ธุรกิจการตลาด

เปิดอาณาจักร 'ลอรีอัล' เครือบริษัทเครื่องสำอางที่ใหญ่ที่สุดในโลก

9 เม.ย. 66
เปิดอาณาจักร 'ลอรีอัล' เครือบริษัทเครื่องสำอางที่ใหญ่ที่สุดในโลก

‘ลอรีอัล ปารีส’ คุณค่าที่คุณคู่ควร น่าจะเป็นประโยคที่ชาวไทยคุ้นหูกันดีจากโฆษณาทางโทรทัศน์ที่มักจะมีผู้หญิงสะบัดผมสวยเก๋ เดินโฉบเฉี่ยวโชว์เครื่องสำอางบนใบหน้า จนลอรีอัลเป็นที่รู้จักในฐานะแบรนด์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมคุณภาพดีจากฝรั่งเศสในหมู่ผู้บริโภคชาวไทย

แต่รู้หรือไม่ว่า ‘ลอรีอัล’ ไม่ได้เป็นแค่แบรนด์ แต่เป็น ‘อาณาจักรแบรนด์’ ที่มีแบรนด์เครื่องสำอาง และแบรนด์ผลิตภัณพ์บำรุงผิวหน้า ผิวกาย และดูแลเส้นผมอยู่ถึง 36 แบรนด์ จนเรียกได้ว่าเป็นเครือบริษัทเครื่องสำอางที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าตลาดถึง 2.2 แสนล้านยูโร หรือราว 8.2 ล้านล้านบาท (วันที่ 7 เมษายน 2023)

ล่าสุดในวันที่ 4 เมษายน เครือลอรีอัลก็ได้เข้าไปซื้อกิจการของ Aesop แบรนด์สบู่และผลิตภัณฑ์ดูแลผิวระดับพรีเมียมชื่อดังจากออสเตรเลียมาในมูลค่าถึง 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งช่วยเสริมความยิ่งใหญ่ของลอรีอัลเข้าไปอีก เพราะแบรนด์ Aesop นี้มียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี และทำรายได้ได้สูงถึง 537 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.8 หมื่นล้านบาทในปี 2022 

ในวันนี้ ทีมข่าว SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักเครือลอรีอัลกันว่าใหญ่แค่ไหน ทำรายได้ได้เท่าไหร่ และมีแบรนด์ดังไหนอยู่ในเครือบ้าง

 

แบรนด์ที่มีจุดกำเนิดมาจากผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม

ก่อนจะมาเป็นเครือเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่แบบในปัจจุบัน แบรนด์ลอรีอัลมีจุดกำเนิดเล็กในฝรั่งเศสเมื่อนักเคมีชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งคิดค้นผลิตภัณฑ์น้ำยาเปลี่ยนสีผมขึ้นมาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แล้วตั้งชื่อมันว่า  ‘Oréale’ หรือ ‘ออริอัล’ ที่เขาได้นำไปขายให้แก่ช่างทำผมในกรุงปารีส ซึ่งก็ได้รับความนิยมมากจนเขาจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทขึ้นมาอย่างเป็นทางการในปี 1919

โดยในช่วงแรก ลอรีอัลเน้นพัฒนาและผลิตสินค้าเปลี่ยนสีผม แต่ค่อยๆ แตกไลน์สินค้าไปประเภทไปผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าผิวกาย และเครื่องสำอาง จนปัจจุบันตามรายงานประจำปี 2022 ลอรีอัลมีแบรนด์ในการดูแลทั้งหมด 36 แบรนด์ และมีสินค้าจำหน่ายในร้านค้า ห้างสรรพสินค้า และซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วโลก เพราะมีไลน์สินค้าที่กินกว้างตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เครื่องสำอาง น้ำหอม ผลิตดูแลเส้นผม ไปจนถึงเวชสำอาง และในหลายระดับราคา ทำให้สินค้าในเครือของลอรีอัลเจาะตลาดเข้าได้กับผู้บริโภคทุกกลุ่มในทุกช่วงอายุและฐานะ

จากข้อมูลในรายงานประจำปีของลอรีอัล ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของลอรีอัลสามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทด้วยกันคือ 

  • Consumer Products หรือสินค้าดูแลผิวพรรณและเครื่องสำอางในช่วงราคาต่ำ-กลาง เจาะกลุ่มลูกค้ารายได้ต่ำ-กลาง เน้นให้เข้าถึงผู้บริโภคจำนวนมาก ปัจจุบันมี 10 แบรนด์ด้วยกัน ได้แก่ L'Oréal Paris, Garnier, Maybelline New York, NYX Professional Makeup, Stylenanda, Essie, Dark and Lovely, Mixa, MG และ Niely
  • L’Oreal Luxe หรือสินค้าดูแลผิวพรรณ เครื่องสำอาง และน้ำหอมในช่วงราคากลาง-สูง เจาะกลุ่มลูกค้าพรีเมียมไฮเอนด์ ปัจจุบันมี 21 แบรนด์ด้วยกัน คือ Lancôme, Kiehl's, Yves Saint Laurent Beauté, Giorgio Armani Beauty, Shu Uemura, Biotherm, Helena Rubinstein, IT Cosmetics, Ralph Lauren (น้ำหอม), Mugler, Valentino (น้ำหอม), Viktor & Rolf, Cacharel, Azzaro, Diesel, Yuesai, Atelier Cologne Paris, Maison Margiela (น้ำหอม), Prada และ Youth to the People
  • Professional Products หรือแบรนด์สำหรับผู้เชียวชาญและมืออาชีพในการดูแลเส้นผม ปัจจุบันมี 6 แบรนด์ด้วยกัน ได้แก่  L'Oréal Professionel Paris, Kérastase, Redken, Matrix, Pureology และ Pulp Riot
  • Dermatological Beauty หรือแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว ปัจจุบันมีทั้งหมด 6 แบรนด์ด้วยกัน คือ La Roche-Posay, Vichy, CeraVe, SkinCeuticals, Decléor, Skinbetter Science

 

161802

เครือบริษัทที่ขยายธุรกิจด้วยการซื้อกิจการของแบรนด์อื่น

อย่างไรก็ตาม การที่ลอรีอัลมีแบรนด์ในเครือมากมายขนาดนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าทางบริษัทเป็นผู้ก่อตั้งและคิดค้นผลิตภัณฑ์ในแบรนด์เหล่านี้ทั้งหมด เพราะเช่นเดียวกับ Aesop ลอรีอัลได้หลายๆ แบรนด์มาด้วยการซื้อกิจการเช่นกัน

โดยในปี 2008 ลอรีอัลได้เข้าซื้อกิจการเครื่องสำอาง Yves Saint Laurent ด้วยราคา 1.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.1 หมื่นล้านบาท) ในปี 2014 ได้ซื้อแบรนด์ Carita และ Decléor จากเครือ Shiseido ด้วยราคา 227.5 ล้านยูโร (ราว 8.4 พันล้านบาท) และ NYX Cosmetics มาในดีลที่ลอรีอัลไม่เปิดเผยราคา

ปี 2016 ลอรีอัลเข้าซื้อ IT Cosmetics มาในราคา 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4 หมื่นล้านบาท) และล่าสุดในปี 2023 นี้ ได้เข้าซื้อแบรนด์ Aesop มาในราคา 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การเข้าซื้อแบรนด์ Aesop เป็นดีลเข้าซื้อกิจการที่มีมูลค่าสูงที่สุดของลอรีอัล

จากการเข้าซื้อแบรนด์เครื่องสำอางในทุกแบบทุกระดับนี้เอง ลอรีอัลจึงมีโปร์ไฟล์แบรนด์ที่ใหญ่มาก และเกือบทุกแบรนด์ยังเป็นแบรนด์ที่ติดตลาดและผู้บริโภครู้จักกันดีอยู่แล้ว จึงทำให้ลอรีอัลมีแบรนด์ที่สามารถทำรายได้จำนวนมากได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลามาปั้นเอง

นี่ทำให้ลอรีอัลเป็นเครือบริษัทเครื่องสำอางที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าตลาดถึง 2.2 แสนล้านยูโร หรือราว 8.2 ล้านล้านบาท มากกว่า ปตท. ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยถึง 9 เท่า ซึ่งแน่นอนว่ามาจากผลการประกอบการที่เพิ่มขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่เหมาะสมได้อย่างต่อเนื่อง 

โดยจากรายงานประจำปี ผลประกอบการของลอรีอัลระหว่างปี 2019-2022 เป็นดังนี้

ปี 2022: รายได้ 1.42 ล้านล้านบาท กำไร 2.76 แสนล้านบาท

ปี 2021: รายได้ 1.2 ล้านล้านบาท กำไร 2.29 แสนล้านบาท

ปี 2020: รายได้ 1.04 ล้านล้านบาท กำไร 1.93 แสนล้านบาท

ปี 2019: รายได้ 1.1 ล้านล้านบาท กำไร  2 แสนล้านบาท

จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ยอดขายและกำไรของลอรีอัลจะลดลงบ้างในช่วงปี 2020 ที่มีการระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ลอรีอัลก็สามารถเพิ่มยอดขายและกำไรขึ้นมาถึงระดับก่อนโควิดได้อย่างรวดเร็วในปี 2021 และเพิ่มมากขึ้นกว่าระดับโควิดในปี 2022 สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจของลอรีอัลมี resilience สูงมากในการฟื้นตัว ด้วยความที่เป็นบริษัทผลิตของใช้ในชีวิตประจำวัน และมีความสามารถในการเจาะลูกค้าในทุกระดับ ซึ่งแน่นอนว่าด้วยการเข้ามาเสริมทัพของ Aesop เครือลอรีอัลก็น่าจะเจาะตลาดลูกค้าของผลิตภัณฑ์ดูแลผิวในระดับไฮเอนด์ได้อีกเป็นจำนวนมาก

 

ที่มา: CNN, L' Oreal




advertisement

SPOTLIGHT