อาจารย์เจ้าของเพจดัง คำนวณหลักการได้ยินของพระสงฆ์ 1,250 รูป ได้ยินคำสอนของพระพุทธเจ้าได้อย่างไร ยุคนั้นไม่มีไมโครโฟน
จากกรณี อาจารย์น้องไนซ์ เชื่อมจิต ได้ให้สัมภาษณ์กับ อมรินทร์ทีวี โดยในช่วงหนึ่งอ้างถึงการที่พระพุทธเจ้าแสดงธรรม ว่ามีการเชื่อมจิต คือการสอนในสมาธิ ในยุคนั้นไม่มีไมโครโฟน คนมาฟังเป็นร้อยเป็นพันคน ถ้าไม่สอนในจิตจะได้ยินได้อย่างไร ประเด็นดังกล่าวเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันเป็นวงกว้าง
ล่าสุด เพจฯ Boomrhino ของ บูม พีรพล การุณวิวัธน์ ดีไซเนอร์ และเป็นที่รู้จักในนามของครูสอนโปรแกรมสามมิติที่ใช้ในงานออกแบบเช่น Rhino Grasshopper และ 3ds Max ได้ออกมาคำนวณถึงหลักการได้ยินของพระสงฆ์ 1,250 รูป จะได้ยินสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนได้อย่างไร
โดยทางเพจฯ ได้ระบุว่า “มีนักเรียนถามถึงวิธีการใช้ Grasshopper เพื่อคำนวณความดังของเสียงที่พระสงฆ์ 1,250 รูปได้ยินจากพระพุทธเจ้า ซึ่งความดังของเสียงมนุษย์ปกติอยู่ที่ประมาณ 60 ถึง 70 เดซิเบล (dB)”
เบื้องต้น สูตรคำนวณความดังของเสียงจากแหล่งกำเนิดถึงผู้ฟังที่ระยะต่างๆ สูตรเป็นดังนี้:
L2 = L1 – (20 * log10(r2/r1))
โดยที่:
L2 = ความดังที่ตำแหน่งผู้ฟัง
L1 = ความดังที่แหล่งกำเนิด
r2 = ระยะทางจากแหล่งกำเนิด ถึงผู้ฟัง
r1 = ระยะห่างอ้างอิง (โดยทั่วไปคือ 1 เมตร)
เมื่อใช้ Grasshopper จัดการนั่งของพระสงฆ์ให้แผ่ออกเป็นวงกลมโดยมีพระพุทธเจ้าเป็นศูนย์กลางและทำการแบ่ง space การนั่งเป็นรูปแบบ organic โดยมีพื้นที่เฉลี่ยต่อคน 0.84 ตารางเมตร ซึ่งเป็นการนั่งแบบไม่เบียดแน่นกันจนเกินไป
ผลลัพธ์ที่ได้คือ
พระสงฆ์ที่นั่งห่างจากพระพุทธเจ้ามากที่สุดจะอยู่ที่ระยะ 18 เมตร ซึ่งจะได้ยินเสียงที่ 24.97 ถึง 34.97 เดซิเบล นับว่าเป็นระดับเสียงที่สามารถได้ยินได้โดยไม่ต้องใช้ไมโครโฟน
นอกจากนี้ ทางเพจยังเผยข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า “ขออนุญาตตอบคำถามสองข้อที่มีคนส่งข้อความมาถามค่อนข้างมาก และต้องยอมรับว่าในหลายขั้นตอนไม่ใช่เรื่องที่อธิบายได้ง่ายนัก”
คำถามคือ
1.รู้ได้อย่างไรว่าพระนั่งล้อมเป็นวงกลมสมบูรณ์
2.พระที่นั่งอยู่ข้างหลังพระพุทธเจ้าจะยังสามารถได้ยินเสียงของพระพุทธเจ้าได้หรือไม่
คำชี้แจ้งคือ
1. เราไม่ได้ยึดติดในความเป็นไปได้ในรูปแบบผังการนั่งของพระสงฆ์รูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่เราจะใช้ชุดอัลกอริทึมที่เรียกว่า "Form-Finding" เพื่อมองหาทุกความเป็นได้
รายละเอียดของอัลกอริทึมชุดนี้ประกอบด้วยสองส่วนหลักๆ คือ
1.1 parametric modeling ในส่วนนี้จะสามารถผลิตความเป็นไปได้ของลักษณะผังการนั่งนับไม่ถ้วนรูปแบบ
1.2 เงื่อนไขที่บังคับว่าไม่ว่ารูปแบบใด ๆทุกที่นั่งของพระสงฆ์จะต้องได้ยินเสียงอย่างหน่อย 10 เดซิเบล
2. สูตรสมบูรณ์ที่เขียนมานั้น มีการคำนวณลักษณะการกระจายของเสียงในทิศทางต่าง ๆเรียบร้อย ซึ่งทำให้เราทราบได้ว่า คนที่นั่งอยู่หลังพระพุทธเจ้านั้นได้ยินเสียงเบาลงมาก แต่ผลคำนวณนั้นไม่มีผู้ใดได้ยินเสียงต่ำกว่า 10 dB ซึ่งก็แปลว่าทุกคนยังสามารถได้ยินเสียงได้อยู่นั่นเอง
ปัญหาหลักที่เจอคือ ถึงแม้การคำนวณด้วยคอมพิวเตอร์นั้นจะรวดเร็วมาก โดยเราสามารถมองเห็นความเป็นไปได้นับพันรูปแบบที่สามารถเกิดขึ้นได้จริงตามเงื่อนไขที่กำหนด แต่รูปแบบการแสดงผลนั้นจะเป็นเพียงจุดกับตัวเลขซึ่งอาจจะอ่านได้เฉพาะผู้เชี่ยวชาญ จึงนำมาสู่ขั้นตอนต่อไปที่กินทรัพยากรของคอมพิวเตอร์มากพอสมควรนั่นก็คือ การจำลองเพื่อการสื่อสาร ซึ่งจะต้องทำการจัดเรียงโมเดลพระที่มีลักษณะเป็น low poly มาวางตำแหน่งการนั่งจริงเพื่อวิเคราะห์เรื่องความสบายในการนั่ง และทำให้สื่อสารได้ง่าย
ผลจากขั้นตอนนี้ทำให้การแสดงผลวิเคราะห์ในบางขั้นตอนถูกปรับใช้เป็นแบบอย่างง่ายเพื่อให้การคำนวณไม่หนักหน่วงเกินไป อย่างไรก็ตามตอนนี้ได้นำเอาแบบที่จำลองด้วยสูตรสมบูรณ์มาให้ดูเป็นตัวอย่าง 6 แบบเรียบร้อยตามภาพด้านล่าง
ปล. ในงานออกแบบสถาปัตยกรรมนั้น จะมีงานออกแบบที่ต้องมีการคำนวณที่ว่าด้วยเรื่อง acoustic อยู่ไม่น้อย ซึ่งการคำนวณนั้นถือว่าซับซ้อนและละเอียดอ่อนมาก เราต้องคำนึงถึงทุกตัวแปร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสะท้อนเสียง การซับเสียง วัสดุต่าง หรือปัจจัยอื่น ๆอีกมาก โดยมีตัวอย่างการใช้ Grasshopper เพื่อคำนวณให้เห็นมามากมาย
Advertisement