ธุรกิจการตลาด

ปลดล็อก 'คราฟต์เบียร์-สุราพื้นบ้าน' ครม.ไฟเขียวให้ผลิตสุราง่ายขึ้น!

1 พ.ย. 65
ปลดล็อก 'คราฟต์เบียร์-สุราพื้นบ้าน' ครม.ไฟเขียวให้ผลิตสุราง่ายขึ้น!

เรื่องใหญ่!!! ไฟเขียวปลดล็อก "คราฟต์เบียร์-สุราพื้นบ้าน" ครม.เห็นชอบกฎกระทรวงการคลัง เปิดช่องผลิตสุราง่ายขึ้น ยกเลิกเกณฑ์ "กำลังการผลิต-ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ" ส่งสัญญาณร่าง พรบ.สุราก้าวหน้าของพรรคก้าวไกลไม่จำเป็นแล้ว 

 

วันนี้ (1 พ.ย. 2565) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับเรื่องการผลิตสุรา ว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 2 ซึ่งจะช่วยผ่อนปรนเรื่องการผลิตสุราให้ทำได้ง่ายขึ้น หลังจากที่กฎหมายเดิมในปี พ.ศ. 2560 มีความตึงมากเกินไป ส่วนร่างกฎหมายของฝ่ายค้านก็หย่อนเกินไป ดังนั้น รัฐบาลจึงพิจารณาหาจุดสมดุล โดยการออกเป็นกฎกระทรวงการคลัง เพื่อผ่อนปรนกฎหมายที่มีอยู่เดิมให้ผ่อนคลายลง

นายวิษณุ กล่าวว่า จากการพิจารณากฎหมายที่ออกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 พบว่ามีความเข้มงวดมากเกินไป และได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านว่าตึงเกินไป ทำอะไรก็ไม่ได้ จึงคิดกันว่าจะทำให้หย่อนลง คือการออกกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งก็มีพรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา แต่ก็พบว่าหย่อนมากเกินไป ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ผู้ผลิต และกระทบต่อภาษีรายได้ของประเทศ จึงหาวิธีมาพบกันครึ่งทาง 

ทางกฤษฎีกาจึงแนะนำว่า ไม่ต้องออกพระราชบัญญัติ ให้ออกเป็นกฎกระทรวงได้ ซึ่งมีความเข้มงวดน้อยลง และเกือบจะเท่ากับหลักเกณฑ์ที่พรรคก้าวไกลเสนอ โดยนายวิษณุ ย้ำว่า กฎกระทรวงฯ ใหม่นี้ หย่อนลงมากกว่าครึ่งแล้ว เมื่อเทียบกับกฎหมายปี 2560

ดังนั้น กรมสรรพสามิตจึงได้ยกร่างกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมา และหลังจากที่ถูกกฤษฎีกาตีกลับมาเพราะยังไม่รัดกุมเพียงพอ จึงนำไปสู่การออกเป็นกฎกระทรวงฉบับที่ 2 ในวันนี้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแล้ว และจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษา ทำให้กฎหมายของฉบับพรรคก้าวไกลถือว่าไม่มีความจำเป็น เพราะว่ามีสิ่งที่ดีที่เกือบจะเท่าเทียมกันแล้ว

 

สรุปสาระสำคัญ ปลดล็อก "สุราพื้นบ้าน-คราฟต์เบียร์-ต้มในบ้าน"

สำหรับ "ร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ....." ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

 

สุราพื้นบ้าน

  • เปิดโอกาสให้สุราชุมชนขนาดเล็ก ให้สามารถขยายกำลังการผลิตเป็นระดับกลาง
  • จากเดิมที่ต้องใช้เครื่องจักรในการผลิตต่ำกว่า 5 แรงม้า และใช้คนงานน้อยกว่า 7 คน ให้สามารถขยายไปใช้เครื่องจักรที่มีกำลังการผลิตสูงกว่า 5 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า และสามารถใช้คนงานมากกว่า 7 คนได้ แต่ต้องไม่เกิน 50 คน
  • แต่ทั้งนี้ ผู้ผลิตสุราชุมชนที่จะขยายกำลังการผลิตจากระดับเล็กเป็นระดับกลาง จะต้องเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุราแช่ หรือสุรากลั่นชุมชนขนาดเล็กมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี และไม่เคยกระทำความผิดตามกฎหมายภาษีสรรพสามิต หรือเคยกระทำความผิดและพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี
  • นอกจากนี้ ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

 

คราฟต์เบียร์

  • "ยกเลิก" การกำหนด "กำลังการผลิตขั้นต่ำและทุนจดทะเบียน" สำหรับทั้งกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) และโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่
  • แต่เดิมนั้นมีการกำหนดเอาไว้ว่า ในกรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) จะต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตรต่อปี และไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี และกรณีโรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ต้องมีขนาดการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี สำหรับทุนจดทะเบียนนั้น ต้องไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท
  • นอกจากนี้ กรณีผลิตเบียร์เพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) ต้องใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามมาตรฐานที่อธิบดีประกาศกำหนด และปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและกฎหมายเกี่ยวกับการสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง

 

ต้มดื่มเองในบ้าน

  • เปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาที่มีอายุไม่น้อยกว่า 20 ปีบริบูรณ์ และนิติบุคคล สามารถขอใบอนุญาตผลิตสุรา "ที่มิใช่" เพื่อขาย แลกเปลี่ยน หรือดำเนินการอื่นใดโดยได้รับประโยชน์ตอบแทน- ต้องมีปริมาณการผลิตสุราไม่เกิน 200 ลิตรต่อปี
  • อย่างไรก็ดี สถานที่ผลิตสุราต้องมีพื้นที่เพียงพอที่จะผลิตสุราโดยไม่ก่อให้เกิดอันตราย เหตุเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น และมิใช่สถานที่ผลิตสุราของผู้ได้รับใบอนุญาตผลิตสุรารายอื่น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของการบริโภคสุราและมิติของสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ 


นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การดำเนินการข้างต้นใน “ร่างกฎกระทรวงการผลิตสุรา พ.ศ. ...." ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการเปิดโอกาสให้รายเล็กสามารถเติบโตได้โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเงินทุนและกำลังการผลิต แต่ยังคงต้องให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพสินค้า ความปลอดภัย กระบวนการผลิต เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม

"ทั้งนี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก ปลดล็อคทั้งในเรื่องทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิตขั้นต่ำ สามารถยกระดับสุราชุมชนจากขนาดเล็กไปสู่ขนาดกลาง ซึ่งจะเป็นการช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เปิดโอกาสธุรกิจให้เติบโตสามารถขยายกิจการได้ รวมถึงเป็นการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการนำสินค้าเกษตรมาแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น อย่างไรก็ดี กรมสรรพสามิตยังคงให้ความสำคัญและคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย สาธารณสุข สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงมีกรอบการปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและผลกระทบตามมา” นายอาคม กล่าว

advertisement

SPOTLIGHT