ในยุคที่การกู้ยืมเงินเป็นเรื่องธรรมดาทั้งในชีวิตประจำวันและภาคธุรกิจ การทวงหนี้จึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บ่อยครั้งที่การทวงหนี้ถูกกระทำในลักษณะที่ไม่เหมาะสม เช่น การข่มขู่ คุกคาม ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจและชื่อเสียงของลูกหนี้
ด้วยเหตุนี้พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 จึงถูกบัญญัติขึ้น เพื่อให้การทวงถามและการชำระหนี้เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
พ.ร.บ.ทวงถามหนี้
พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างมาตรฐานการทวงหนี้ที่เหมาะสมในสังคมไทย พร้อมทั้งคุ้มครองสิทธิของทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้อย่างเป็นธรรม กฎหมายฉบับนี้มีประเด็นสำคัญที่ทั้งสองฝ่ายควรทำความเข้าใจ ดังนี้
สถานที่ติดต่อ
ผู้ทวงถามหนี้จะต้องติดต่อลูกหนี้ตามสถานที่ที่ลูกหนี้ได้ระบุไว้ให้เป็นสถานที่ติดต่อได้ ถ้าไม่ได้แจ้งไว้ล่วงหน้าหรือสถานที่ที่ได้แจ้งไว้ไม่สามารถติดต่อได้ โดยผู้ทวงถามหนี้ได้พยายามติดต่อตามสมควรแล้ว ให้ติดต่อตามที่อยู่ภูมิลำเนาหรือสถานที่ทำงานของลูกหนี้
เวลาติดต่อ
ต้องติดต่อภายใต้กรอบระยะเวลา โดยกฎหมายให้ผู้ทวงถามหนี้ติดต่อลูกหนี้ได้ไม่เกิน 1 ครั้งต่อ 1 วันเท่านั้น
• กรณีวันจันทร์ถึงศุกร์ เวลา 8.00 - 20.00 น.
• กรณีวันหยุดราชการ เวลา 8.00 - 18.00 น.
แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงหนี้
ในกรณีที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหนี้ ผู้รับมอบอำนาจในการทวงถามหนี้จะต้องแจ้งให้ทราบถึงชื่อสกุลตนเองหรือชื่อหน่วยงานของตนและของเจ้าหนี้ และจำนวนหนี้ ถ้าผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวทวงถามหนี้ต่อหน้าให้แสดงหลักฐานการมอบอำนาจให้ทวงถามหนี้ด้วย
ข้อห้ามสำหรับผู้ทวงถามหนี้
- ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือกระทำการให้เสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของลูกหนี้
- ห้ามใช้วาจาหรือภาษาที่ดูหมิ่น
- ห้ามใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายที่ใช้ติดต่อ ที่สื่อให้เข้าใจว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นเป็นกรณีการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล
- ห้ามแสดงหรือกระทำการที่ทำให้เข้าใจว่า เป็นการติดต่อและการกระทำการโดยศาล เจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือสำนักงานทนายความ หรือเป็นการติดต่อที่ทำให้เชื่อว่า ลูกหนี้จะถูกดำเนินคดีหรือถูกยึดหรืออายัดทรัพย์
- ห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ในอัตราเกินกว่าที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประกาศกำหนด
พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ไม่ได้ออกมาเพื่อปกป้องลูกหนี้ฝ่ายเดียว แต่ต้องการสร้างความยุติธรรมให้ทั้งสองฝ่าย ทั้งเจ้าหนี้สามารถทวงถามหนี้ได้อย่างเหมาะสม ส่วนลูกหนี้ก็ได้รับความคุ้มครองจากการกระทำที่ไม่เหมาะสม
หากทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ รู้สิทธิของตนเองและปฏิบัติตามกฎหมาย การกู้ยืมเงินในสังคมก็จะเป็นระบบ และไม่สร้างปัญหาบานปลาย
Advertisement