ทำความรู้จักธุรกิจขายตรง เพื่อไม่พลาดตกเป็นเหยื่อของแชร์ลูกโซ่ จุดสังเกตเห็นได้ไม่ยาก อย่าให้ความโลภครอบงำจนทำให้ต้องสูญเสียเงินทองให้กับมิจฉาชีพ
สภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง และการมาถึงของยุคที่โซเชียลมีเดียแพร่หลาย หลายคนฝันอยากเห็นตัวเองประสบความสำเร็จ ร่ำรวยแบบคนอื่น ทำให้มิจฉาชีพเห็นช่องทางตรงนี้จึงเกิด "ธุรกิจแชร์ลูกโซ่" ที่แอบแฝงเข้ามาในระบบของ "ธุรกิจขายตรง" หลอกขายฝันว่าจะมีเงินทองเข้าบัญชีแบบไม่จำกัด กลายเป็นเศรษฐีได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว แต่สุดท้ายไม่ได้เป็นอย่างที่โฆษณา ทิ้งไว้เพียงแต่หนี้สิน ความเจ็บช้ำ และภาระที่ต้องแบกไว้บนบ่ายากที่จะปลดออกให้เบาลง จึงอยากให้ทุกคนรู้จัก ธุรกิจขายตรง กับ แชร์ลูกโซ่ ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อไม่ให้พลาดตกเป็นเหยื่อ
ธุรกิจขายตรง คืออะไร
ขายตรง หมายถึง การทำตลาดสินค้า หรือบริการในลักษณะของการนำเสนอขายต่อผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภค หรือของผู้อื่น หรือสถานที่อื่นที่มิใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ โดยผ่านตัวแทนขายตรง หรือผู้จำหน่ายอิสระชั้นเดียวหรือหลายชั้นแต่ไม่รวมถึงนิติกรรมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ผู้บริโภค หมายถึง ผู้ซื้อ หรือ ผู้ได้รับบริการจากผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง หรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือชักชวนจากผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ
ผู้จำหน่ายอิสระ หมายถึง บุคคลที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและนำสินค้าหรือบริการดังกล่าวไปเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค
ตัวแทนขายตรง หมายถึง บุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงให้นำสินค้าหรือบริการไปเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค
ความเป็นมาของธุรกิจขายตรง
ธุรกิจขายตรง เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท เซาธ์เวสเทิร์น ในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการแรกที่นำการขายตรงมาใช้ บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1855 ในฐานะผู้พิมพ์และจัดจำหน่ายพระคัมภีร์ ในปี 1868 ได้จัดตั้งแผนกขายตรงขึ้น เปิดโอกาสให้นักเรียนหารายได้เป็นค่าเล่าเรียนด้วยการนำหนังสือไปขายตามบ้าน ก่อนที่จะเริ่มมีบริษัทอื่นๆ เห็นถึงความสำเร็จจึงได้เริ่มทำธุรกิจแบบขายตรงตามกันมา
จากนั้นในปี ค.ศ. 1910 บริษัทขายตรง 10 บริษัท ได้รวมตัวกันจัดตั้งสมาคมการขายตรง (The Direct Selling Association หรือ DSA) ขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมขายตรงของสหรัฐอเมริกา โดยแรกเริ่มใช้โครงสร้างแผนการจ่ายผลตอบแทนแบบดั้งเดิม ก่อนจะพัฒนาเป็นแผนการจ่ายผลตอบแทนแบบเครือข่ายและแบบหลายชั้นมาใช้จนถึงปัจจุบัน
ความเป็นมาของธุรกิจขายตรงในประเทศไทย
ระยะเริ่มต้น ก่อนการก่อตั้งสมาคมการขายตรงไทย พ.ศ.2526 (ปี 1983) มีบริษัทขายตรงต่างชาติเข้ามาเปิดดำเนินธุรกิจขายตรงในเมืองไทย ส่วนใหญ่จะมาจากการขยายตัวจากประเทศสหรัฐอเมริกา และยังเป็นการขายตรงระบบชั้นเดียวซึ่งทำให้คนไทยในฐานะผู้บริโภคเริ่มได้สัมผัสกับวิธีขายที่มีคนนำเสนอสินค้าถึงบ้าน ใช้วิธีการสาธิตสินค้าให้เห็น ได้ลองใช้ผลิตภัณฑ์ก่อนการตัดสินใจซื้อ รวมทั้งเริ่มคุ้นเคยว่าอาจมีญาติหรือเพื่อนๆ ของตนเองเป็นผู้ขายสินค้า
สำหรับผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายจะมีลักษณะสองแบบคือ เป็นอาชีพเสริมให้กับแม่บ้านที่มีเวลาว่าง และขายสินค้าให้กับเพื่อนๆ และญาติๆ ผลิตภัณฑ์ที่นำเสนอจึงเหมาะกับแม่บ้านเสียส่วนใหญ่ เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์กล่องพลาสติกบรรจุอาหาร ชุดชั้นใน ส่วนอีกลักษณะหนึ่งคือ เป็นอาชีพนักขายอิสระ ขายสินค้าที่ต้องอาศัยการสาธิต หรือมีรายละเอียดที่จะต้องอ้างถึงมาก เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า การทำธุกิจขายตรงในยุคนี้ไม่ได้เน้นการทำตลาดโดยใช้มีเดีย เช่น ไม่มีการโฆษณาสินค้าในทีวี คนทั่วไปจะรู้สึกว่าธุรกิจขายตรงเป็นอาชีพเสริม หรือ เป็นเซลส์แมน บริษัทผู้ประกอบการเป็นบริษัทต่างชาติมากกว่า แต่ก็เริ่มมีบริษัทไทยบ้างแล้วเช่นกัน
ระยะที่สอง พ.ศ. 2530 - 2540 (ปี 1987-1997) คนไทยเริ่มคุ้นเคยกับธุรกิจขายตรงมากขึ้น บริษัทขายตรงจากต่างประเทศยังคงขยายตัวเข้าสู่ประเทศไทย เปลี่ยนภาพลักษณ์ธุรกิจขายตรงที่ส่วนใหญ่เป็นผู้จำหน่ายอิสระผู้หญิง มาเป็นผู้จำหน่ายอิสระทั้งหญิงและชาย เน้นการเป็นนักขายมืออาชีพ เริ่มเป็นทั้งอาชีพเสริมและอาชีพหลัก และมีการพัฒนาเพิ่มกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าอย่างต่อเนื่องจนครอบคลุมหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ เริ่มมีผู้ประกอบการไทยหรือผู้ประกอบการไทยหุ้นกับผู้ประกอบการประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น บริษัทส่วนใหญ่จะใช้แผนการตลาดแบบหลายชั้น เป็นจุดเด่นที่สร้างความแตกต่างจากบริษัทขายตรงชั้นเดียวในระยะแรก ผู้บริโภคคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าจากระบบขายตรงมากขึ้น และยอมรับช่องทางการขายลักษณะนี้มากขึ้น ความรู้สึกของคนทั่วไปจะมองธุรกิจขายตรงว่าเป็นธุรกิจของนักขายซึ่งเป็นอาชีพหลักมากขึ้น และเป็นอาชีพของทั้งหญิงและชาย ภาพของการเป็นอาชีพเสริมของแม่บ้านเริ่มเลือนไป
ระยะที่สาม พ.ศ. 2540 – ถึงปัจจุบัน เป็นช่วงที่ธุรกิจขายตรงคึกคักที่สุด ผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าที่มีคุณภาพ ผู้จำหน่ายอิสระได้รับประโยชน์เต็มที่จากความมุ่งมั่นพยายาม เริ่มเป็นอาชีพที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป ภาพลักษณ์ถูกเปลี่ยนไปจากนักขายอิสระมาเป็น เจ้าของธุรกิจอิสระ สามารถได้รับรายได้ที่ไม่จำกัด บริหารองค์กรของตนเองให้เกิดผลลัพธ์ มีระบบฝึกอบรม ดูแลลูกค้า ไม่ได้เพียงแค่ขายสินค้าเท่านั้น โดยข้อมูลจาก สมาคมการขายตรงไทย ระบุว่า ตลาดขายตรงของไทยสร้างยอดขายมูลค่าในปี 2023 รวมกันสูงถึง 75,200 ล้านบาท โดยยอดขายสูงสุดอยู่ที่ปี 2019 อยู่ที่ 93,467 ล้านบาท โดยปัจจุบันประเทศไทยมีนักขายตรงอยู่ที่ประมาณ 11 ล้านคน
ขณะเดียวกันช่วงที่ธุรกิจขายตรงกำลังเติบโต ธุรกิจแชร์ลูกโซ่ได้เข้ามาแอบแฝง ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้คนในวงกว้าง หลายคนถูกหลอกให้ลงทุนทั้งการสมัครเป็นสมาชิก การซื้อสินค้า การจ่ายค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่สูงเกินจริง ซึ่งหากไม่สังเกตให้ดีอาจจะแยกแยะธุรกิจขายตรงกับแชร์ลูกโซ่ไม่ออก
ความแตกต่างระหว่าง ธุรกิจขายตรงและแชร์ลูกโซ่
ธุรกิจขายตรงที่ถูกต้อง
1.ค่าธรรมเนียมในการสมัครต่ำ เงินค่าสมัครจ่ายเพื่อคู่มือความรู้ เอกสารฝึกอบรม และสินค้าตัวอย่างเท่านั้น
2.จำหน่ายสินค้าหลากหลายชนิดที่มีคุณภาพสูง มียอดขายมาจากการจำหน่ายสินค้าได้ซ้ำอีกเรื่อยๆและความพึงพอใจของลูกค้าเป็นสำคัญ บริษัทจะทุ่มเทเงินจำนวนมากเพื่อการวิจัยค้นคว้าและพัฒนาคุณภาพสินค้า
3.รับประกันคุณภาพความพอใจของสินค้าโดยการคืนเงิน ลูกค้าสามารถเปลี่ยนหรือคืนสินค้ากับบริษัทได้เมื่อต้องการภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
4.ตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจระยะยาว สิ่งนี้สำคัญมาก เพราะบริษัทมีความรับผิดชอบต่อผู้ขายซึ่งเป็นผู้ที่ดำเนินธุรกิจอย่างแท้จริง
5.การจ่ายผลตอบแทน รายได้ และตำแหน่ง จะขึ้นอยู่กับการทำงานของผู้ขาย นั่นหมายถึงรายได้จะมาจากยอดขายที่ขายสินค้าได้
6.การก่อตั้งธุรกิจขึ้นอยู่กับการขายสินค้าคุณภาพ ซึ่งคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปผู้ขายจะให้ความสนใจในการขยายตลาดให้กว้างออกไป
7.มีผู้ขายอิสระที่อาศัยการขายสินค้าเพื่อสร้างรายได้
8.มีกฎระเบียบที่เข้มงวดในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะมีข้อห้ามมิให้ผู้ขายเก็บตุนสินค้า
9.ผู้ขายจะเน้นการขายสินค้าและบริการ
10.ธุรกิจถูกต้องตามกฎหมายและเป็นการขายสินค้าอีกรูปแบบหนึ่งที่นอกเหนือจากการขายตามห้าง ซึ่งผู้บริโภค นักขายตรงและบริษัทขายตรงก็ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย
ธุรกิจแชร์ลูกโซ่
1.ค่าธรรมเนียมจากการสมัครสูง ผู้สมัครจะถูกหลอกให้จ่ายค่าฝึกอบรมและซื้อสินค้าเกินความต้องการ ผลกำไรของระบบปิระมิดส่วนใหญ่จะมาจากการรับสมัครสมาชิก
2.ไม่สนใจที่จะจำหน่ายสินค้าคุณภาพ สินค้าส่วนใหญ่จะมีคุณภาพต่ำและได้ผลกำไรสูง รายได้จะมาจากการรับสมัครสมาชิกใหม่ ซึ่งจะถูกบังคับให้ซื้อสินค้าที่มีราคาสูงเป็นจำนวนมาก
3.ไม่มีนโยบายรับซื้อสินค้ากลับคืน เพราะนโยบายนี้จะทำให้ ระบบปิระมิดล้มได้
4.ร่ำรวยในเวลาอันรวดเร็ว (Get-rich-quick scheme) ผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่ฐานของปิระมิดจะเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่คนไม่กี่คนที่อยู่ในระดับจุดยอดของปิระมิด ซึ่งธุรกิจรูปแบบนี้ไม่สามารถอยู่ได้ยาวนาน
5.ตำแหน่งในระบบสามารถซื้อได้
6.ระบบนี้ไม่เน้นการขายสินค้าให้กับผู้บริโภค แต่ผลกำไรจะมาจากสมาชิกที่สมัครใหม่ ซึ่งพวกเขาจะต้องซื้อสินค้าเก็บตุน ไม่ใช่เพราะสินค้ามีประโยชน์หรือมีราคาดี แต่ถูกบังคับให้ซื้อตามระบบ สมาชิกใหม่จะรับภาระกับสินค้าที่ตนขายไม่ได้ และเมื่อระบบปิระมิดนี้ล้ม พวกเขาจะไม่ได้รับเงินลงทุนกลับคืนเลย
7.ฉ้อฉลหลอกลวงคนให้เข้ามาในระบบ
8.ผู้เข้าร่วมจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในการสมัครที่สูงหรือจ่ายค่าสินค้าที่ถูกบังคับให้ซื้อในตอนที่สมัคร
9.ในระบบนี้จะเน้นการรับสมัครสมาชิกใหม่เป็นหลัก และบังคับให้ซื้อสินค้าเมื่อเริ่มสมัคร แต่ไม่สนใจการขายสินค้าจริงๆ หรือบริการหลังการขาย
10.เป็นระบบที่ผิดกฎหมายในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และหลายประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชีย
ทั้งนี้ บทลงโทษของการชักชวนคนมาลงทุน แล้วไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนตามที่กล่าวอ้าง ถือว่าเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 มีโทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี และปรับ 50,000-1,000,000 บาท และมีความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และนี่คือความแตกต่างของระบบธุรกิจขายตรงและธุรกิจแชร์ลูกโซ่ การลงทุนล้วนมีความเสี่ยงทั้งสิ้น หากคิดจะทำธุรกิจควรศึกษาข้อมูลให้ดี ตั้งสติดูให้ชัด อย่าให้ความโลภมาบังตา จนถลำกลายเป็นเหยื่อ และช่วยกันบอกต่อความรู้ข้อมูลเหล่านี้กับคนใกล้ชิดให้ระมัดระวังในการลงทุน
Advertisement