ธุรกิจการตลาด

รู้จักธุรกิจ 'มิสยูนิเวิร์ส' เวทีประกวดร้อยล้านที่กำลังเข้าสู่ 'ขาลง'?

26 ต.ค. 65
รู้จักธุรกิจ 'มิสยูนิเวิร์ส' เวทีประกวดร้อยล้านที่กำลังเข้าสู่ 'ขาลง'?

เป็นที่ฮือฮาของแฟนนางงามไทย เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ‘แอน-จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์’ ได้ออกมายืนยันผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวแล้วว่า บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด ได้เข้าไปซื้อกิจการทั้งหมดขององค์กรนางงามจักรวาล (Miss Universe Organization) และคว้าลิขสิทธิ์เวทีประกวดนางงามที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 70 ปี มาเป็นของคนไทยเรียบร้อยแล้ว

จากเอกสารที่บริษัทแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ดีลระดับโลกนี้มีมูลค่าไม่เกิน 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 800 ล้านบาท และจะทำให้เจเคเอ็นมีสิทธิ์ในการบริหารการจัดการลิขสิทธิ์ในการจัดประกวด Miss Universe ให้แก่แต่ละประเทศ ทั้งการจัดการประกวด การเผยแพร่สัญญาณการประกวด รวมถึงนำแบรนด์ Miss Universe มาต่อยอดการผลิตและการทำตลาดให้สินค้าในบริษัท

000_9uk2hm

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้นี่จะเป็นโอกาสดีที่บริษัทของไทยจะได้ก้าวขึ้นไปมีบทบาทในการจัดการเวทีนางงามที่เป็นที่รู้จักระดับโลก แต่การเข้าซื้อเวทีนี้ก็อาจมีความเสี่ยง เพราะก่อนหน้านี้มีรายงานจาก New York Post ว่า เจ้าของเก่าเวที Miss Universe อย่าง Endeavor ได้พยายามเร่ขายเวทีนี้ให้กับนักลงทุนในเอเชียและอเมริกาใต้ในราคา 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มาซักพักใหญ่แล้ว 

ซึ่งเมื่อเกิดข่าวแบบนี้ขึ้น คำถามที่ตามมาก็คือ เกิดอะไรขึ้นกับเวทีประกวดชื่อดังนี้ เจ้าของคนเก่าถึงได้พยายามนำลิขสิทธิ์ไปขายนักลงทุน จนเจเคเอ็นได้โอกาสเข้าไปซื้อกิจการ 100% ดังกล่าว

 

ประกวดนางงามเริ่มเสื่อมมนตร์ในโลกตะวันตก

คำตอบของการขายกิจการนั้นไม่มีใครรู้ได้แน่ชัด เพราะการขายลิขสิทธิ์อาจเป็นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากตัวบริษัทเอง เช่น ปัญหาหนี้สิน และได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้บริษัทเสียรายได้จากการจัดอีเวนท์ซึ่งเป็นหนึ่งในรายได้หลักของบริษัท หรือจากแนวโน้มของจำนวนผู้ชมในสหรัฐอเมริกาที่ลดลงเรื่อยๆ ทุกปี 

เมื่อปี 2021 ช่อง Fox รายงานว่า มีผู้เข้าชมการถ่ายทอดสดการประกวดเพียง 2.7 ล้านคน ซึ่งลดลงถึง 30% จาก 3.8 ล้านคนในปี 2019 และลดลงถึง 47% จาก 5.12 ล้านคนในปี 2017 และเป็นตัวฉุดสำคัญที่ทำให้ช่อง Fox เป็นช่องโทรทัศน์ที่มีเรตติ้งในช่วง Prime Time ต่ำที่สุดในหมู่ช่องโทรทัศน์ใหญ่ 4 ช่อง เช่น NBC และ CBS ที่มีรายการกีฬาอเมริกันฟุตบอลเป็นตัวชูโรง 

New York Post ยังอ้างแหล่งข่วที่เกี่ยวข้องทางการเงินที่ออกมาให้ข้อมูลอีกว่า Miss Universe Organization ซึ่งยังเป็นผู้จัดการประกวด Miss USA และ Miss Teen USA ที่อยู่ในเครือ Miss Universe ด้วย มีการบุ๊กตัวเลข “ขาดทุน” ถึงปีละ 2 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าจะทำรายได้จากการประกวด 7-9 ล้านดอลลาร์ต่อปีก็ตาม

นอกจากนี้ เวที Miss Universe ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เนืองๆ จากทั้งนักเคลื่อนไหวด้านความเท่าเทียมทางเพศ และนักสตรีนิยม หรือเฟมินิสต์ “ในยุคปัจจุบัน” ว่า เป็นวัฒนธรรมล้าหลังและไม่สมควรมีอยู่ ในยุคที่ผู้หญิงไม่ควรถูกตัดสินคุณค่าจากรูปร่างหน้าตาภายนอก และไม่ควรมีการตั้งมาตรฐานความงามแคบๆ มากดดันใครอีกต่อไป

แต่ถึงแม้จะอยู่ในช่วงขาลงทั้งด้านเรตติ้งและชื่อเสียงแบบนี้ เวทีประกวดนี้มีความเป็นมาอย่างไรจึงยังคงเป็นหนึ่งในสี่การประกวดนางงามที่ใหญ่ที่สุดในโลก 

 

Miss Universe เวทีที่เกิดมาเพราะผู้ชนะ Miss America ไม่ยอมใส่ชุดว่ายน้ำ

ถึงจะเป็นเวทีชื่อดังที่คนรู้จักกันมานาน เวที Miss Universe ก็ไม่ใช่เวทีประกวดนางงามแรกในอเมริกา แต่ยังมีเวที Miss America ที่จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1920 และมีบริษัทผลิตชุดว่ายน้ำ Pacific Knitting Mills เป็นสปอนเซอร์ให้จนกระทั่งปี 1951 ที่ผู้ชนะ Miss America ชื่อว่า Yolande Betbeze ไม่ยอมใส่ชุดว่ายน้ำถ่ายโฆษณาให้ทางบริษัท สร้างความบาดหมางระหว่างเวทีประกวดและบริษัท

ดังนั้น ในปี 1952 Pacific Knitting Mills จึงออกมาตั้งเวทีประกวดนางงามใหม่ในชื่อ “Miss Universe” โดยมีบริษัท Miss Universe Organization เป็นผู้จัดการการประกวดเรื่อยมา จนกระทั่งมีการเปลี่ยนมือเจ้าของใหม่ไปเป็นบริษัท Kayser-Roth Corporation และเปลี่ยนมืออีกรอบไปสู่ Gulf and Western Industries ซึ่งเป็นเจ้าของค่ายหนัง Paramount Global และช่องทีวีใหญ่ CBS

แต่การประกวดมิสยูนิเวิร์สเริ่มมีสีสันมากขึ้นในยุคเจ้าของคนใหม่ ที่เป็นนักธุรกิจหนุ่มใหญ่คนดังในสหรัฐ “โดนัลด์ ทรัมป์” ซึ่งเข้าไปซื้อลิขสิทธิ์ในปี 1996 แต่สิทธิ์ในการถ่ายทอดสดก็ยังเป็นของ CBS เรื่อยมา จนกระทั่งปี 2015 ช่วงที่ทรัมป์มีปัญหากับ CBS ในประเด็นผู้อพยพเม็กซิโก ทรัมป์จึงตัดสินใจเข้าซื้อหุ้น 50% ของ CBS เพื่อเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ก่อนจะตัดสินใจขายทิ้งในอีก 3 วันต่อมาให้กับ “Endeavor” (ชื่อเก่าคือ WME/IMG) ทำให้ช่อง Fox กลายเป็นผู้ได้สิทธิ์ถ่ายทอดสดการประกวดไปโดยปริยาย

000_par7708853

ซึ่งจากประวัติยาวนานนี้ จะเห็นได้ว่าลิขสิทธิ์ Miss Universe ได้มีการซื้อขายเปลี่ยนมือเจ้าของมาตลอด ซึ่งก็ล้วนแต่เป็นบริษัทสื่อหรือนายทุนยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะข้ามฟากมาอยู่ในมือของนักธุรกิจชาวไทยอย่าง JKN ในปัจจุบัน

โดยจากข้อมูลของ IMG ในปัจจุบันมีการถ่ายทอดสด Miss Universe ใน 190 ประเทศทั่วโลก และถูกรับชมโดยผู้ชมกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี 

 

มนตร์ที่ยังไม่เสื่อมในเอเชีย และโอกาสทำเงินจาก Miss Universe

ดังที่เกริ่นไว้ข้างต้น ถึงแม้ผู้ชมการประกวดนางงามในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดของโชว์นี้จะมีแนวโน้มลดลงทุกปี ความนิยมชมการประกวดนางงามของหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น ไทย และฟิลิปปินส์ ก็ยังสูงอยู่ ดูได้จากการประกวดนางงามที่เรียกความสนใจจากสื่อและประชาชนให้ติดตามและร่วมเชียร์ตัวแทนจากประเทศให้เข้ารอบลึกๆ ได้ดุเดือดยิ่งกว่าการเชียร์บอลได้ทุกปี

โดยจากข้อมูลของ PPTV ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดสดการประกวด Miss Universe Thailand และ Miss Universe ระดับโลกในปัจจุบัน ในปี 2021 การประกวด Miss Universe Thailand รอบตัดสิน ได้ตัวเลขเรตติ้งทางโทรทัศน์รวมทั้งประเทศ 0.959 และมีผู้เข้าชมในช่องทางออนไลน์ถึง 364,966 คน 

000_9uf3zw

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาก็จะได้รับเรตติ้งดีเป็นพิเศษหากปีนั้นตัวแทนไทยสามารถเข้ารอบลึกๆ ของการประกวดระดับโลกได้ โดยในปี 2020 ที่ ‘อแมนดา ออบดัม’ เข้ารอบ 10 คนสุดท้ายได้ PPTV ก็ได้ตัวเลขเรตติ้งไปถึง 1.423 โดยผู้ชมพื้นที่กรุงเทพฯ ได้เรตติ้งรวมถึง 2.338

ซึ่งเมื่อดูจากเรตติ้งทั้งทางโทรทัศน์และออนไลน์ ประกอบกับกระแสในโซเชียลมีเดียก่อนการประกวด Miss Universe ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกในแต่ละปีแล้ว ก็เรียกได้ว่าคนไทยยังนิยมดูการประกวดนางงามอยู่มาก ทำให้การเข้าไปซื้อ Miss Universe ของเจเคเอ็นก็ถือว่าสมเหตุสมผล ถึงแม้รายการนี้จะกำลังอยู่ในขาลงในฝั่งตะวันตก

นอกจากนี้ เจเคเอ็นยังจะได้รายได้จากค่าแฟรนไชส์ที่กองประกวดในแต่ละประเทศที่จัด Miss Universe ต้องจ่ายให้ในแต่ละปี รวมไปถึงได้โอกาสในการถ่ายทอดสดรายการที่คนไทยและคนทั่วโลกรอรับชมในช่องสื่อของตัวเอง รับรายได้จากสปอนเซอร์ โฆษณา และใช้ชื่อแบรนด์ Miss Universe ในการโปรโมทสินค้าของตนเองที่อยู่ในหมวดความงามอยู่แล้ว

โดยจากข้อมูลจะเห็นได้ว่าการได้ลิขสิทธิ์ Miss Universe ไปไว้ในครอบครองในครั้งนี้ก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสดีที่จะทำให้เจเคเอ็นที่มีธุรกิจให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ และมีช่องสื่ออยู่ในมือคือ JKN 18 อยู่ในมืออยู่แล้วขยายธุรกิจไปได้ในหลายรูปแบบ 

นอกจากนี้ หากเจเคเอ็นมีการทำงานร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งออกเรื่อง ‘นางงาม’ และวัฒนธรรมไทยอื่นๆ ผ่านช่องทางประกวดนางงามอย่างเป็นระบบ ประเทศไทยเองก็อาจจะได้รับอานิสงส์ไปด้วยในฐานะประเทศที่ตั้งของบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์

“การเข้าถือครองกิจการ MUO รวมถึงลิขสิทธิ์ Miss Universe ซึ่งถือเป็นแบรนด์เก่าแก่ที่คนทั้งโลกรู้จัก ของ JKN ในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจของ JKN ที่ไม่เป็นเพียงการจัดการประกวดและการให้สิทธิ์ถ่ายทอดการประกวดมิสยูนิเวิร์สเท่านั้น แต่เราจะนำแบรนด์ Miss Universe มาต่อยอดการผลิต และ การทำตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคไปในทุกประเทศเพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ JKN และยกระดับภาพลักษณ์องค์กรก้าวสู่การเป็น Global Content Commerce Company” แอน-จักรพงษ์ กล่าว

ซึ่งหลังจากนี้ก็คงต้องมาดูกันต่อไปว่า JKN จะต่อยอดธุรกิจมูลค่าหลายร้อยล้านบาทนี้อย่างไรต่อไปให้เติบโตไปได้อีก ในยุคที่เวทีประกวดนางงามกำลังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์และกำลังเสื่อมความนิยมในซีกโลกตะวันตก

 

ที่มา: Business Insider, Yahoo, Variety, IMG, PPTV

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT