“นายกฯ” แถลงแก้หนี้ในระบบ ต้องจบในรัฐบาลนี้

12 ธ.ค. 66

นายกฯนำทีมแถลงแก้ไขหนี้ในระบบ ลดอัตราดอกเบี้ยสอดคล้องรายได้ พักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย ปรับเกณฑ์ตัดเงินเดือนขรก.ไม่เกิน 70% แบงค์ชาติ สั่งเจ้าหนี้ปรับลดดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ปิดจบใน 10 ปี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำทีมแถลงข่าวการจัดการหนี้ทั้งระบบ โดยระบุว่า ในวันนี้จะมุ่งเน้นการแก้หนี้ในระบบที่มีปัญหาไม่แพ้หนี้นอกระบบ ที่ประชาชนต้องมีหนี้จำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อการทำงาน บางส่วนเป็นหนี้เสีย ค้างการจ่ายคืนเป็นเวลานานส่งผลกระทบให้ขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ การดูแลลูกหนี้ในระบบถือเป็นวาระแห่งชาติเช่นกัน ทั้งนี้ตนขอยืนยันว่าการเป็นหนี้ไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย หนี้บางอย่างเป็นการหมุนเวียนในระบบกระตุ้นเศรษฐกิจ การมีลูกหนี้ที่ดีเป็นกลไกสำคัญการหมุนเวียนระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบแบ่งเป็นลูกหนี้ 4 กลุ่ม คือ

1.ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ส่วนใหญ่จะมีประวัติการชำระเงินที่ดี แต่ประสบปัญหาจากโควิด ขาดสภาพคล่อง รัฐบาลจะช่วยพักชำระหนี้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นหนี้กับธนาคารออมสิน และธ.ก.ส. โดยจะให้ติดต่อไปยังลูกหนี้เพื่อเจรจาให้การช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกิดเป็นหนี้เสีย  เชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ 1.1 ล้านราย ส่วนลูกหนี้ SME สถาบันการเงินของรัฐจะช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้และพักชำระหนี้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นระยะเวลา 1 ปี เชื่อว่าจะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มนี้ได้มากกว่า 99% หรือประมาณ 1 แสนราย

2.ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำแต่มีภาระจำนวนมากเกินความสามารถในการชำระ ประกอบด้วย 1.กลุ่มข้าราชการครู ตำรวจ ทหาร ทั้งหนี้กับหนี้สถาบันการเงินและหนี้บัตรเครดิต จะได้รับการช่วยเหลือ 3 แนวทาง คือ การลดดอกเบี้ยสินเชื่อ 2.จะจัดระบบโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนมาชำระหนี้ได้สะดวกและสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ และ3.การตัดเงินเดือนเพื่อชำระหนี้ไม่เกิน 70% ของเงินเดือน เพื่อให้มีเงินเหลือพอดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งตนได้กำชับให้กระทรวงศึกษาธิการผลักดันให้ระเบียบดังกล่าวใช้อย่างถูกระเบียบ และให้หน่วยงานอื่น ๆ มีหลักเกณฑ์ในลักษณะเดียวกัน ส่วนหนี้บัตรเครดิตสามารถเข้าร่วมกับโครงการ “คลีนิคแก้หนี้” ที่เจรจากับผู้ให้บริหารบัตรเครดิตทั้งหมดเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้จากเงินต้นคงค้างเพื่อจัดระเบียบการผ่อนชำระใหม่ทั้งหมดในระยะเวลา 10 ปี รวมถึงปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 16-25 ให้เหลือร้อยละ 3-15 เท่านั้น ซึ่งผู้มีหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันก็สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ได้

3.ลูกหนี้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และหนี้กยศ. จะได้รับการพักชำระหนี้ชั่วคราวลดดอกเบี้ยเป็นการชั่วคราวให้สอดคล้องกับรายได้ เช่น กลุ่มเกษตรกรที่รายได้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและผลผลิต รัฐบาลมีมาตราการพักชำระหนี้ให้เกษตรกรทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยกว่า 3 ปี มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 1.5 ล้านราย

และ 4.ลูกหนี้ที่มีหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงิน จะทำการโอนย้ายหนี้ไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ เพื่อจัดระบบบริหารจัดการหนี้ใหม่ ซึ่งมีลูกหนี้กลุ่มนี้ 3 ล้านราย

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในระยะยาวจะมีการแก้ไขปัญหาระดับโครงสร้างเพื่อยกระดับการให้สินเชื่อเหมาะสมและเป็นธรรมและสะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้เพื่อป้องกันการก่อหนี้ที่เกินศักยภาพ โดยสถาบันการเงินต้องคำนวนอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของลูกหนี้ รวมถึงจะต้องพิจารณาประวัติการชำระหนี้อื่น เช่น ประวัติการชำระค่าน้ำค่าไฟเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อในระบบมากขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้เจ้าหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้และปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวมกันต้องไม่เกินร้อยละ 15 และปิดจบหนี้ให้ได้ภายใน 5 ปี

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยแก้ไขปัญหามีทั้งระบบให้จบภายในรัฐบาลชุดนี้

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม