่ละจังหวัดมีค่าครองชีพและปริมาณการจ้างงานในพื้นที่ไม่เท่ากันหากขึ้น 600บาท เท่ากันหมดจะส่งผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดเล็ก ดังนั้นการปรับขึ้นต้องมีการประกาศให้ทราบล่วงหน้าเพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาในการเตรียมรับมือ จึงเสนอให้ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบปกติส่วนหนึ่ง และอีกส่วนคือ ใช้อัตรา 600 บาทเฉพาะกลุ่มแรงงานมีฝีมือเท่านั้น 
“สำหรับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใช้แรงงานก่อสร้างเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวมากกว่า 80% ในขณะที่อีกไม่ถึง  20% เป็นแรงงานไทยในประเทศ การปรับขึ้นค่าแรง 600 บาท อาจไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายเป็นแรงงานไทยน้อยกว่า”
คุณอธิป มองว่า หากประเทศไทยมีการขึ้นค่าแรงไปที่ 600 บาทจริงจะเป็นอัตราค่าแรงที่สูงอันต้นๆในอาเซียน ซึ่งค่าแรงที่สูงจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานในประเทศไทยเพราะธุรกิจขนาดใหญ่จะหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีเพื่อทดแทนคนเช่น ธุรกิจก่อสร้างอาจต้องหันไปใช้รูปแบบการผลิตผนังพรีแคส (Precast)ให้หมด ใช้แรงงานลดลงมากเพียงแค่คนงานประกอบติดตั้งที่หน้างานเท่านั้น ซึ่งใน ญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศที่สิ่งปลูกสร้างใช้วิธีสำเร็จรูปเช่นนี้ , ส่วนธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจบริการ ร้านอาหาร จะหันไปพึ่งพาหุ่นยนต์ หรือ AI เพิ่มมากขึ้น  นอกจากนี้ยังมีผลต่อมุมมองการลงทุนในไทยจากนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย 

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ใช้อยู่ใน ปี 2566 มี จำนวน 9 อัตรา

  1. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 354 บาทต่อวัน จำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี, ระยอง และภูเก็ต
  2. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 353 บาทต่อวัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, จังหวัดนนทบุรี, นครปฐม, ปทุมธานี, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
  3. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 345 บาทต่อวัน จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา
  4. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 343 บาทต่อวัน จำนวน 1 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
  5. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 340 บาทต่อวัน จำนวน 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี, หนองคาย, อุบลราชธานี, พังงา, กระบี่, ตราด, ขอนแก่น, เชียงใหม่, สุพรรณบุรี, สงขลา, สุราษฎร์ธานี, นครราชสีมา, ลพบุรี และสระบุรี
  6. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 338 บาทต่อวัน จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร, กาฬสินธุ์, สกลนคร, สมุทรสงคราม, จันทบุรี, และนครนายก
  7. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 335 บาทต่อวัน จำนวน 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์, กาญจนบุรี, บึงกาฬ, ชัยนาท, นครพนม, พะเยา, สุรินทร์, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, เลย, พัทลุง, อุตรดิตถ์, นครสวรรค์, ประจวบคีรีขันธ์, พิษณุโลก, อ่างทอง, สระแก้ว, บุรีรัมย์ และเพชรบุรี
  8. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 332 บาทต่อวัน จำนวน 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ, แม่ฮ่องสอ, เชียงราย,ตรัง, ศรีสะเกษ, หนองบัวลำภู, อุทัยธานี, ลำปาง, ลำพูน, ชุมพร, มหาสารคาม, สิงห์บุรี, สตูล, แพร่, สุโขทัย, กำแพงเพชร, ราชบุรี, ตาก, นครศรีธรรมราช, ชัยภูมิ, ระนอง และพิจิตร
  9. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 328 บาทต่อวัน จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา, ปัตตานี, นราธิวาส, น่าน และอุดรธานี

เสนอกระตุ้นภาคอสังหาฯด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง

สำหรับข้อเสนอแนะของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยากฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ คือ ภาคอสังหาริมทรัพย์มีมูลค่ากว่า 800,000 ล้านบาทหากได้รับการกระตุ้นจะมีผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจไทยได้หลายเท่าตัว ซึ่งนโยบายที่ใช้ได้ผลเสมอมาคือ การลดค่าธรรมเนียมการโอน การจดจำนอง และ ภาษีธุรกิจเฉพาะ ทำให้ต้นทุนของคนซื้อบ้านลดลงไปกว่า 3%
 
สำหรับภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 2566 นี้ไม่ค่อยสดใสนัก คาดว่า ยอดขาย และ ยอดโอนกรรมสิทธิ์มีแนวโน้มติดลบโดยเฉพาะในฝั่งคอนโดมิเนียม ส่วนบ้านจัดสรรเติบโตได้บ้างเล็กน้อยในทำเลต่างจังหวัด สาเหตุเพราะ ภาพเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดีนัก กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงจากภาวะดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ธนาคารปล่อบกู้ยากขึ้น ราคาอสังหาริมทรัยพ์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3-5%  ติดต่อกันมาหลายปีทั้งหมดจึงเป็นภาระของผู้ซื้อที่ต้องซื้อบ้านแพงขึ้น คาดหวังว่า รัฐบาลใหม่มาจะสามาพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีปลดล็อคมาตรการ LTV เพิ่มเติมด้วย เพราะผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 หรือ 3 อาจไม่ได้เป็นการซื้อเพื่อเก็งกำไรเสมอไป 
 
 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT