วันที่ 22 พ.ค. 68 ที่โรงเรียนบ้านหนองแจง หมู่9 ต.บัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ดร.ปฐมเกียรติ ไชยคำ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต5 (สพป.นม.5) พร้อมด้วยนายสุพรรณ ทองภู ผอ.โรงเรียนบ้านสระตะเฆ่ รักษาการในตำแหน่ง ผอ.โรงเรียนบ้านหนองแจง ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากผู้นำชุมชนผู้ปกครอง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เกี่ยวกับแนวทางการเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน โรงเรียนบ้านหนองแจง หลังจำนวนนักเรียนลดลงเหลือเพียง 9 คน
สำหรับปีการศึกษา 2568 โรงเรียนมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 รวมทั้งหมด 9 คน แบ่งเป็น ป. 3 จำนวน 2 คน, ป.4 จำนวน 1 คน,ป.5 จำนวน 3 คนและป.6 จำนวน 3 คน โดยไม่มีนักเรียนในระดับชั้นอนุบาล และชั้นต้นอีกต่อไป ผู้ปกครองส่วนใหญ่ย้ายบุตรหลานไปเรียนในโรงเรียนที่มีความพร้อมมากกว่า ส่งผลให้สถานศึกษาดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ด้านคุณภาพการศึกษา
ผลการประชุมมีมติเอกฉันท์จากพระสงฆ์ ผู้นำชุมชน และผู้ปกครอง จำนวน 19 เสียง เห็นชอบให้เลิกดำเนินการโรงเรียนบ้านหนองแจงอย่างเป็นทางการ อิงตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดตั้งรวบรวม หรือเลิกสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2550
นางบุญตา ออสันเทียะ อายุ 55 ปี ตัวแทนผู้ปกครอง และศิษย์เก่า โรงเรียนบ้านหนองแจง เปิดเผยด้วยน้ำเสียงสะเทือนใจว่า โรงเรียนแห่งนี้มีอายุเกือบ 80 ปี เป็นสถานที่ที่หล่อหลอมคนในชุมชนมาตลอด หลายคนในครอบครัวเป็นศิษย์เก่า ทำให้มีความผูกพันอย่างลึกซึ้ง แต่เข้าใจเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงในยุคที่เด็กเกิดน้อยลง และผู้ปกครองต้องการให้บุตรหลานได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม
ด้าน ดร.ปฐมเกียรติ ผอ.สพป.นม.5 ระบุว่า ทุกฝ่ายต่างรู้สึกเสียดายที่โรงเรียนต้องปิดตัวลง แต่ยอมรับว่าไม่สามารถจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพได้ เนื่องจากมีครูเพียง 2 คน ต้องดูแลนักเรียนต่างชั้นพร้อมกัน ทำให้กิจกรรมต่างๆ เช่น ลูกเสือ เนตรนารี หรือสันทนาการดำเนินการได้อย่างจำกัด อย่างไรก็ตามนักเรียนทั้งหมดได้ย้ายไปยังโรงเรียนชุมชนบ้านโคกสวาย ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาส เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนกว่า 640 คน พร้อมด้วยระบบบริการที่ครอบคลุมทั้งรถรับส่งฟรี อาหารกลางวันคุณภาพ และครูผู้สอนที่มีความพร้อม
ขณะนี้ สพป.นม.5 กำลังดำเนินการจัดทำทะเบียนครุภัณฑ์ของโรงเรียนบ้านหนองแจง และมีแผนใช้พื้นที่โรงเรียนให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน โดยอาจปรับปรุงเป็นบ้านพักข้าราชการครู หรือสถานที่ใช้จัดกิจกรรมของชุมชน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย และส่งเสริมบทบาทของโรงเรียนในฐานะแหล่งเรียนรู้ของสังคม
ข้อมูลจาก สพป.นม.5 ระบุว่า ปัจจุบันมีโรงเรียนในสังกัดทั้งหมด 209 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนต่ำกว่า 120 คน จำนวน 133 แห่ง และมีถึง 88 แห่ง ที่มีนักเรียนต่ำกว่า 80 คน สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการลดลงของจำนวนนักเรียนที่ชัดเจน
ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ให้ความเห็นว่า โรงเรียนขนาดเล็กในประเทศไทย มีสัดส่วนถึง 52% ของโรงเรียนทั่วประเทศ แนวทางแก้ปัญหาควรมีทั้งการส่งเสริมจากภาคเอกชน การสนับสนุนจากรัฐในพื้นที่ห่างไกล และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี การศึกษาทางไกลโดยไม่จำเป็น ต้องแจกแท็บเล็ตให้ทุกคน แต่ควรมีแพลตฟอร์มการเรียนการสอนกลางที่มีประสิทธิภาพ และเตรียมการรับมือกับผลกระทบจากการยุบโรงเรียนอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการจัดสรรครู และทำความเข้าใจกับชุมชน
การยุติบทบาทของโรงเรียนบ้านหนองแจง แม้จะเป็นการสิ้นสุดหน้าประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีกหน้า แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยน เพื่อคุณภาพการศึกษาในภาพรวมที่ดีกว่าในอนาคต
Advertisement