ธุรกิจการตลาด

รู้จัก 'Amorepacific' เครือบริษัทเครื่องสำอางที่เก่าแก่ที่สุดของเกาหลี

6 ก.ย. 65
รู้จัก 'Amorepacific' เครือบริษัทเครื่องสำอางที่เก่าแก่ที่สุดของเกาหลี

สำหรับคนที่ชอบเครื่องสำอางและสกินแคร์สายเกาหลี อาจจะคุ้นเคยกับชื่อ Innisfree, Etude House, Sulwhasoo, Laneige และ Hera กันดี แต่หลายๆ คนอาจจะไม่รู้ว่าเครื่องสำอางและสกินแคร์เหล่านี้มีบริษัทแม่บริษัทเดียวกัน นั่นก็คือ 'Amorepacific' ซึ่งเป็น ‘แชโบล’ (Chaebol) ด้านผลิตภัณฑ์ความงามของเกาหลีใต้ ที่มีแบรนด์อยู่ในเครือถึง 33 แบรนด์ ครอบคลุมตั้งแต่สกินแคร์ เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ดูแลผม น้ำหอม อาหารเสริม ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ดูแลความสะอาดสัตว์เลี้ยง

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา Amorepacific ยังเพิ่งเดินหน้ารุกตลาดผลิตภัณฑ์ความงามของอเมริกาเต็มที่ด้วยการเข้าซื้อ 'Tata Harper' แบรนด์สกินแคร์ไฮเอนด์สายธรรมชาติที่กำลังโด่งดังในอเมริกาและยุโรป

ในบทความนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากพาทุกคนมารู้จักเครือบริษัท Amorepacific ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องสำอางที่เก่าแก่ที่สุดในเกาหลีกันว่า ใหญ่แค่ไหน มีความเป็นมาอย่างไร และทำยังไงถึงยังครองตำแหน่งต้นๆ ในตลาดผลิตภัณฑ์ความงามในเกาหลีใต้ได้ถึงแม้จะตั้งบริษัทมาแล้ว 77 ปี

 

amorepacific group

 

จากธุรกิจครัวเรือน สู่แชโบลความงามเบอร์ 2 ของประเทศ


ในปัจจุบัน Amorepacific เป็นเครือบริษัทความงามที่มีรายได้เป็นอันดับ 2 ของเกาหลีใต้ หลังถูก LG Household & Health Care หรือ LG H&H บริษัทลูกของ LG Corporation ทำรายได้แซงไปในปี 2018 เพราะแบรนด์ดังบางตัว เช่น History of Whoo ทำรายได้ในตลาดจีนได้ดีกว่า  

แต่ถึงแม้จะเสียอันดับ 1 ด้านรายได้ให้กับบริษัทคู่แข่ง Amorepacific ก็ยังคงเป็นเครือบริษัทผลิตภัณฑ์ความงามที่ใหญ่และมีส่วนแบ่งตลาดในต่างประเทศเป็นอันดับต้นของเกาหลี ดูจากชื่อแบรนด์ที่ติดตลาด คุ้นหูคุ้นตาผู้บริโภคเป็นอย่างดี โดยในปี 2021 ทำรายได้ไปถึง 4.86 ล้านล้านวอน หรือราวๆ 1.3 แสนล้านบาท

แต่กว่าจะมาเป็นบริษัทใหญ่ที่มีชื่อเสียงแบบนี้ Amorepacific ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากธุรกิจครอบครัวเล็กๆ มาก่อน โดยเริ่มมาจากธุรกิจสกัดน้ำมันดอกคาเมเลียของ ยุนด๊กจอง (Yoon Dokjeong) ในเมืองแกซอง (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเกาหลีเหนือ) ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ ซอซองฮวาน (Suh Sungwhan) ผู้เป็นลูกชายตั้งบริษัท Pacific Chemical ซึ่งเป็นบริษัทตั้งต้นของ Amorepacific ขึ้นมาในปี 1945

โดยหลังจากตั้งบริษัท Pacific Chemical ก็ได้พัฒนาและออกผลิตภัณฑ์ความงามออกมามากมาย โดยมีความโดดเด่นในเรื่องการลงทุนสร้างนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ที่แปลกใหม่เข้าสู่ตลาด

ในขณะที่ยังไม่มีบริษัทไหนในเกาหลีขณะนั้นลงทุนกับเครื่องสำอาง Pacific Chemical เล็งเห็นโอกาสที่จะเป็นผู้นำตลาด โดยริเริ่มตั้งศูนย์วิจัยเครื่องสำอางแห่งแรกของเกาหลีขึ้นในปี 1954 และได้คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดมากมายเช่น เจลแต่งผมผู้ชายยี่ห้อแรกของเกาหลีที่ทำมาจากพืชทั้งหมดในปี 1951 และเครื่องสำอางแบรนด์แรกของโลกที่นำสารสกัดจากชาเขียวคือ ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) มาเป็นส่วนผสมในปี 1989

แต่ในหมู่นวัตกรรมความงามที่ Amorepacific คิดค้นออกมา สิ่งที่น่าจะมีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ รองพื้นในรูปแบบตลับ หรือ คุชชั่น (Cushion) ที่บริษัทผลิตออกมาครั้งแรกในปี 2008 ให้แบรนด์ลูก IOPE ที่พอออกมาก็ขายดีระเบิดระเบ้อจนแบรนด์อื่นในเกาหลีเอาไปทำตามอย่างแพร่หลาย 

cushions amore pacific

คุชชั่นและเครื่องสำอางเกาหลียังบูมขึ้นมาในระดับโลก จากอานิสงค์ของกระแส K-Wave หรือ Hallyu ในช่วงปี 2012-2015 ที่ทำให้ยอดขายเครื่องสำอางในตลาดต่างประเทศของ Amorepacific เพิ่มขึ้นถึง 22.5% จาก 8.7 แสนล้านวอน (ราว 2.3 หมื่นล้านบาท) ในปี 2014 ไป 1.3 ล้านล้านวอน (ราว 3.4 หมื่นล้านบาท) ในปี 2015 และทำให้ ซอคยองเบ (Suh Kyungbae) ผู้บริหารของ Amorepacific เบียดผู้บริหารในทุกกลุ่มบริษัทแชโบลขึ้นไปเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในเกาหลีใต้ในเดือนกรกฎาคมปี 2015

ซึ่งความสำเร็จเหล่านั้นส่วนหนึ่งก็มาจากยอดขายของคุชชั่น IOPE ที่สูงจนทางบริษัทออกมาเคลมได้ว่ามีคนซื้อคุชชั่น IOPE ในทุกๆ หนึ่งวินาทีในปี 2015

จนเรียกได้ว่านอกจากนวัตกรรมและความแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์แล้ว สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Amorepacific ขึ้นมาเป็นบริษัทใหญ่ขนาดนี้ได้ก็คือ ‘จังหวะ’ ที่ทำให้หลายๆ ผลิตภัณฑ์ของ Amorepacific โดยเฉพาะคุชชั่นกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเกาหลีที่คนทั่วโลกรู้จักแบบในปัจจุบัน

 

โครงสร้างบริษัทและผลิตภัณฑ์ในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน Amorepacific บริหารโดย ซอคยองเบ (Suh Kyungbae) ทายาทรุ่นที่ 2 ลูกชายของซอซองฮวานที่เสียชีวิตไปในปี 2003

ผลิตภัณฑ์ในเครือของ Amorepacific แบ่งออกได้เป็น 2 หมวดใหญ่ๆ ด้วยกันคือ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (cosmetics and skincare products) และ ผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย (personal care products)

ในเครือเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิวมี 19 แบรนด์ด้วยกันคือ Amorepacific, Sulwhasoo, Laneige, Mamonde, Innisfree, Etude House, HERA, IOPE, Hanyul, eSpoir, Lirikos, Primera, Sienu, Holitual, Odyssey, Aestura, Miraepa, Bro&Tips, Be Ready

โดยเครื่องสำอางแบ่งได้เป็นสามกลุ่มตามระดับตลาด คือ กลุ่มเครื่องสำอาง Luxury เช่น Sulwhasoo และ HERA, กลุ่มเครื่องสำอาง Premium เช่น Laneige, IOPE และ eSpoir, และกลุ่มเครื่องสำอาง Daily Beauty เช่น Innisfree, Etude House และ Mamonde

ส่วนผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายมี 11 แบรนด์ด้วยกันคือ RYO แบรนด์แชมพูโสมชื่อดัง, Mise en Scene, Laboh, Ayunche, Amos, Happy Bath, Illiyoon, Median, Pleasia, Boncho Study, Vital Beautie

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์น้ำหอมที่มีฐานการผลิตที่ฝรั่งเศสอย่าง Goutal, แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์ Poopoo Monster และ แบรนด์ที่ไม่ได้อยู่ในหมวดเครื่องใช้อย่าง O’ Sulloc ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายเครื่องดื่มและขนมชาเขียวจากเกาะเชจูที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งในเกาหลีใต้

 

จากตลาดเอเชียมุ่งสู่ตลาดอเมริกา

ในปัจจุบันรายได้หลักของ Amorepacific ยังคงมาจากยอดขายในเอเชียที่คิดเป็นถึง 1.7 ล้านล้านวอน หรือราว 34.6% ของรายได้ทั้งหมด โดย 70% ในนั้นเป็นรายได้จากลูกค้าจีนที่เป็นตลาดใหญ่ของเครื่องสำอางเกาหลีทั้งจาก Amorepacific และ LG H&H 

อย่างไรก็ตาม จากรายงานทางการเงินของบริษัท รายได้จากตลาดเอเชียโดยเฉพาะในจีนมีแนวโน้มต่ำลงเรื่อยๆ ทั้งจากผลกระทบจากการล็อคดาวน์ในจีน การเติบโตของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางจีนที่มีคุณภาพดี ครองใจผู้ใช้ในประเทศได้มากขึ้น และความนิยมเครื่องสำอางตะวันตกเช่น Estée Lauder และ L’Oréal ในหมู่ผู้บริโภคจีน

ในปีนี้ รายได้จากตลาดเอเชียของ Amorepacific ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า 10% ในไตรมาสที่ 1 ก่อนฮวบลง 39% ในไตรมาสที่ 2 เพราะรายได้จากจีนลดลงถึง 50% จากการล็อคดาวน์ที่ทำให้ต้องปิดร้าน

ในขณะเดียวกันรายได้จากตลาดอเมริกากลับมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเพิ่ม 63% ในไตรมาสที่ 1 และ 66% ในไตรมาสที่ 2 จากยอดขายในเว็บ e-commerce จากแบรนด์ Laneige ที่ Amorepacific ลงทุนทำแคมเปญโฆษณากับ Sydney Sweeney นักแสดงสาวชาวอเมริกันที่โด่งดังจากซีรีส์เรื่อง Euphoria 

sydney sweeney laneige

เมื่อดูจากสถิติเหล่านี้ รวมกับการที่ Amorepacific เริ่มไปเทคโอเวอร์แบรนด์ตะวันตกเข้ามาอยู่ในเครือตัวเองแล้ว ก็อาจจะมองได้ว่า Amorepacific กำลังขยายตลาดเข้าไปในตลาดใหม่ๆ ที่ยังคงได้รับอานิสงค์จากกระแสความนิยมเกาหลี (Hallyu) และยังไม่อิ่มตัวด้วยผลิตเครื่องสำอางจากเอเชียเช่น ตลาดในอเมริกา มากยิ่งขึ้น เพื่อชดเชยให้กับรายได้ที่น่าจะลงไปเรื่อยๆ ในตลาดเอเชียที่มีคู่แข่งที่มีผลิตภัณฑ์คล้ายกันเยอะเกินไปจนถ้าจะแย่งส่วนแบ่งการตลาดกลับมาก็ยากแล้วในตอนนี้

 

จึงนับได้ว่าการเข้าไปซื้อแบรนด์ Tata Harper ก็เป็นก้าวหนึ่งที่สำคัญของ Amorepacific ในการขึ้นไปเป็นบริษัทความงามระดับโลก เพราะนอกจากจะได้ขยายฐานลูกค้าในอเมริกาและยุโรปแล้ว Tata Harper ยังเป็นแบรนด์ที่เหมาะกับโปรไฟล์ของ Amorepacific ซึ่งเป็นบริษัทที่มีต้นกำเนิดและมีชื่อเสียงมาจากการผสมส่วนผสมจากธรรมชาติเข้าไปในผลิตภัณฑ์ความงามด้วย




advertisement

SPOTLIGHT