ในช่วงที่ผ่านมามีรายงานข่าวเกี่ยวกับการค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ "HKU5" ซึ่งถูกตรวจพบในค้างคาว สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนเนื่องจากเกิดความกังวลเกี่ยวกับศักยภาพในการแพร่ระบาด ขณะเดียวกันมีหลากหลายความกังวลใจว่า “HKU5” อาจจะเป็นอันตรายและแพร่ระบาดในมนุษย์ได้
“HKU5” ก็กำลังเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ เนื่องจากไวรัสในตระกูลโคโรนาไวรัส เคยก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ในอดีต เช่น SARS-CoV และ MERS-CoV ซึ่งสามารถแพร่จากสัตว์มาสู่มนุษย์ได้
รู้จัก “HKU5” ไวรัสโคโรนาที่พบในค้างคาว
“HKU5” เป็นไวรัสโคโรนาสายพันธุ์หนึ่งที่ถูกค้นพบในค้างคาว โดยเฉพาะค้างคาวบ้านญี่ปุ่น (Pipistrellus abramus) ในฮ่องกง ซึ่งนักวิจัยจากจีนรายงานว่าพบไวรัสนี้และมีการศึกษาในห้องปฏิบัติการ เมื่อราวปี 2023 HKU5 จัดอยู่ในกลุ่ม Merbecovirus ซึ่งเป็นตระกูลย่อยของโคโรนาไวรัสเหมือนกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคซาร์ส (SARS) แต่ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่หรือไวรัสกลายพันธุ์จากโควิด-19 โดยตรง
จากการวิจัยพบว่า HKU5 โดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อย HKU5-CoV-2 มีความสามารถในการจับกับตัวรับ ACE2 ในเซลล์ของมนุษย์และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางชนิดได้คล้ายกับไวรัสโควิด-19 จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่ามันอาจมีศักยภาพในการแพร่จากสัตว์สู่มนุษย์ได้
ถึงแม้ว่าไวรัส HKU5 จะสามารถจับกับตัวรับ ACE2 ในเซลล์มนุษย์ได้ ซึ่งเป็นตัวรับเดียวกับที่ไวรัส SARS-CoV-2 ใช้ในการเข้าสู่เซลล์ แต่การที่ไวรัสสามารถจับกับตัวรับ ACE2 ได้ ไม่ได้หมายความว่าไวรัสจะสามารถแพร่ระบาดในคนได้
อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้มาจากการทดลองในห้องแล็บเท่านั้น และจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่า HKU5 ได้แพร่ระบาดหรือติดเชื้อสู่มนุษย์จริง ๆ ในธรรมชาติ
กระทรวงสาธารณสุขยืนยัน “ไม่มีการระบาด HKU5-CoV-2”
ขณะเดียวกัน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการแพร่ระบาดหรือข้อมูลทางระบาดวิทยาที่เกี่ยวข้องกับสายพันธุ์ HKU5-CoV-2 ในคนแต่อย่างไร ประชาชนจึงไม่ต้องวิตกกังวลในขณะนี้ สำหรับประเทศไทยได้มีระบบเฝ้าระวังและควบคุมป้องกันโรคระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง ซึ่งทำงานร่วมกันเพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์ไวรัสก่อโรคอย่างต่อเนื่อง และมีความรวดเร็วในการตอบสนองต่อสถานการณ์
“แม้จะยังไม่พบการระบาดของสายพันธุ์ HKU5-CoV-2 แต่มาตรการป้องกันจะไม่แตกต่างจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ที่ก่อโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งไข้หวัดใหญ่ โควิด 19 หรือ RSV คือ หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัด หากจำเป็นต้องไปให้สวมหน้ากากอนามัย หรือสวมเมื่อป่วยมีอาการระบบทางเดินหายใจเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ล้างมือเป็นประจำ โดยบุคคลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและมีอาการรุนแรงสามารถเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคได้ ทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนโควิด 19” นพ.โอภาส กล่าว
ด้านนายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า แม้จะยังไม่พบการระบาดของสายพันธุ์ HKU5-CoV-2 แต่มาตรการป้องกันจะไม่แตกต่างจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ที่ก่อโรคระบบทางเดินหายใจ ทั้งไข้หวัดใหญ่ โควิด 19 หรือ RSV คือ หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัด หากจำเป็นต้องไปให้สวมหน้ากากอนามัย หรือสวมเมื่อป่วยมีอาการระบบทางเดินหายใจเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ล้างมือเป็นประจำ โดยบุคคลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและมีอาการรุนแรงสามารถเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคได้ ทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนโควิด-19
มาตรการป้องกันไวรัสใช้ได้ทุกสายพันธุ์
ไวรัสมีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีความสามารถในการแพร่เชื้อหรือความรุนแรงที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามมาตรการป้องกันไวรัสโดยทั่วไปมักใช้ได้ผลกับไวรัสหลายสายพันธุ์
- ล้างมือบ่อย ๆ หรือใช้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ สามารถช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้
- สวมหน้ากากอนามัย ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสผ่านทางละอองฝอยจากการไอ จาม หรือพูดคุย
- หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด สถานที่ที่มีคนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก มีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าโดยไม่จำเป็น ป้องกันโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน สัตว์ป่าหลายชนิดเป็นพาหะของเชื้อโรคที่สามารถแพร่สู่คนได้
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อ รวมถึงโรคที่เกิดจากไวรัส การฉีดวัคซีนสามารถช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสได้
ถึงแม้ว่ายังคงมีความกังวลเกี่ยวกับเชื้อไวรัสนี้อยู่และเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ในขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าไวรัสนี้จะก่อให้เกิดการระบาดใหญ่หรือเป็นภัยร้ายแรงในมนุษย์ ดังนั้นการเฝ้าระวังและการเตรียมพร้อมยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
Advertisement