กรมสุขภาพจิตห่วงตำรวจรายอื่นเครียดเลียนแบบ"ผกก.เบิ้ม"

12 ก.ย. 66

โฆษกกรมสุขภาพจิตห่วงมีเเนวโน้มที่กลุ่มบุคคลที่มีความเครียดเเละอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับ"ผกก.เบิ้ม"จะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบ


จากกรณีที่เมื่อวานนี้ ...วชิรา ยาวไทยสงค์ หรือ ผู้กำกับเบิ้ม ผกก.2บก.ทล.ได้มีการใช้อาวุธปืนปลิดชีพตัวเอง ทำให้สังคมกำลังกังวลว่านายตำรวจรายอื่นอาจจะเกิดความเครียดเเละมีพฤติกรรมเลียนแบบ

นายแพทย์อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์และโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดเผยกับทีมข่าวถึงกรณีนี้ว่าถ้าเป็นกรณีของคนทั่วไปถ้าอยู่ในสถานการณ์ภาวะที่เกิดความเครียด ภายใต้ความกดดัน และอยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกัน ก็ทำให้มีสิทธิ์ที่จะเกิดการตัดสินใจที่มีความหลากหลาย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตอนนั้นรวมถึงประสบการณ์เดิมของแต่ละบุคคล ถ้าหากกลุ่มบุคคลที่มีความเครียดและอยู่ในสถานการณ์ใกล้เคียงกัน แล้วมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งฆ่าตัวตายนั่นก็อาจจะทำให้เกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบได้เหมือนกัน

ดังนั้นถ้าหากคนที่มีความเครียดอยู่เเล้วดูข่าวที่มีคนฆ่าตัวตายไม่ว่าจะช่องทางไหนก็ตาม ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่คนรู้จักกันก็ตาม ก็อาจจะเกิดความเครียดสะสม และเกิดพฤติกรรมเลียนแบบได้เช่นกัน

ฉะนั้นตัวบุคคลเองจะต้องรู้ตัวและมีสติอยู่ตลอดเวลา ดูแลสภาพจิตใจของตัวเองให้ดี หรืออาจจะต้องได้รับการดูแลทางสุขภาพจิต พูดคุยระบายให้คนรอบข้างที่ไว้ใจฟัง หรือ ความรู้สึกเเย่ไม่ลดลง คิดอยากจะฆ่าตัวตายอีกก็ต้องเข้ามาพบเพื่อพูดคุยกับจิตแพทย์โดยด่วน

หรือถ้าหากเราเป็นคนรอบข้างเเล้วสัมผัสได้ว่าบุคคลใกล้ชิดเกิดความเครียด มีการพูดไม่อยากอยู่หรืออยากจะฆ่าตัวตายตลอดเวลา ก็จะต้องเข้าไปพูดคุย รับฟัง สอบถามตั้งแต่เนิ่นๆ และดูแลเรื่องอารมณ์เเละสภาพจิตใจของบุคคลนั้น หรืออาจจะต้องรีบพาไปพบจิตแพทย์หรือหากเป็นหน่วยงานพบว่ามีบุคลากร ภายในองค์กรเกิดความเครียดก็จะต้องรีบประสานดูแลอย่างเร่งด่วน

ส่วนคำว่า “โรคเครียด” ซึ่งเป็นคำที่พบบ่อยในปัจจุบัน โดยภาวะความเครียดนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกคน เช่น เจอเรื่องผิดหวังเสียใจ อยู่ภายใต้ความกดดัน เป็นต้น

ซึ่งความเครียดที่เกิดขึ้นจะสัมพันธ์กับสถานการณ์ที่เข้ามากระตุ้นความเครียด โดยถ้าเป็นคนปกติแล้วหากสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียดหายไป ความเครียดดังกล่าวก็จะลดลงจนหายเป็นปกติ

เเต่ถ้าหากความเครียดเรื้อรัง ก็จะส่งผลต่อความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ โดยจะส่งผลต่อภาวะการทานอาหาร การนอนหลับ การทำงาน การเข้าสังคม เป็นต้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต ทำให้คนเข้าใจว่าเป็น “โรคเครียด”

แต่ในทางการแพทย์จะไม่มีคำวินิจฉัยคำนี้ ซึ่งหมอจะต้องวินิจฉัยต่อว่าผู้ป่วยป่วยเป็นโรคอะไร จะสามารถปรับตัวกลับมาเป็นปกติได้หรือไม่ การรักษาอาจอยู่ที่ใช้จิตบำบัดและให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พูดคุยเพื่อให้ผ่านสถานการณ์นั้นๆ ไปได้

ถ้าหาก เป็น “โรคซึมเศร้า” หรือ “โรควิตกกังวล” ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งหมด การรักษาก็ต้องเเล้วเเต่อาการของเเต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ บางรายอาจต้องใช้ยาในการรักษา.

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส