วันที่ 5 ก.ค. 68 น.ส.วาสนา นาน่วม ผู้สื่อข่าวอาวุโสสายทหาร โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กเพจ “Wassana Nanuam” ระบุว่า “เขมร ซ่อน ศึก!”
“เขมรร้อง UN เงียบๆ ที่ผ่านมาตีปี๊ปออกข่าวแต่ว่าไปฟ้อง ICJ ศาลโลก ปั่นหัวรัฐบาลไทย คนไทย แต่ใช้วิธีฟ้อง UN ตามคาด”
“ตีหน้าเศร้า เล่าความเท็จอ้างไทยไม่พอใจ ตั้งแต่ศาลโลกตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา ชี้ทหารไทยล้ำแดนกัมพูชา แล้วเปิดฉากยิงก่อน ทำให้ทหารเขมรเสียชีวิต แถมซัดแม่ทัพภาค2 ขู่ใช้กำลัง และกลุ่มหัวรุนแรง หวังยึดดินแดนเขมร ชี้เป็นความขัดแย้ง 2 ชนชาติ หวังให้ตรงแนวทาง UN เสนอเข้าวาระ UNGA ที่ปกติจะประชุมทุกๆ กันยายนของทุกปี”
“ฝ่ายไทยส่งเอกสารชี้แจง UN ตามหลัง ยันเขมรยิงก่อน ทหารไทยป้องกันตัว ระหว่างไทยกับกัมพูชาได้ถูกลากจากเรื่องของสองประเทศเพื่อนบ้าน ให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ และจากนี้ไปการต่อสู้ในเวทีระหว่างประเทศระหว่างไทยกับกัมพูชาจะยิ่งเข้มข้นขึ้น หลังทูตกัมพูชาประจำ UN ส่งหนังสือของรัฐบาลกัมพูชา เรื่องการปะทะกันของทหารไทย-กัมพูชา เมื่อ 28 พ.ค. ที่ผ่านมา ไปยัง UN พร้อมแนบเอกสารของรัฐบาลกัมพูชา ยื่นเคลม 3 ปราสาท และ 1 พื้นที่ต่อศาลระหว่างประเทศ ICJ เมื่อ 15 มิ.ย. 2025 วันครบรอบ 63 ปีที่ศาลโลกตัดสินให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา”
“โดยต้องการให้บรรจุเป็นวาระของ UNGA ซึ่งการประชุมโดยปกติแล้วจะมีในช่วงเดือนก.ย.ของทุกปี ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าการปะทะกันในวันที่ 28 พ.ค.นั้น ฝ่ายไทยเป็นฝ่ายเริ่มยิ่งก่อน และอ้างว่า แม่ทัพภาค2 ของไทย ขู่จะใช้กำลัง และมีกลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงเคลื่อนไหวที่อาจจะนำไปสู่ความเกลียดชังขัดแย้งระหว่างสองชนชาติ”
“ขณะที่ ทูตไทยประจำUN ได้ส่งหนังสือของรัฐบาลไทย ชี้แจงไปลงวันที่ 18 มิ.ย. 2025 ยืนยันว่า ทหารกัมพูชาเป็นฝ่ายยิงก่อน ดังนั้นทหารไทย จึงต้องป้องกันตัวเอง ยืนยันว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาฝ่ายไทยรักษาความสัมพันธ์อันดีแต่เหตุเกิดในระหว่างลาดตระเวนตามปกติ และฝ่ายกัมพูชาได้ยิงทหารไทย โดยไม่ได้แจ้งเตือนก่อน ทำให้ต้องมีการป้องกันตนเอง อีกทั้งที่ผ่านมาฝ่ายกัมพูชาได้ละเมิดข้อตกลง MoU ปี2000 เป็นจำนวนมาก ที่ผ่านมาฝ่ายไทย พยายามที่จะใช้กลไกทวิภาคีในการพูดคุยเพื่อหาทางออก ทั้ง GBC และ JBC”
“พร้อมยืนยันว่า รัฐบาลไทยไม่รับเขตอำนาจศาลโลก รัฐบาลไทยยืนยันจุดยืนว่าประเทศไทยจะไม่ยินยอมให้มีการพยายามดำเนินคดีฝ่ายเดียว ความพยายามดังกล่าว ไม่มีผลทางกฎหมาย และขัดต่อหลักการพื้นฐานของความยินยอมของรัฐที่เป็นพื้นฐานของกรอบเขตอำนาจศาลของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ”
ขอบคุณข้อมูล : เพจ “Wassana Nanuam”
Advertisement