positioning

“ไทยเบฟ” ปูพรมตลาดอาเซียน เพิ่ม “ฐานผลิต-สินค้า”

9 ต.ค. 66
“ไทยเบฟ”  ปูพรมตลาดอาเซียน เพิ่ม “ฐานผลิต-สินค้า”
การตลาด - “ไทยเบฟ” เดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจทั้งกลุ่มต่อเนื่อง ตามPASSION 2025 เปิด 3 ยุทธศาสตร์หลักขับเคลื่อน พร้อมเร่งขยายฐานผลิต ฐานตลาด ต่างประเทศ ปีนี้ทุ่มงบอีก 7,000 ล้านบาท ลุยหนัก ผุดฐานผลิตใหม่ที่กัมพูชา 4,000 ล้านบาท ซุ่มความพร้อมขยายฐานในจีน เผยผลประกอบการรวมงวด 9 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 แข็งแกร่ง
การก้าวขึ้นสู่บริษัทระดับท็อปเท็น (TOP 10 ) ของผู้ผลิตเครื่องดื่มรายใหญ่ในเอเชีย ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
ขณะที่การรักษาตำแหน่งของตัวเองให้อยู่ในท็อปเท็นต่อไปก็ถือเป็นเรื่องยากมากกว่า

ทว่า บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (“ไทยเบฟ” หรือ “กลุ่มบริษัทไทยเบฟ”) ซึ่งรวมกับเอฟแอนด์เอ็มด้วย ที่ทุกวันนี้ยืนอยู่ในตำแหน่งผู้ผลิตและมีรายได้ขนาดใหญ่อันดับที่ 9 ของเอเชีย และใหญ่ที่สุดในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ทำสำเร็จมานานระยะหนึ่งแล้ว

โดยไทยเบฟ ทำรายได้ปี 2565 ประมาณ 6,171 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีขนาดมาร์เก็ตแคปเท่ากับ 11.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังท้าทายตัวเองสู่บทใหม่ที่จะขยับตำแหน่งให้สูงขึ้นไปอีก

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มบริษัทไทยเบฟ กล่าวว่า รายังมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบและความยั่งยืนเป็นสำคัญ โดยยึดมั่นขับเคลื่อนกลยุทธ์ “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน (Enabling Sustainable Growth)” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์”
ด้วยยุทธศาสตร์หลักของการเติบโตตามเป้าหมายปี 2568 คือ

1. การกระจายความเสี่ยง ของตลาดด้วยการสร้างความสมดุุลย์ทางธุรกิจ
2.การขยายผลิตภัณฑ์ในกลุ่่มพรีเมียมในพอร์ตโฟลิโอมากขึ้น -
3.การเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่ม

โดยแผนการลงทุนตามปีงบประมาณปีนี้ตั้งประมาณ 7,000 ล้านบาท ก็เพื่อการลงทุนสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆและการขยายตลาดใหม่ต่างประเทศ และการขยายฐานการผลิตใหม่ ไม่หยุดนิ่ง

ที่ชัดเจนที่สุดในขณะนี้คือ การใช้งบประมาณมากกว่า 3,000 ล้านบาท ในการลงทุนในไทย เช่น เรื่องการขนส่งไบโอแก๊ส และด้านความยั่งยืน และอีก 4,000 ล้านบาท จะลงทุนครั้งใหญ่สร้างโรงงานในกัมพูชา

ยังไม่นับรวมการขยายตลาดเข้าสู้ประเทศจีนเพิ่มอีก จากเดิมที่มีฐานธุรกิจบ้างแล้วในยูนนาน และกวางตุ้ง ซึ่งตลาดจีนนั้นมองว่าใหญ่มาก ต้องมีการเรียนรู้และศึกษาตลาดให้ถ่องแท้อีกมาก

หรือแม้แต่ในเมียนมา ก็เพิ่งได้รับใบอนุญาตการผลิตที่มัณฑะเลย์ แต่ยังอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด
รวมถึงแผนที่ยังเดินหน้า IPO เบียร์โคในเวียดนามต่อไป เพื่อขยายธุรกิจต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ไทยเบฟตั้งเป้ารายได้กลุ่มนอนแอลกอฮอลล์จะมีสัดส่วนเท่ากัน 50% : 50% กับกลุ่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ภายในปี พ.ศ. 2573 จากปัจจุบันที่นอนแอลกอฮอล์ มีสัดส่วนประมาณ 30%

โดยผลประกอบการช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 กลุ่มบริษัทไทยเบฟมีรายได้จากการขาย 215,893 ล้านบาท เติบโต 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยทุกกลุ่มมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น จากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) อยู่ที่ 37,765 ล้านบาท ลดลง 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปัจจัยโดยรวมทั้งในด้านรายได้จากการขายที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในตราสินค้าและกิจกรรมทางการตลาด รวมถึงต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทั้งนี้ ไทยเบฟยังคงมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งและกระแสเงินสดอิสระที่ดี

“การฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปของการบริโภคในประเทศจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินั้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ในขณะเดียวกัน ไทยเบฟก็ตระหนักดีว่าแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อ ต้นทุนด้านพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น ประกอบกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง อาจยังคงส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคต่อไป อย่างไรก็ตาม กลุ่มเชื่อมั่นว่ารากฐานอันมั่นคงจะเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตที่แข็งแกร่งของไทยเบฟได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ของกลุ่มในการเป็นผู้นำในธุรกิจเครื่องดื่มและอาหารที่มั่นคงและยั่งยืนของอาเซียน” นายฐาปน กล่าว
*** กลุ่มธุรกิจสุรา
นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด การเงินและบัญชีกลุ่ม และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจสุรา กล่าวว่า ช่วง 9 เดือนแรกปี 2566 กลุ่มธุรกิจสุรามีรายได้จากการขายเติบโต 3.3% เป็น 93,673 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ปริมาณขายรวมจะลดลง 3.5% จากปีก่อนก็ตาม ธุรกิจสุรามีผลประกอบการที่แข็งแกร่งโดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้นเป็น 23,763 ล้านบาท และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชีต่อรายได้ (EBITDA margin) สูงขึ้นจาก 24.7% เป็น 25.4%

ล่าสุดตลาดต่างประเทศ เราได้ขยายกลุ่มสินค้าระดับพรีเมียมและเสริมความแข็งแกร่งให้กับช่องทางการจำหน่ายในต่างประเทศ ผ่านการเข้าซื้อธุรกิจลาร์เซน คอนญัก (Larsen Cognac) และคาร์โดรนา ดิสทิลเลอรี่ (Cardrona Distillery) นับเป็นก้าวแรกของกลุ่มในการเข้าสู่ตลาดคอนญักและตลาดสุราโลกใหม่ (New World Spirits) ซึ่งจะเข้ามาเติมเต็มกลุ่มตราสินค้าสุราของเรา

ในประเทศเมียนมา แกรนด์ รอยัล วิสกี้ ยังคงรักษาตำแหน่งวิสกี้อันดับหนึ่งไว้ได้แม้ต้องเผชิญกับความท้าทายในตลาด โดยเราคาดว่าอุปสงค์ต่อสินค้าและการเติบโตของธุรกิจจะยังคงดีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้
*** กลุ่่มธุรกิจเบียร์
นายไมเคิล ไชน์ ฮิน ฟา ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเบียร์ กล่าวว่า “ธุรกิจเบียร์ของเราในประเทศไทยมีการฟื้นตัว เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในขณะที่ธุรกิจในเวียดนามยังคงต้องเผชิญความท้าทายจากปัญหาเศรษฐกิจมหภาคที่ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัว โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 ธุรกิจเบียร์มีรายได้จากการขายรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เป็น 93,262 ล้านบาท แม้ว่าปริมาณขายรวมจะลดลงร้อยละ 5.2 ทั้งนี้ การลงทุนในตราสินค้า กิจกรรมทางการตลาด และแรงกดดันด้านการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบหลักและบรรจุภัณฑ์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลงร้อยละ 19.8 เป็น 10,783 ล้านบาท”

*** กลุ่มธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย
นายทรงวิทย์ ศรีธรรม ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจเบียร์ ประเทศไทย กล่าวว่า เพื่อการเติบโตของธุรกิจเบียร์ประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในตลาด ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่ Commercial Leadership Winning Brand Portfolio และ Cost Competitiveness
ไเรามุ่งมั่นเสริมแกร่งทางการค้าให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์ช้างผ่านกลยุทธ์ “Commercial Leadership” โดยเน้นการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคผ่านแคมเปญต่าง ๆ ที่ต่อยอดมาจากความรักที่ผู้บริโภคมีต่อตราสินค้า การถ่ายทอดเรื่องราวผ่าน “มิตรภาพ ฟุตบอล และดนตรี” ช่วยเสริมสร้างความใกล้ชิดและการมีส่วนร่วมไปจนถึงจุดขาย โดยเรายังได้ทำงานร่วมกับกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในกลุ่มบริษัทไทยเบฟ เพื่อผนึกกำลังในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายการกระจายสินค้าและช่องทางการจำหน่าย รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงตราสินค้าได้

นอกจากนี้ เรายังเดินหน้าเสริมสร้างตราสินค้าผ่านกลยุทธ์ “Winning Brand Portfolio” และพัฒนาสินค้าที่โดดเด่นภายใต้ตราสินค้าช้าง ซึ่งเป็นตราสินค้าหลักของเรา โดยในปี 2562 กลุ่มได้เปิดตัว “ช้าง โคลด์ บรููว์” ซึ่งในปัจจุบันเป็น 1 ใน 5 ตราสินค้าเบียร์ที่มีปริมาณขายสูงสุดในประเทศไทย และเมื่อปลายปี 2565 ได้เปิดตัว “ช้าง อันพาสเจอไรซ์” เบียร์พรีเมียม ซึ่งได้รับผลลัพธ์เป็นน่าพอใจจนถึงปัจจุบัน ในขณะเดียวกัน “ช้าง เอสเปรสโซ่ ลาเกอร์” ก็ได้รับรางวัลเหรียญทองด้านคุณภาพต่อเนื่องเป็นปีที่สามติดต่อกัน

“เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เราได้ดำเนินกลยุทธ์ “Cost Competitiveness” ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ การลดต้นทุนในการผลิตเบียร์ การจัดสรรทรัพยากรในห่วงโซ่อุปทาน การลดค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขาย และการพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตซึ่งส่งผลให้มีอัตรายอดขายต่อจำนวนพนักงาน (Net Sales to Headcount ratio) ที่ดีขึ้น” นายทรงวิทย์ กล่าว
*** กลุ่มธุรกิจเบียร์ ประเทศเวียดนาม
นายเลสเตอร์ ตัน เต็ก ชวน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซาเบโก้ กล่าวว่า “เศรษฐกิจของประเทศเวียดนามได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้กิจกรรมการส่งออกและการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม เรายังคงมุ่งมั่นรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยม สร้างทีมขายมืออาชีพ และเสริมแกร่งกลุ่มตราสินค้า Winning Brand Portfolio โดยเราได้ดำเนินกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อยกระดับ Bia Saigon ในฐานะความภาคภูมิใจของเวียดนาม”
เพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจโดยรวม ซาเบโก้มุ่งเน้นการขยายธุรกิจ พัฒนากลุ่มตราสินค้า และเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง

ซาเบโก้เสริมสร้างความเป็นเลิศด้านการผลิตและใช้มาตรการบริหารต้นทุนที่เข้มงวดเพื่อบริหารค่าใช้จ่ายและรักษาผลกำไรของบริษัท อีกทั้งยังมุ่งมั่นเดินหน้าผนวกเครือข่ายโรงเบียร์ของบริษัทย่อยและบริษัทร่วม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานและการบริหารต้นทุน

ด้วยแผนงาน SABECO 4.0 ซึ่งได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ซาเบโก้มั่นใจอย่างยิ่งว่าบริษัทจะสามารถยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน เสริมแกร่งความเป็นผู้นำในตลาด และบรรลุเป้าหมายระยะยาวของบริษัทได้ในที่สุด
*** ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
นายโฆษิต สุขสิงห์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลและเทคโนโลยี กล่าวว่า ธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์มีรายได้จากการขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 เพิ่มขึ้น 15.6% เป็น 14,822 ล้านบาท ซึ่งมาจากปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น8.7% ตามการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น โดยกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) เพิ่มขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 1,773 ล้านบาท

กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ได้ขยายการเติบโต ภายใต้ 3 แนวทาง คือ การสานพลังของแบรนด์ปั้นพอร์ตสุดแกร่ง, การเร่งสปีดการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคงในทุกมิติ และการเดินหน้าขยายตลาด โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ด้วยแนวทาง “การสานพลังของแบรนด์ปั้นพอร์ตสุดแกร่ง (Brand Portfolio Management)” เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในทุกโอกาสและทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงรองรับกลุ่มผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมสร้างความผูกพันกับผู้บริโภค ผ่านกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อเสริมแกร่งตราสินค้าหลักของกลุ่ม

นอกจากนี้ ไทยเบฟยังมองเห็นโอกาสในการเติบโตที่ดีในภูมิภาคอาเซียน โดยกลุ่มมุ่งมั่นผลักดันตราสินค้าหลักของกลุ่มสู่ตลาดในภูมิภาคผ่านการดำเนินตามแนวทาง “การเดินหน้าขยายตลาด (Expand to New Market)”

ทั้งนี้โออิชิกรีนที เติบโต 15% สัดส่วนรายได้ 30% ของพอร์ตโฟลิโอ เครื่องดื่มเอสเติบโต 23% น้ำดื่มคริสตัลเติบโต 19%
*** ธุรกิจอาหาร

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด สายธุรกิจอาหาร ประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจอาหารมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 19.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็น 14,296 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 อย่างไรก็ตาม กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดบัญชี (EBITDA) ลดลง 8.4% เป็น 1,446 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค และต้นทุนค่าแรงงาน ประกอบกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนการเปิดร้านใหม่
ส่วนการแยกธุรกิจอาหารกับเครื่องดื่มโออิชิออกจากกันเพื่อสร้างความชัดเจนและความคล่องตัวในการลงทุน เพราะธุรกิจอาหารต้องลงทุนมากเพื่อขยายสาขา

“เป็นเรื่องน่ายินดีที่การบริโภคภายในร้านอาหารในประเทศไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีจากการที่ผู้บริโภคชาวไทยกลับมารับประทานอาหารนอกบ้านร่วมกับครอบครัวและเพื่อนฝูงกันอีกครั้ง ประกอบกับการกลับมาของนักท่องเที่ยว ส่งผลให้ในขณะนี้การบริโภคภายในร้านเริ่มกลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ดังนั้นเราจึงใช้โอกาสนี้ในการดำเนินกลยุทธ์เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจอาหาร ด้วยการเดินหน้าขยายสาขาใหม่ และเพิ่มการเติบโตของยอดขายของสาขาเดิม” นางนงนุช กล่าว
หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจอาหารในปีนี้ คือ การเจาะตลาดให้สามารถเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้มากขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนสาขาร้านอาหารของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงร้านอาหารและผลิตภัณฑ์โปรดได้โดยง่ายในทุกพื้นที่ ปัจจุบันไทยเบฟมีร้านอาหารทั้งหมด 771 ร้านในประเทศไทย โดยเปิดเพิ่มทั้งสิ้น 43 ร้านในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566

ไทยเบฟตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มการเติบโตของยอดขายของร้านสาขาเดิมด้วยการรังสรรค์เมนูใหม่และจัดกิจกรรมทางการตลาดที่หลากหลายสำหรับทุกร้านอาหาร เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการบ่อยครั้งขึ้น ในขณะเดียวกัน ไทยเบฟยังมุ่งมั่นเสริมสร้างพื้นฐานของธุรกิจอาหารให้แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านบุคลากร การดำเนินงาน เทคโนโลยี และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน พร้อมทั้งส่งเสริมเรื่องความยั่งยืนผ่านการดำเนินโครงการลดขยะอาหารจากร้านในเครือ เพื่อสนับสนุนให้ลูกค้าได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดขยะอาหาร รวมถึงโครงการบริจาคอาหารส่วนเกินเพื่อช่วยเหลือชุมชนต่าง ๆ อีกด้วย
*** การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ กล่าวว่า ในปี 2565 ไทยเบฟสามารถบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนแล้วดังนี้

1. บรรลุเฟสที่ 1 และ 2 ของโครงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงงานในไทยรวมทั้งสิ้น 23 แห่ง
2. ติดตั้งโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ 7 แห่ง สำหรับผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำกากส่า ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นแอลกอฮอล์ เพื่อใช้เป็นพลังงานในโรงงานแทนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
3. เพิ่มอัตราการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในองค์กรเป็นร้อยละ 42.8
4. ลดอัตราส่วนการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ลงร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับพื้นที่ที่มีการดึงน้ำจากแหล่งน้ำมาใช้มาก (water-stressed area)
5. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ Scope 2 ลงได้ร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับปีฐาน 2562
6. นำขยะอาหารและของเสียอื่น ๆ จำนวนร้อยละ 67.6 กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์เพื่อวัตถุประสงค์อื่น
7. นำบรรจุภัณฑ์สินค้าจำนวนร้อยละ 84 กลับมาใช้ใหม่และรีไซเคิล (Reuse and Recycle)
8. เพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทยที่ได้รับเครื่องหมาย “ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” เป็นร้อยละ 70

*** กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล
ดร. เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและสมรรถนะองค์กร กล่าวว่า จากผลสำรวจความผูกพันกับองค์กรของพนักงานปี 2566 ของกลุ่มบริษัทไทยเบฟ พบว่า พนักงานมีคะแนนความผูกพันกับองค์กรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 80 เป็นร้อยละ 83 ในขณะที่ค่าเฉลี่ยคะแนนความผูกพันกับองค์กรของพนักงานในประเทศไทยตามการรายงานของ Kincentric ลดลงจากร้อยละ 69 ในปี 2565 เป็นร้อยละ 65 ในปี 2566 โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 สิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนความสำเร็จของไทยเบฟ คือ ความเชื่อมั่นใน “ทุนมนุษย์กับโอกาสไร้ขีดจำกัด” ผ่านการมอบโอกาสในอาชีพ สร้างความผูกพัน และมอบโอกาสก้าวหน้าให้กับพนักงานทุกคน

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT