ท่ามกลางข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างถล่ม เศษวัสดุก่อสร้างที่ร่วงหล่นลงมาทำให้เกิดอุบัติเหตุ รอยแตกร้าวบนสะพานที่กำลังก่อสร้าง แม้กระทั่งพื้นถนนที่เกิดการทรุดตัว เนื่องจากมาตรการควบคุมความปลอดภัยที่อาจยังไม่เพียงพอ
ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่ได้รับความสนใจทุกครั้งคือเรื่องของ "สมุดพกผู้รับเหมา" มาตรการนี้ถูกพูดถึงโดยนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะนำมาตรการนี้มาใช้ แต่จนถึงวันนี้ "สมุดพก" เล่มนี้ก็ยังคงเป็นเพียงแนวคิดที่ยังไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ
“สมุดพกผู้รับเหมา”
เป้าหมายหลักของ “สมุดพกผู้รับเหมา” เพื่อเป็นเครื่องมือในการควบคุม ตรวจสอบ และลงโทษผู้รับเหมาที่รับผิดชอบโครงการของรัฐ หากพบว่าการดำเนินงานบกพร่อง ไม่ได้มาตรฐาน หรือเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ ก็จะมีการ “หักคะแนน” ซึ่งจะส่งผลต่อการเข้าร่วมประมูลงานของภาครัฐในอนาคต
อาจจะฟังดูเป็นมาตรการที่มีเหตุผลและจับต้องได้ แต่ผ่านมานับตั้งแต่มีการพูดถึงเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 สมุดพกดังกล่าวยังไม่มีตัวตนที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบที่ใช้งานได้จริง ระบบการประเมิน หรือแนวทางในการนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม
อุบัติเหตุซ้ำซากที่ควรป้องกันได้
ถนนพระราม 2 ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนในโครงการรัฐ เนื่องจากมีการก่อสร้างขยายเส้นทางมาอย่างยาวนาน และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเป็นกลายข่าวใหญ่
ข้อมูลจากกรมทางหลวงรวบรวม “สถิติการเกิดอุบัติเหตุถนนพระราม 2” ตั้งแต่ปี 2561 ถึงมกราคม 2567 มีการเกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้นจำนวน 2,965 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 160 คน และผู้บาดเจ็บ 1,679 คน
ตัวเลขนี้ไม่ใช่เพียงแค่สถิติ แต่คือชีวิตและครอบครัวที่ต้องเผชิญกับความสูญเสีย จากสิ่งที่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากการวางแผนและดำเนินการของโครงการมีความรอบคอบและปลอดภัยมากกว่านี้
อุบัติเหตุในรอบปีที่ผ่านมา
อุบัติที่เกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำว่าความสูญเสียไม่ใช่แค่ “สถิติ” แต่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้นตรงหน้า เหตุการณ์เหล่านี้เป็นผลพวงของการก่อสร้างที่ขาดมาตรการความปลอดภัยเพียงพอ
- 18 ม.ค. 2567 เกิดเหตุรถเครนสลิงขาดทำให้กระเช้ารถเครนตกลงมา จนทำให้คนงานที่ขึ้นกระเช้าเสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บ 1 คน ขณะก่อสร้างโครงการสร้างถนนยกระดับพระราม 2
- 29 พ.ย. 2567 ตัวยกแผ่นปูน “ทรัส” หรือคานเหล็กที่ใช้สำหรับก่อสร้างโครงการทางยกระดับพระราม 2 ตอน 1 ช่วงกม.21+100 ใกล้กับตลาดมหาชัยเมืองใหม่ ต.คอกกระบือ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ถล่มลงมา มีคนงานทั้งชาวไทยและเมียนมาเสียชีวิตรวม 6 คนและบาดเจ็บหลายคน
- 15 มี.ค. 2568 สะพานทางด่วน โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพ ด้านตะวันตก สัญญาที่ 3 ที่กำลังก่อสร้างอยู่ทรุดตัวพังถล่ม บริเวณซอยพระรามที่ 2 ซอย 25 ถนนพระรามที่ 2 แขวงบางมด เขตจอมทอง กทม. ทับคนงาน มีผู้เสียชีวิตหลายคน และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก
- 29 เม.ย. 2568 เหตุการณ์แผ่นปูนขนาดใหญ่หล่นจากสะพานต่างระดับเข้าเมืองมหาชัย บริเวณกิโลเมตรที่ 27+500 ถนนพระราม 2 ขาออกกรุงเทพฯ แผ่นปูนพุ่งทะลุกระจกรถกระบะ กระแทกเข้าบริเวณหน้าท้องคนขับจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ผู้ได้รับบาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลแต่เสียชีวิตในเวลาต่อมา
ความคืบหน้ามาตรการ “สมุดพกผู้รับเหมา”
สำหรับมาตรการสมุกพกผู้รับเหมาล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ได้เร่งทำมาตรการสมุดพกผู้รับเหมาให้แล้วเสร็จพร้อมบังคับใช้ได้ทันทีภายในเดือนเมษายนนี้ จากเดิมที่คาดแล้วเสร็จช่วงเดือนกรกฎาคม โดยมั่นใจว่ามาตรการดังกล่าวจะใช้ได้ผลอย่างแน่นอน
ทั้งนี้มาตรการที่เริ่มใช้ได้ทันทีระหว่างรอมาตรการสมุดพกผู้รับเหมาบังคับใช้นั้น คือ พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 หมวด 12 มาตรา 109 นำไปสู่ลักษณะเป็นการทิ้งงานและตัดสิทธิ์เข้าร่วมประมูลงานของภาครัฐเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งจะต้องพิจารณาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการตัดสิน
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ประชาชนคาดหวังคือ การมีมาตรการที่สามารถ “นำไปใช้ได้จริง” ไม่ใช่เพียงการลงโทษหลังเกิดปัญหา แต่ควรมีระบบที่เน้นการป้องกันล่วงหน้า พร้อมกลไกติดตามและประเมินผล
อีกหนึ่งคำถามที่ยังคาใจสังคมคือ “สมุดพกผู้รับเหมา” จะถูกนำมาใช้จริงเมื่อใหร่ และจะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการก่อสร้างภาครัฐได้มากน้อยเพียงใด เพื่อยุติปัญหาซ้ำซากด้านความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
Advertisement