ข่าวเศรษฐกิจ

'ช่องแคบฮอร์มุซ' เส้นทางส่งน้ำมันใหญ่ของโลก ไพ่ตายอิหร่านในสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

1 พ.ย. 66
'ช่องแคบฮอร์มุซ' เส้นทางส่งน้ำมันใหญ่ของโลก ไพ่ตายอิหร่านในสงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์

ในระหว่างที่สงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ยังคงดำเนินไปอย่างเข้มข้น สิ่งหนึ่งที่ทั่วทั้งโลกจับตามองก็คือการเคลื่อนไหวของ ‘ชาติอาหรับ’ โดยเฉพาะ ‘อิหร่าน’ ที่ได้ออกมาประกาศตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่กลุ่มฮามาสเข้าโจมตีอิสราเอลว่าการกระทำของฮามาสเป็น ‘การป้องกันตัว’ จากอิสราเอลที่ได้เข้าไปรุกล้ำและยึดดินแดนที่เป็นของชาวปาเลสไตน์แต่ดั้งเดิม

นอกจากนี้ รัฐบาลอิหร่านยังได้ออกมาประณามการกระทำการโจมตีกาซาของอิสราเอลอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ในวันที่ 30 ตุลาคม Hossein Amir-Abollahian รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอิหร่านก็เพิ่งออกมาประกาศว่าการโจมตีกาซาในภาคพื้นดินของอิสราเอลอาจทำให้ความขัดแย้งนี้ลุกลามไปเป็นสงครามระดับภูมิภาค เพราะอิหร่านอาจต้องเข้าช่วยเหลือเพื่อนพ้องชาวมุสลิมที่ถูกกดขี่ด้วยกัน

เมื่อดูจากความรุนแรงและอาวุธที่ทั้งฝ่ายมีแล้ว หากมีสงครามระดับภูมิภาคเกิดขึ้นจริง ทั้งประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศโดยรอบต้องพบกับความเดือดร้อนเสียหายอย่างมหาศาลอย่างไม่ต้องสงสัย 

อย่างไรก็ตาม นอกจากความเสียหายกับประเทศในแถบตะวันออกกลางแล้ว สงครามภูมิภาคนี้ยังจะส่งผลเสียต่อทั้งโลก เพราะอิหร่านอาจตัดสินใจปิด ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ ซึ่งเป็นช่องทางหลักในการส่งออกน้ำมันของกลุ่มประเทศอาหรับ เพื่อต่อรองหรือโต้ตอบกับอิสราเอลและชาติตะวันตกได้

ในวันนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักช่องทางเล็กๆ ที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของอิหร่านกันว่าอยู่ที่ไหน มีความสำคัญอย่างไร และทำไมมันจึงเป็นหนึ่งใน ‘ไพ่ตาย’ ที่อิหร่านอาจนำมาใช้เมื่อเกิดสงครามในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

ช่องแคบที่เป็นทางส่งน้ำมันที่คนทั่วโลกใช้ 20% ต่อวัน

ช่องแคบฮอร์มุซเป็นช่องแคบที่ตั้งอยู่ระหว่างอ่าวโอมานและอ่าวเปอร์เซีย มีพื้นที่ทางเหนือติดกับทางใต้ของอิหร่าน ขณะที่ทางใต้ติดกับชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน

istock-1603468098

โดยเมื่อมองจากแผนที่ ช่องแคบนี้เป็นทางออกเดียวจากอ่าวโอมานออกไปยังทะเลอาหรับ ทำให้ช่องแคบฮอร์มุซเป็นช่องทางเดินเรือเพื่อส่งออกสินค้าสำคัญของประเทศส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิหร่าน กาตาร์ และคูเวต

จากข้อมูลของ Vortexa ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2023 เส้นทางนี้เป็นทางผ่านของน้ำมันถึง 20.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็น 20% ของปริมาณน้ำมันที่คนทั่วโลกใช้ในแต่ละวัน 

นอกจากนี้ ประเทศอาหรับเหล่านี้ยังไม่มีช่องทางอื่นในการส่งออกน้ำมันที่มีประสิทธิภาพ เพราะแม้ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะมีทางเดินเรือและท่อส่งน้ำมันโดยไม่ต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซอยู่ ทั้งสองประเทศนี้ก็ยังส่งออกสินค้าส่วนมากออกทางช่องแคบฮอร์มุซ

นี่ทำให้หากวันไหน อิหร่านหรือชาติอาหรับอื่นๆ ตัดสินใจปิดช่องทางนี้ ซัพพลายน้ำมันของโลกจะหายไปประมาณ 20% ทันที ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อซัพพลายหายไปแต่ความต้องการใช้ยังเท่าเดิม สภาวะนี้จะทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกดีดตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทันที ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อหลายๆ ประเทศที่อาศัยการนำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะประเทศเอเชียที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของกลุ่มประเทศอาหรับ

 

ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันจากชาติอาหรับเกิน 50%

แม้การปิดช่องแคปฮอร์มุซจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของทั้งโลก กลุ่มประเทศที่จะได้รับผลกระทบจากการปิดช่องแคบนี้มากที่สุดก็คือกลุ่มประเทศเอเชียที่เป็นผู้นำเข้าหลัก 

โดยจากข้อมูลของ Energy Information Administration ของสหรัฐฯ ในปี 2018 น้ำมันถึง 76% ที่ส่งผ่านเส้นทางนี้ถูกส่งออกไปยังประเทศเอเชีย และ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ เป็น 4 ประเทศเอเชียที่นำเข้าน้ำมันดิบที่ถูกส่งผ่านช่องแคบฮอร์มุซมากที่สุด โดยนำเข้าน้ำมันดิบรวมกันถึง 65% ที่ถูกส่งผ่านเส้นทางนี้

นอกจากประเทศเหล่านี้แล้ว ประเทศไทยเราก็นำเข้าน้ำมันจากชาติอาหรับเป็นปริมาณมากไม่แพ้กัน โดยจากข้อมูลของ OEC ในปี 2021 ไทยนำเข้าน้ำมันดิบเป็นมูลค่าถึง 2.01 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นน้ำมันดิบจากชาติอาหรับถึงกว่า 54%

โดย 4 ชาติอาหรับแรกที่ส่งออกน้ำมันมาไทยมากที่สุดคือ 

  1. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 29.6% คิดเป็นมูลค่า 5.94 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  2. ซาอุดีอาระเบีย 19.3% คิดเป็นมูลค่า 3.88 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  3. กาตาร์ 4.11% คิดเป็นมูลค่า 826 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  4. คูเวต 1.07% คิดเป็นมูลค่า 214 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดังนั้น หากช่องแคบฮอร์มุซถูกปิด หนึ่งในประเทศที่จะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนก็คือประเทศไทย เพราะถ้าหากซัพพลายน้ำมันดิบของเราหายไปเกินครึ่งในครั้งเดียว ธุรกิจในประเทศก็จะได้รับผลกระทบ และไทยก็จะต้องไปแย่งซื้อทรัพยากรนี้กับประเทศอื่นในเอเชีย ซึ่งแน่นอนว่าจะดันให้ราคาน้ำมันดิบทั้งในตลาดโลกและในประเทศพุ่งสูงขึ้นมากอย่างช่วยไม่ได้

 

เป็นไปได้แค่ไหนที่ช่องแคบฮอร์มุซจะถูกปิด?

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา อิหร่านใช้ช่องแคบฮอร์มุซเป็นข้อต่อรองกับศูัตรู โดยเฉพาะชาติตะวันตกมาแล้วหลายครั้ง อย่างเช่นในปี 2012 และ 2018 ที่อิหร่านออกมาขู่ว่าจะปิดช่องแคบนี้เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ และชาติยุโรปที่ร่วมกันออกมาตรการห้ามนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน เพื่อกดดันให้อิหร่านยกเลิกโครงการสร้างอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ช่องแคบนี้ก็ไม่เคยถูกปิดอย่างเด็ดขาด มีเพียงแต่การลอบโจมตีเรือขนส่งเพื่อสร้างความเสียหายให้กับเรือขนส่ง และข่มขวัญศัตรู ในความขัดแย้งครั้งนี้ก็ค่อนข้างเป็นไปได้ยากที่อิหร่านจะเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มตัว หรือตัดสินใจปิดช่องแคบนี้เพื่อโต้ตอบจริงๆ

เพราะหากช่องแคบนี้ถูกปิดจริง ชาติที่จะได้รับความเสียหายมากที่สุดก็คือกลุ่มชาติอาหรับเองที่อาจจะขาดรายได้ ทำให้การกระทำนี้อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย แม้จะเป็นไปได้ที่อิหร่านจะยกการปิดช่องแคบขึ้นมาขู่จริงๆ หากมีความจำเป็น

ดังนั้น ทั่วทั้งโลกจึงต้องจับตามองด้วยว่าชาติอาหรับจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไรกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ในครั้งนี้ รวมไปถึงร่วมกันเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายสงบศึกและหยุดใช้ความรุนแรงกันโดยเร็ว เพราะถ้าหากความขัดแย้งนี้ลุกลามไปเป็นสงครามระดับภูมิภาคจริง ไม่ใช่เพียงประเทศอาหรับเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่ยังเดือดร้อนไปถึงประเทศต่างๆ ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรน้ำมันดิบจากประเทศเหล่านี้ รวมไปถึงประเทศไทยด้วย



ที่มา: Reuters, EIA, OEC, Al Jazeera

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT