ขั้นตอนจับกุมเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 12-18 ปี ถามปากคำ สืบพยานในคดีอาญา

4 ต.ค. 66

เปิดขั้นตอน จับกุมเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 12-18 ปี หากถูกจับกุมในคดีอาญา พร้อมไขข้อสงสัย ต้องมีหน่วยงานไหนร่วมสอบปากคำด้วย

สำนักงานกิจการยุติธรรม ระบุว่า กระบวนการและขั้นตอนในการจับกุมเด็กและเยาวชนทีมีอายุต่ำกว่า 12 – 18 ปี มีความแตกต่างจากกระบวนการที่ใช้เมื่อจับกุมผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่ โดยกฎหมายหลักที่ใช้ คือ พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 29) พ.ศ. 2565

กล่าวคือ เมื่อมีการจับกุมเด็กและเยาวชน (อายุต่ำกว่า 12 – 18 ปี) กำหนดให้ "ตำรวจ" ต้องแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิตามกฎหมายให้เด็กและเยาวชนทราบ หลังจากนั้นก็ให้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนโดยเร็ว ทำการสอบสวนสอบปากคำ ดำเนินกระบวนการตามกฎหมาย และให้ ส่งตัวเด็กหรือเยาวชน ที่ถูกจับไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุม ภายในเวลา 24 ชั่วโมง

อายุต่ำกว่า 12 ปี

พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก (พม.) จะต้องดำเนินการ

  • สืบเสาะและพินิจข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำหนดแนวทางคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก
  • จัดประชุมผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแผนแก้ไขฟื้นฟูเด็ก วิธีการคุ้มครองสวัสดิภาพ การยุติการคุ้มครอง รวมถึงการเยียวยาผู้เสียหาย

อายุ 12 – 15 ปี

  • แจ้งผู้ปกครอง และแจ้งสถานพินิจฯ สถานพินิจฯ จะมีการสืบเสาะและจัดทำแผนแก้ไข้บำบัดฟื้นฟูส่งให้ตำรวจ/อัยการ/ศาล ภายใน 30 วัน
  • นำตัวเด็กส่งต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ภายใน 24 ชม
  • ศาลเยาวชนและครอบครัวพิจารณาคดี กรณีศาลฯ เห็นว่ายังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ จะดำเนินการว่ากล่าวตักเตือนปล่อยตัวชั่วคราว (มี/ไม่มีประกัน) ส่งตัวเด็กไปยังสถานศึกษา/ฝึกอบรมมอบตัวเด็กให้อยู่กับบุคคล/องค์กรที่ศาลเห็นสมควร หรือกำหนดเงื่อนไขที่จะต้องปฏิบัติตามภานในระยะเวลาที่กำหนด

อายุ 15 – 18 ปี

  • กรณีศาลฯ เห็นว่า ยังไม่เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ ให้ดำเนินการเช่นเดียวกับเด็กและเยาชนอายุ 12 – 15 ปี
  • กรณีศาลฯ เห็นว่า เห็นสมควรพิพากษาลงโทษ : ลดโทษกึ่งหนึ่งของโทษทางกฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดในคดีอาญาหรือสั่งโอนคดีไปยังศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีธรรมดาได้ (ถ้าเด็กหรือเยาวชนที่ทำความผิด มีร่างกาย จิตใจ สติปัญญา และนิสัยเหมือนผู้ใหญ่)

ข้อควรรู้ : ถึงแม้เด็กและเยาวชนแม้ไม่ได้รับโทษอาญาแต่ยังต้องรับผิดในทางแพ่งโดยพ่อแม่ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

 

การถามปากคำและการสืบพยานเด็กตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก ระบุข้อมูลเอาไว้ว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา การถามปากคำและการสืบพยานเด็ก กำหนดวิธีปฏิบัติในการถามปากคำ การชี้ตัวผู้ต้องหาของผู้เสียหายหรือพยานการสืบพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี รวมทั้งการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ต้องมีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วย โดยมุ่งหมายมิให้เด็กได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและสภาวะทางจิตใจจากกระบวนการยุติธรรม การดำเนินการดังกล่าวเฉพาะคดีที่กฎหมายกำหนดดังต่อไปนี้

  1. คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ
  2. ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้
  3. ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ
  4. ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา
  5. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
  6. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก
  7. ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ
  8. คดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอ

ข้อมูลจาก : สำนักงานกิจการยุติธรรม และ ศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส