ลูกจ้างหวั่น "ขึ้นค่าแรง" ทำต่างด้าวทะลัก กระทบราคาสินค้าขยับตัวตาม

29 ส.ค. 65

นายจ้างเผย "ขึ้นค่าแรง" เป็นเรื่องดี แต่อาจส่งผลกระทบราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค ขยับขึ้นตามต้องแบกต้นทุนเพิ่ม ลูกจ้างหวั่นทำแรงงานข้ามชาติทะลัก

 

ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง มีมติให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ สูงสุดวันละ 354 บาท ต่ำสุด 328 บาท มีผลตั้งแต่วันที่  1 ตุลาคมนี้  โดยในส่วนของ จ.ราชบุรี กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำจากเดิมที่วันละ 315 บาท ขึ้นไป 17 บาท เป็น 332 บาท  

 

วันที่ 29 ส.ค.65 ผู้สื่อข่าวจึงได้เข้าพบกับ น.ส.ปารวีย์ สาลี เจ้าของร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มแห่งหนึ่งใน จ.ราชบุรี เพื่อสอบถามถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น หลังการปรับค่าแรงขั้นต่ำ โดยได้รับการเปิดเผยว่า ตนเปิดร้านมาแล้ว 4 ปี สำหรับรายจ่ายที่เป็นต้นทุนของร้านประกอบด้วย ค่าวัตถุดิบอาหาร คิดเป็นร้อยละ 30 ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษารวมอยู่ที่ร้อยละ 30 และค่าแรงงาน ซึ่งเป็นรายจ่ายหลัก อีกร้อยละ 40

 

ปัจจุบันทางร้านมีพนักงานจำนวน 8 คน โดยแบ่งเป็นพนักงานประจำ ได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและสวัสดิการสังคม ในส่วนของพนักงานรายวัน จะได้รับค่าตอบแทนตั้งแต่ 320 – 350 บาท ขึ้นอยู่กับชนิดงานและประสบการณ์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าได้ค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขึ้นต่ำที่ประกาศออกมา

 

โดยส่วนตัวแล้ว ตนเห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงงานในครั้งนี้ เนื่องจากรู้สึกเห็นใจกลุ่มคนทำงาน แต่ทั้งนี้ ก็ห่วงกังวลว่า การประกาศขึ้นค่าแรง จะส่งผลทำให้สินค้าอุปโภค-บริโภค ต่างพากันหาเหตุขยับราคาขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบให้กับทางร้าน รวมไปถึงกับผู้ประกอบการอื่นๆให้ต้องแบกรับต้นทุนที่มากกว่าเดิม

 

ดังนั้น ตนจึงอยากฝากภาครัฐให้พยายามควบคุม และตรึงราคาสินค้าต่างๆ ไว้ก่อน อย่างน้อยให้พ้นปีนี้ไปให้ได้ เพื่อไม่ให้การขึ้นค่าแรง เป็นเรื่องที่จะกลับมาซ้ำเติมประชาชน รวมไปถึงช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง หลังรัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

ด้าน นายเรวัตร อายุ 53 ปี เปิดเผยว่า ตนทำงานรับจ้างที่ร้านมาแล้ว 2 ปี โดยทำหน้าที่เป็นพนักงานทั่วไป ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน วันละ 350 บาท

 

สำหรับตนมองว่าค่าแรงที่ขยับขึ้นมา  ซึ่งมีส่วนต่างเพียงแค่ 17 บาท เป็นรายได้ที่น้อยนิดมาก ไม่ได้ช่วยให้ผู้ใช้แรงงานมีชีวิตที่ดีขึ้นไปกว่าเดิมมากนัก เพราะราคาสินค้าบางชนิดได้ปรับขึ้นไปแล้วก่อนหน้านี้ รวมไปถึงการกักตุนสินค้าของกลุ่มนายทุน และในอนาคตก็กลัวว่าค่าแรงขึ้น ราคาสินค้าก็จะขึ้นตามไปอีกรอบ มันจะยิ่งสร้างผลกระทบไปกันใหญ่

 

อีกทั้ง การขึ้นค่าแรงในครั้งนี้ กลับเป็นผลดีต่อผู้ใช้แรงงานข้ามชาติมากกว่า โดยจะทำให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน ที่กำลังประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจลักลอบเข้าเมือง และกลายมาเป็นปัญหาสังคมซ้ำเติมประเทศไทยเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้นตนมองว่า รัฐควรควบคุมราคาสินค้าอุปโภค - บริโภค ไม่ให้ขยับขึ้นมาตั้งแต่ต้นจะดีกว่า

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส