Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เลือกตั้งล่วงหน้า (7 พ.ค.) ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร ลงคะแนนได้ถึงเวลาไหน

เลือกตั้งล่วงหน้า (7 พ.ค.) ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร ลงคะแนนได้ถึงเวลาไหน

6 พ.ค. 66
15:25 น.
แชร์

เลือกตั้งล่วงหน้า (7 พ.ค.) เช็กรายชื่อได้ที่ไหน ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร ลงคะแนนได้ถึงเวลาไหน

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้ประชาชนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม 2566 ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้ว จะต้องไปใช้สิทธิในวันดังกล่าว ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือไปใช้สิทธิในวันเลือกตั้งจริง 14 พฤษภาคม 2566 ได้แล้ว

ช่องทางการตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

1.ตรวจสอบรายชื่อจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ด้วยตนเอง ณ ที่เลือกตั้ง ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการเขตที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล สำนักงานเทศบาล ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หรือเขตชุมชนใกล้บ้าน

2.ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ที่เว็บไซต์ของสำนักบริหารการทะเบียน https://boraservices.bora.dopa.go.th/election/enqelection/

เอกสารที่จะต้องเตรียมไปเลือกตั้ง

ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต เช็กสิทธิเลือกตั้ง และลำดับที่ในบัญชีของตนเอง อย่าลืมพกบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารที่ราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักไปด้วย เช่น หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ หรือจะโหลดแอป ThaID เพื่อแสดงบัตรประจำตัวประชาชนแบบอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้

หากมีเอกสารที่ได้รับจากการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ไม่ว่าจะเป็นการลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ หรือที่สำนักงานเขต อำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น ให้นำไปเผื่อแสดงเป็นหลักฐานด้วย จะบันทึกเอกสารเป็นไฟล์ PDF หรือภาพ ใส่โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต หรือจะปรินต์ออกมาก็ได้ เอกสารเหล่านี้จะจำเป็นต้องใช้ ในกรณีที่เราลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่พบรายชื่อในบัญชี จะได้มีเอกสารยืนยันกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งว่าเราได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้วจริงๆ

ขั้นตอนการเลือกตั้งล่วงหน้า

1.เช็กเบอร์พรรค เบอร์ ส.ส.ที่ต้องการเลือก

เช็กเบอร์พรรคการเมืองเพื่อเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (บัตรสีเขียว) และเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต (บัตรสีม่วง) ของเขตที่เรามีสิทธิ

2.เข้าแถวตามจังหวัดที่ตนมีสิทธิเลือก

เนื่องจากหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากทั่วสารทิศมาใช้สิทธิ เมื่อไปถึงหน้าหน่วยเลือกตั้ง ให้เข้าแถวแยกตามป้ายจังหวัดที่ตนมีสิทธิ

3.แสดงตนกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง

แสดงตนกับเจ้าหน้าที่ โดยแจ้งลำดับที่ในบัญชีรายชื่อของเรา และยื่นบัตรประชาชน หรือเอกสารที่ราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก และมีรูปถ่าย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้เราลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขต และเจ้าหน้าที่ก็จะระบุ จังหวัด เขตเลือกตั้ง และรหัสเขตเลือกตั้งที่เรามีสิทธิลงบนซองใส่บัตรเลือกตั้ง ให้ดูด้วยว่าจังหวัดและเขตที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง ระบุบนหน้าซองถูกต้องหรือไม่ บนซองจะต้องมีการเจาะรูทั้งสองข้างเพื่อให้เห็นบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบได้จากภายนอก ต่อมา จะส่งบัตรประชาชนและซองใส่บัตรเลือกตั้งของเรา ให้เจ้าหน้าที่คนที่ 2

4.รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ กับเจ้าหน้าที่

รับบัตรเลือกตั้งกับเจ้าหน้าที่ หลังจากเจ้าหน้าที่คนที่ 2 ได้รับบัตรประชาชนและซองใส่บัตรเลือกตั้งหนึ่งซองของเรามาแล้ว เจ้าหน้าที่คนที่ 2 จะจดลำดับที่ในบัญชีรายชื่อของเรา ไว้ที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง และให้เราลงลายมือชื่อที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งด้วย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะลงลายมือชื่อกำกับตรงต้นขั้วบัตรเลือกตั้งเช่นกัน แล้วส่งมอบบัตรเลือกตั้งและบัตรประชาชนคืนมาให้เรา

ถ้าหากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วมือของนิ้วโป้งข้างขวา ถ้าไม่มีนิ้วโป้งขวาให้พิมพ์ลายนิ้วมือนิ้วโป้งซ้าย แต่ถ้าไม่มีนิ้วโป้งทั้งสองข้าง ให้พิมพ์ลายนิ้วมืออื่นแทนและกรรมการประจำหน่วยจะใส่หมายเหตุไว้

5.เข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง

เข้าคูหา ทำเครื่องหมาย “กากบาท” ในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ จะนำปากกาไปเองหรือใช้ปากกาที่อยู่ในคูหาก็ได้ (แนะนำเป็นปากกาสีน้ำเงินจะได้เห็นชัด)

บัตรเลือกตั้งใบแรก เลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต (สีม่วง) จะมีแค่เบอร์มาให้ ไม่มีข้อมูลชื่อ-นามสกุล ไม่มีโลโก้พรรค ต้องจำเบอร์คนที่ต้องการเลือกให้ได้

345314316_773760464298894_449

บัตรเลือกตั้งใบที่สอง เลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง (สีเขียว) จะมีโลโก้พรรคการเมืองระบุไว้ในบัตร ต้องจำเบอร์พรรคการเมืองที่ต้องการเลือกให้ได้

345229818_208627121966989_499

ให้ทำเครื่องหมาย “กากบาท” ในช่องว่างสำหรับทำเครื่องหมาย ห้ามทำเครื่องหมายอื่นเด็ดขาด โดยให้กาแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่ละใบเลือกได้เพียงเบอร์เดียว อย่ากาหลายเบอร์

344855917_1637776566734596_77

หากไม่ต้องการเลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตคนใดเลย และ/หรือ ไม่ประสงค์จะเลือกบัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองใดเลย ให้ทำเครื่องหมายกากบาทในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”

6.นำบัตรเลือกตั้งใส่ซอง ปิดผนึก ส่งให้เจ้าหน้าที่เซ็นกำกับ

หลังจากกาในช่องทำเครื่องหมายกากบาท ของบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบแล้ว ให้นำบัตรเลือกตั้งใส่ซองใส่บัตรเลือกตั้ง และปิดผนึกซองให้เรียบร้อย อย่าเพิ่งนำบัตรเลือกตั้งไปหย่อนใส่กล่อง แต่ให้นำบัตรเลือกตั้งที่ใส่ซองเรียบร้อยแล้ว ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบดูก่อนว่าใส่บัตรและปิดผนึกเรียบร้อยหรือไม่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะลงลายมือชื่อกำกับตรงรอยต่อผนึกซองบัตรเลือกตั้งและปิดทับรอยต่อผนึกซอง ด้วยเทปกาวใส กลไกนี้จะทำให้ช่วยตรวจสอบได้ว่า ซองใส่บัตรเลือกตั้งถูกเปิดหรือไม่

7.หย่อนซองใส่บัตรเลือกตั้งลงหีบด้วยตนเอง

หลังจากเจ้าหน้าที่จัดการกับซองใส่บัตรเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งซองใส่บัตรเลือกตั้งคืนกลับมาให้ ให้นำซองใส่บัตรเลือกตั้ง ไปหย่อนลงในหีบบัตรเลือกตั้ง โดยหีบจะมีใบเดียว และบัตรแต่ละประเภท (เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต - บัญชีรายชื่อ) จะถูกนำไปแยกภายหลัง โดยที่ซองใส่บัตรจะมีรูเพื่อให้เห็นว่ามีบัตรสองใบ สองสี เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนทั้งหมด

Advertisement

แชร์
เลือกตั้งล่วงหน้า (7 พ.ค.) ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร ลงคะแนนได้ถึงเวลาไหน