โทรศัพท์ถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา โดย อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ เมื่อปี ค.ศ.1876 (พ.ศ.2419) ระบบโทรศัพท์ประกอบด้วยเครื่องโทรศัพท์ 2 เครื่อง วางห่างกันโดยมีสายไฟฟ้าเชื่อมต่อระหว่างเครื่องให้สามารถสื่อสารถึงกัน อาศัยหลักการของการเปลี่ยนสัญญาณเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้า ส่งไปตามสายไฟฟ้า เมื่อถึงปลายทางสัญญาณไฟฟ้าจะถูกเปลี่ยนเป็นสัญญาณเสียงตามเดิม ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีชุมสายโทรศัพท์
7 มีนาคม วันอเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์คนแรกของโลก
โทรศัพท์เข้าสู่ประเทศไทย ครั้งแรกในปี พ.ศ.2424 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยกรมกลาโหมนำเครื่องโทรศัพท์มาติดตั้ง เพื่อใช้แจ้งข่าวเรือเข้า - ออก ระหว่างปากน้ำสมุทรปราการกับกรุงเทพฯ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2429 กรมไปรษณีย์โทรเลขได้รับโอนกิจการจาก กรมกลาโหมมาดำเนินการและขยายกิจการต่อไป โดยที่ประชาชนทั่วไป เริ่มมีโอกาสใช้โทรศัพท์เป็นครั้งแรก เป็นโทรศัพท์ระบบแม็กนิโต (MAGNETO SYSTEM) หรือระบบไฟ ประจำเครื่อง (LOCAL BATTERY : LB) มีผู้เช่าประมาณ 60 ราย ระยะทางสายยาวเพียง 86 กิโลเมตร ซึ่งใช้ติดต่อกันมาถึงกว่า 20 ปี
เมื่อมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ.2450 จึงได้เริ่มตั้งชุมสายโทรศัพท์แห่งแรกขึ้นมา โดยเป็นระบบชุมสายกึ่งอัตโนมัติ การติดต่อต้องผ่านพนักงานผู้ซึ่งทำหน้าที่ต่อสายระหว่างผู้เช่าทั้งสองทาง โดยติดตั้งที่โทรศัพท์กลางวัดเลียบ
กิจการโทรศัพท์เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ในปี พ.ศ.2465 ได้มีการเพิ่มชุมสายโทรศัพท์แห่งที่สอง มีการติดตั้งโทรศัพท์กลางขนาด 900 เลขหมาย ที่บริเวณไปรษณีย์กลาง ต.บางรัก เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนยิ่งขึ้นเรียก “โทรศัพท์กลางบางรัก”
พ.ศ.2470 ผู้เช่าเพิ่มจำนวนเป็น 1,422 เครื่อง จึงต้องเพิ่มโทรศัพท์กลางวัดเลียบบางรักขึ้นอีกแห่ง และในปีนี้ได้ทำการวางสายเคเบิลใต้ดินเชื่อมระหว่างโทรศัพท์กลางทั้ง 2 แห่งเชื่อมต่อวัดเลียบ-บางรัก ก่อนที่ปีต่อมา การให้บริการโทรศัพท์ได้ขยายขอบข่ายครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ ธนบุรี และยังสามารถใช้ติดต่อกับ จ.สมุทรปราการ นนทบุรี และนครปฐม
ปี พ.ศ.2478 กระทรวงพาณิชย์และคมนาคม โดยพลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้สั่งซื้อเครื่องชุมสายโทรศัพท์ระบบอัตโนมัติ STEP-BY-STEP จากประเทศอังกฤษ เป็นชุมสายโทรศัพท์ระบบแรกที่ผู้เช่าสามารถหมุนหน้าปัดถึงกันได้โดยตรง ทำการติดตั้งที่โทรศัพท์กลาง วัดเลียบ 2,300 เลขหมาย และโทรศัพท์กลางบางรัก 1,200 เลขหมาย เปิดบริการครั้งแรกเมื่อ 24 กันยายน 2480 และเพิ่มชุมสายโทรศัพท์กลางขึ้น 2 แห่ง คือ ชุมสายเพลินจิต และ ชุมสายสามเสน โดยเมื่อเวลา 0.01 น. ของวันที่ 26 กันยายน 2480 ได้มีการตัดเปลี่ยนเลขหมาย และเปิดใช้ชุมสายอัตโนมัติเป็นครั้งแรก เปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์เป็นหน้าปัดแบบหมุน กำหนดเลขหมาย 5 ตัวให้กับผู้เช่าให้สามารถหมุนตัวเลขบนหน้าปัด ติดต่อถึงกันได้เองโดยไม่ต้องผ่านพนักงานต่อสาย
วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2497 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติจัดตั้ง องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยแยกจากกองช่างโทรศัพท์ กรมไปรษณีย์โทรเลข ให้บริการโทรศัพท์ในเขตนครหลวง ประกอบด้วยชุมสายวัดเลียบ ชุมสายบางรัก ชุมสายเพลินจิต และชุมสายสามเสน พนักงาน 732 คน ทรัพย์สิน 50 ล้านบาท
องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ได้สั่งซื้อชุมสายอัตโนมัติระบบ CROSS BAR จากสวีเดน มาติดตั้งครั้งแรกในไทย ที่ชุมสายชลบุรี 1,000 เลขหมาย แล้วจึงเริ่มรับโอนโทรศัพท์ในส่วนภูมิภาคจากกรมไปรษณีย์โทรเลข ครั้งแรก 10 ชุมสาย จำนวนเลขหมายประมาณ 1,600 เลขหมาย และครั้งที่ 2 จำนวน 37 ชุมสาย จำนวน 8,100 เลขหมายในปี 2503
ต่อมาในปี 2507 เริ่มติดตั้งชุมสายครอสบาร์ในนครหลวง โดยติดตั้งที่ชุมสายชัยพฤกษ์เป็นแห่งแรก และที่ชุมสายทุ่งมหาเมฆอีก 4,000 เลขหมาย นอกจากนี้ยังรับโอนชุมสายโทรศัพท์ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากกระทรวงคมนาคม จนปี 2512 จึงรับโอนชุมสายโทรศัพท์จากภาคเหนือ และภาคใต้ มาอยู่ในความรับผิดชอบครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
วันที่ 22 มิถุนายน 2517 องค์การโทรศัพท์ฯ ดำเนินการตัดเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์ในชุมสายระบบครอสบาร์จาก 5 ตัว เป็นเลขหมาย 6 ตัว ยกเว้นชุมสาย STEP-BY-STEP 3 ชุมสาย คือ บางรัก ,พหลโยธิน และ สามเสน จำนวน 20,000 เลขหมาย และเริ่มเปิดให้บริการโทรศัพท์ทางไกลอัตโนมัติโดยไม่ต้องใช้พนักงานต่อระหว่าง เชียงใหม่ - กรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก เมื่อเวลา 09.05 น.ของวันที่ 1 กันยายน 2518
จากนั้นปีต่อมา วันที่ 24 เมษายน 2519 ตัดเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์ในเขตนครหลวง จาก 5 ตัว และ 6 ตัว เป็นเลขหมาย 7 ตัวทั้งหมดและในเขตโทรศัพท์ภูมิภาค เปลี่ยนเป็นเลข 6 ตัว ทุกชุมสาย
จนกระทั่งปี 2520 องค์การโทรศัพท์ฯ เริ่มนำเครื่องโทรศัพท์ชนิดกดปุ่ม มาเปิดให้บริการครั้งแรกในเขตนครหลวง และนำบริการโทรศัพท์ไร้สาย (MULTI ACCESS RADIO TELEPHONE) มาให้บริการแก่ผู้อยู่นอกพื้นที่ข่ายสายโทรศัพท์ทั่วประเทศ โดยให้บริการในรัศมี 30 กิโลเมตร รอบชุมสายที่ติดตั้งสถานีฐานในปี 2521
ปี 2522 เริ่มนำโทรศัพท์สาธารณะแบบผู้ใช้หยอดเหรียญและไม่มีผู้ดูแล มาติดตั้งในเขตโทรศัพท์นครหลวง 100 เครื่อง และเปิดใช้โทรศัพท์ทางไกลอัตโนมัติทางเดียว แห่งที่ 2 กรุงเทพฯ – พัทยา ก่อนที่ปีต่อมาได้เริ่มเปิดบริการโทรศัพท์ทางไกลอัตโนมัติทั่วประเทศ พร้อมยกเลิกชุมสายระบบพนักงานต่อทุกแห่ง เมื่อโทรศัพท์สาธารณะเริ่มได้รับความนิยมและมีผู้ต้องการโทรทางไกลมากขึ้น ในปี 2525 จึงเริ่มให้บริการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลอัตโนมัติ 20 แห่ง ในเขตโทรศัพท์นครหลวง เป็นครั้งแรก
ต่อมาในปี 2527 จึงเปิดให้บริการโทรศัพท์ทางไกลอัตโนมัติระหว่างประเทศครั้งแรก สำหรับผู้เช่าในเขตกรุงเทพฯ
ปี 2529 เริ่มเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ NMT 470 MHz มาเปิดให้บริการ ปรับปรุงระบบค้นหาเลขหมาย 13 และ 183 จากการเปิดสมุดโทรศัพท์เป็นการใช้คอมพิวเตอร์ ซึ่งใช้เวลาเพียง 30 วินาทีต่อการค้นหา 1 เลขหมายเท่านั้น
จนกระทั่งปี 2530 ได้เปิดโอกาสให้ผู้เช่าซื้อเครื่องโทรศัพท์ใช้เอง โดยต้องผ่านการรับรองคุณภาพจาก ทศท.และยังให้ผู้เช่าเดินสายโทรศัพท์ภายในอาคารได้เองด้วย ส่วนโทรศัพท์สาธารณะให้บริการทั่วประเทศถึง 1 ล้านเลขหมายในปี 2531
ก่อนที่จะเริ่มให้บริการในส่วนต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อผู้ใช้บริการมากขึ้น เช่น เปิดบริการเปลี่ยนเรียกเลขหมาย, บริการเรียกซ้ำอัตโนมัติ, บริการเลขหมายด่วน, บริการรับสายเรียกซ้อน, บริการเลขหมายย่อ และบริการประชุมทางโทรศัพท์, เปิดศูนย์บริการรับร้องเรียนเรื่องโทรศัพท์, เปิดรับชำระค่าบริการโทรศัพท์ด้วยวิธีหักบัญชีเงินฝากผ่านธนาคาร, เปิดวงจรเคเบิลใต้น้ำ เพื่อให้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างไทย-มาเลเซีย, เชื่อมโยงเครือข่ายด้วยเคเบิลใยแก้ว และไมโครเวฟ, เปิดรับชำระค่าบริการโทรศัพท์ผ่านเครื่อง ATM, เปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบความถี่ 900 MHz เป็นต้น
ปี 2534 เปิดให้สัมปทานโทรศัพท์สาธารณะแบบใช้บัตร (CARDPHONE) ในเขตนครหลวง, เปิดให้บริการสื่อสารข้อมูลเพื่อธุรกิจผ่านดาวเทียม (ISBN) เพื่อรับ – ส่งข้อมูลระหว่าง คอมพิวเตอร์ โทรสาร โทรศัพท์ และอื่น ๆ, วางระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงใต้น้ำในอ่าวไทย ระยะทาง 1,300 กิโลเมตร ใช้เป็นโครงข่ายพัฒนาระบบโทรคมนาคม การติดต่อสื่อสารทางภาคใต้ของประเทศ
จนในปี 2538 องค์การโทรศัพท์ฯ ได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ด้้วยการทำโครงการโทรศัพท์สาธารณะทางไกลชนบท บัตรโทรศัพท์เฉลิมพระเกียรติ จัดวางเคเบิลใยแก้วนำแสง ส่งสัญญาณโทรทัศน์จากโรงเรียนวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ. ประจวบคีรีขันธ์ ไปยังสถานีดาวเทียมไทยคม จ.นนทบุรี เพื่อลดช่องว่างทางการศึกษาและพัฒนาเยาวชน
เมื่อถึงปี 2540 ได้ทำการปรับเปลี่ยนโทรศัพท์ระบบครอสบาร์ (แบบหมุน) ที่ยังเหลือใช้งานอยู่ เป็นระบบเอสพีซี (แบบกดปุ่ม) ทั้งหมด จำนวนประมาณ 5 แสนเลขหมาย ซึ่งยังใช้อยู่มาจนถึงปัจจุบัน
วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้แปรรูปเป็นบริษัทมหาชนจำกัด แต่ยังคงสถานะรัฐวิสาหกิจ ใช้ชื่อว่า บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TOT Corporation Public Company Limited) ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงโครงสร้างทางราชการ บมจ.ทศท คอร์ปอเรชั่น ได้ย้ายมาสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ต่อมา ทศท คอร์ปอเรชั่น ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อบริษัทเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ใช้ชื่อว่า บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT Public Company Limited) เพื่อให้ชื่อตรงกันทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ พร้อมเปลี่ยนตราสัญลักษณ์เหลือเพียงเครื่องหมายทีโอที
จนกระทั่งวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลสมัยที่ 2 ของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้อนุมัติให้ทีโอทีกับ กสท โทรคมนาคม ควบรวมกิจการกัน ใช้ชื่อว่า บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom Public Company Limited :NT) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินการ และให้บริษัทแห่งใหม่มีพันธกิจในการสนับสนุนนโยบายของรัฐในการพัฒนาระบบดิจิทัลต่อไป โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด 100% ตามเดิม และได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564 ซึ่งภายหลังการควบรวมสำเร็จ ส่งผลให้ NT มีโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรมากที่สุด กลายเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติที่มีศักยภาพในการให้บริการโดยเฉพาะเรื่อง 5G และ ดาวเทียม ทั้งการนำเอาดิจิทัลมาให้บริการภาคการสาธารณสุข การเกษตร และคมนาคม โดย NT จะเป็นผู้รวบรวมบิ๊กดาต้าผ่าน 5G ที่ประมูลได้ซึ่งได้นำมาให้บริการภาคสังคม ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนกัน เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสำคัญ
Advertisement