Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
"จอน อึ๊งภากรณ์" คนทำงานที่ทำให้โรคเอดส์ไม่เป็นเรื่องน่ากลัวในสังคม

"จอน อึ๊งภากรณ์" คนทำงานที่ทำให้โรคเอดส์ไม่เป็นเรื่องน่ากลัวในสังคม

15 พ.ค. 68
18:05 น.
แชร์

"อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์" คนทำงานด้านโรคเอดส์ ที่ต่อสู้และบุกเบิกทำให้เอดส์ไม่เป็นเรื่องน่ากลัวในสังคม ในยุคที่โรคเอดส์คือโรคน่ารังเกียจ

วงการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยไทย สิ้นนักขับเคลื่อนสังคมคนสำคัญอย่าง "อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์" ผู้ก่อตั้งโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw และสื่ออย่างประชาไท ที่ถึงแก่กรรมอย่างสงบสิริอายุ 77 ปี

อ.จอน อึ๊งภากรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2490 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นบุตรชายคนโตของ "ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับ "นางมาร์กาเร็ต สมิธ" มีน้องชาย 2 คน คือ ไมตรีและใจ อึ๊งภากรณ์ สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จากมหาวิทยาลัยซัสเซ็กส์ สหราชอาณาจักร เคยเป็นอาจารย์สอนวิชาฟิสิกส์ให้กับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี พ.ศ.2514-2519 แต่ด้วยความสนใจในประเด็นทางสังคม จึงผันตัวเองมาทำงานภาคประชาสังคมเต็มตัว

หนึ่งในงานเพื่อสังคมที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อสังคมวงกว้างมากที่สุด คือการก่อตั้ง “มูลนิธิเข้าถึงเอดส์” (AIDS Access Foundation) ขึ้นมาในปี พ.ศ. 2534 ช่วงที่สถานการณ์โรคเอดส์ในประเทศไทยยังไม่ถูกยอมรับและคนในสังคมยังไม่เข้าใจ ผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อถูกตราหน้าถูกแสดงความรังเกียจ แต่ อ.จอน ก็ได้ต่อสู้ บุกเบิกให้คำปรึกษากับผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อ ตลอดจนครอบครัวของผู้ป่วยเหล่านั้น รวมถึงช่วยต่อสู้เพื่อสิทธิผู้ป่วย ปัญหาการรังเกียจและเข้าใจผู้ป่วยเหล่านี้ผิดๆ ไปจนถึงการผลักดันนโยบายด้านเอดส์ให้เป็นนโยบายระดับชาติ และพยายามให้ความรู้ในเรื่องสิทธิผู้ป่วยที่จะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ

จนกระทั่งเมื่อได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร จากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2543 อ.จอน ได้ผลักดันให้การดูแลผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS รวมอยู่ในนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค รวมถึงปกป้องสิทธิชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ และเสนอแนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผลงานเหล่านี้ทำให้ อ.จอน ได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซ (Ramon Magsaysay Award) สาขาบริการรัฐกิจ ในปี พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นรางวัลทรงเกียรติระดับนานาชาติที่มอบให้กับผู้มีผลงานดีเด่นต่อมนุษยชาติในทวีปเอเชีย หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นโนเบลสาขาสันติภาพของเอเชียเลยก็ว่าได้

ไม่เพียงเท่านั้นยังเคยคัดค้านการบังคับตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีของสถานศึกษาและสถานประกอบการ เพราะขัดกับหลักการการเคารพสิทธิผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่อาจจะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติ ทำให้บุคคลดังกล่าวถูกจำกัดสิทธิหรือถูกกีดกันในการเข้าเรียนเข้าทำงานได้ บทบาทเหล่านี้ส่งผลให้ อ.จอน ได้รับการยอมรับและดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะกรรมการด้านโรคเอดส์หลายชุด และทำให้โรคเอดส์ตลอดจนผู้ติดเชื้อไม่ได้กลายเป็นที่น่ารังเกียจและเป็นตัวประหลาดในสายตาสังคมมาจนถึงปัจจุบัน

Advertisement

แชร์
"จอน อึ๊งภากรณ์" คนทำงานที่ทำให้โรคเอดส์ไม่เป็นเรื่องน่ากลัวในสังคม