ความยั่งยืน

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ร่วมถกความยั่งยืนเมือง คุณภาพชีวิตคน คือ กุญแจสำคัญ

4 ต.ค. 66
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ร่วมถกความยั่งยืนเมือง คุณภาพชีวิตคน คือ กุญแจสำคัญ
ไฮไลท์ Highlight
   ‘ไม่มีเมืองไหนที่จะเป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จ โดยปราศจากทุนมนุษย์ (Human Capital)’

กรุงเทพมหานคร มีรถไฟฟ้าหลายสี หลายสาย แต่รถต่อสุดท้ายก่อนจะเข้าซอยบ้าน ยังต้องต่อแถวยาวเหยียด เพื่อรอรถเมล์ รถมอเตอร์ไซค์

กรุงเทพมหานคร มีโรงพยาบาลและบริการทางการแพทย์ติดอันดับโลก แต่ในชุมชนแอดอัดอย่างเช่นชุมชนคลองเตย แพทย์หนึ่งคน ต้องดูแลประชากร 1,255 คน

กรุงเทพมหานคร มีมหาวิทยาลัยอันดับโลกหลายแห่ง แต่ก็ยังการศึกษาและการอนุบาลเด็กในุมชน มีงบอาหารเช้าและอาหารกลางวันอุดหนุนไม่ถึง 30 บาท

 

สิ่งเหล่านี้ คือ ตัวอย่างปัญหาที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ยกขึ้นมา ประกอบการเสวนาเรื่อง การบริหารเมือง เพื่อคุณภาพชีวิตของผู้คน ร่วมกับตัวแทนจากสถานทูตสวีเดน และศูนย์เมืองน่าอยู่ ประเทศสิงคโปร์ ในงาน Sustainability Expo 2023 เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา

 

ชัชชาติ ผู้ว่า

 

กรุงเทพ เมืองน่าเที่ยว แต่ไม่น่าอยู่

 

การเสวนาในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนาทั้ง 3 คนได้หยิบยกถึงวิธีการบริหารจัดการเมือง โครงการและนโยบายต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ

 

 

โดยสวีเดนชู “Smart City Sweden” นโยบายที่เปลี่ยนสวีเดนให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ทั้งในมิติของเทคโนโลยี สิ่งปลูกสร้างเพื่อโลก โครงสร้างพื้นฐาน การใช้พลังงาน ฯลฯ ที่เกิดจากควาร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

 



ด้านสิงคโปร์ นำนโยบาย Singapore Green Building Masterplan มาบอกเล่าในการเสวนาครั้งนี้ โดยมีเป้าหมาย ‘80-80-80’ ภายในปี 2030 ดังนี้

 

  • 80% ของพื้นที่อาคารกลายเป็นพื้นที่สีเขียว
     
  • 80% ของอาคารที่สร้างขึ้นใหม่กลายเป็นอาคารที่มีการใช้พลังงานสุทธิต่ำ (Super Low Energy)
     
  • 80% ของการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ในอาคารสีเขียว

 

รวมถึง ปัจจัยความท้าทายที่ประเทศกำลังเผชิญ ได้แก่

 

  1. พื้นที่ที่มีขนาดจำกัด
     
  2. พื้นที่บริเวณชายฝั่ง

  3. สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super aging society) 


ซึ่งการพัฒนาเมืองจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้
ด้านกรุงเทพมหานคร ถือว่า เป็นเจ้าบ้านในการจัดงานในครั้งนี้นั้น ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ได้ยกการจัดอันดับให้เห็นว่า กรุงเทพมหานครเป็นเมืองน่าเที่ยวอันดับที่ 1 ของโลก แต่เป็นเมืองน่าอยู่อันดับที่ 98 ของโลก

ขณะที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดนอยู่อันดับที่ 42 และสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 33 ซึ่งไทยเรายังห่างจากสองประเทศค่อนข้างมาก นั่นหมายถึง โอกาสการพัฒนา ที่เราสามารถเรียนรู้จากทั้งสองประเทศ
 

 

ชัชชาติ กรุงเทพ

 

กรุงเทพฯ ต้องโฟกัสที่การพัฒนาเส้นเลือดฝอย

 

สำหรับผู้ว่าชัชชาติแล้ว ก่อนที่จะพูดถึงความยั่งยืน ต้องพูดถึง ‘คุณภาพชีวิต’ ของคนในเมืองก่อน ซึ่งมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานครคือ ‘ Bangkok : Liveable City for All’ หรือ กรุงเทพมหานคร เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน หัวใจสำคัญของการพัฒนาให้กรุงเทพ กลายเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนได้จริง คือ การพัฒนา ‘เส้นเลือดฝอย’ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่กระจายลงไปสู่แต่ละชุมชน ซึ่งคิดเป็นถึง 80% แม้กรุงเทพจะมีเส้นเลือดใหญ่ (คิดเป็น 20%) ที่ทัดเทียมระดับโลก แต่ก็เป็นประโยชน์กับคนกลุ่มบางกลุ่ม บางช่วงชีวิตเท่านั้น ยังไม่สามารถเข้าถึงและให้บริการได้โดยทุกคน

ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพการคมนาคม การศึกษา ระบบสาธารณสุข หรือแม้แต่พื้นที่สีเขียว ช่องโหว่ขนาดใหญ่ของปัญหาเหล่านี้คือการที่นักการเมือง หรือแม้แต่ผู้เชี่ยวชาญ มุ่งโฟกัสการพัฒนาเส้นเลือดใหญ่ เพราะได้ความสนใจ ได้เครดิต และได้งบมากกว่า ซึ่งแม้ในภาพรวมระดับประเทศจะฟังดูดี แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมือง ที่ไม่ได้เป็นชนชั้นที่มีกำลังซื้อบ้านใกล้รถไฟฟ้า อาศัยอยู่ใจกลางเมือง ที่เข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกขนาดใหญ่ได้โดยง่าย และมีกำลังจ่ายพร้อม

 

กรุงเทพ เส้นเลือดฝอย



สองสิ่งที่มาคู่กัน คือ ‘โครงสร้างพื้นฐานเส้นเลือดฝอยที่อ่อนแอ’ และ ‘ความไม่เท่าเทียม’ การที่ผู้คนไม่มีโครงสร้างพื้นฐานในระดับเส้นเลือดฝอยที่ดี ส่งผลทำให้มีคุณภาพชีวิตที่แย่กว่าคนที่เข้าถึงได้ ในขณะเดียวกัน ความไม่เท่าเทียมของชนชั้นและโอกาส ก็กีดกันไม่ให้คนเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ที่ถูกจำกัดอยู่ในย่านที่พัฒนาแล้วได้

 

กรุงเทพ เมืองน่าอยู่

 

ผู้ว่าฯ ชัชชาติยกนโยบายการพัฒนากรุงเทพภายใต้วิสัยทัศน์ “เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ที่ต้องการส่งเสริม 4 ด้าน ได้แก่ ส่งเสริมผลิตภาพ (Productivity), พัฒนาคุณภาพชีวิต, สร้างโอกาสสำหรับคนทุกชนชั้น และสร้างความเชื่อถือระหว่างกันและกัน ทั้งกรุงเทพมหานคร และคนกรุงเทพ โดยผู้ว่าฯ ได้ยกโมเดลการพัฒนาแบบ ‘Quadruple Helix’ หรือเกลียว 4 เส้นที่สอดประสานกัน เกิดจากการพัฒนาร่วมกันของ 4 องคาพยพ ได้แก่ ภาครัฐและภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน ที่จะต้องทำงานร่วมกัน โดยกรุงเทพมหานครทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการประสานความร่วมมือของทั้ง ภาคส่วน เพื่อการพัฒนาเมืองที่มีเป้าหมายการพัฒนคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างแท้จริง

 
 

‘ไม่มีเมืองไหนที่จะเป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จ โดยปราศจากทุนมนุษย์ (Human Capital)’

 

เมืองระดับโลกที่ติดอันดับเมืองที่มีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในโลก จะสามารถดึงดูด Talents หรือแรงงานที่มีทักษะเข้าไปในเมือง ทำให้เกิดเม็ดเงินใหม่ๆ เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของเมือง ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในภาพรวมพัฒนาขึ้นไปด้วย

ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ปิดท้ายด้วยการเชิญชวนทุกภาคส่วนมาร่วมกันพัฒนากรุงเทพให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ รวมถึงเชิญชวนคนกรุงเทพทุกคน มาร่วมเป็น ‘เพื่อนชัชชาติ’ คอมมูนิตี้ในแพลตฟอร์ม Line ที่จะคอยช่วยกันเป็นหูเป็นตา รายงานปัญหาในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้การดูแลของกรุงเทพมหานคร สามารถเข้าถึงทุกคนได้

 


 

ร่วมฟัง Talk และเสวนาด้านความยั่งยืนในทุกมิติ จากบุคคลสำคัญในแต่ละแวดวง ทั้งระดับชาติ และระดับโลก ชมมหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน พร้อมเอร็ดอร่อยกับอาหารจากเชฟชื่อดัง และร้านอาหารทั่วฟ้าเมืองไทย ภายใต้แนวคิดของความยั่งยืนได้ ในงาน "Sustainability Expo 2023" ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันนี้ - 8 ต.ค. 66

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT