NARIT ชวนร่วมโหวตชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ชูความเป็นไทยร่วมเป็นหนึ่งในเอกภพชูความเป็นไทยร่วมเป็นหนึ่งในเอกภพ
วันที่ 16 พ.ย. สหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ หรือ IAU (The International Astronomical Union) จัดกิจกรรม "NameExoWorlds" เปิดโอกาสให้ทุกประเทศทั่วโลกร่วมเสนอชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ประเทศละ 1 ระบบ ซึ่งในครั้งนี้ กิจกรรมตั้งชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะน่าสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะระบบนี้ จะเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ในอนาคต
ประเทศไทย โดย NARIT ในฐานะหน่วยงานดาราศาสตร์ของไทย และหนึ่งในสมาชิกระดับประเทศของสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติ ได้รับสิทธิ์ให้เข้าร่วมเสนอชื่อ “ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเป็นชื่อไทย” ได้แก่ ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ GJ 3470b
GJ3470b เป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดวงแรก ที่นักดาราศาสตร์ไทยได้ศึกษาวิจัยและสังเกตการณ์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ของไทย ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา หรือหอดูดาวแห่งชาติ ตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ นับเป็นก้าวแรกในการเริ่มต้นศึกษาเกี่ยวกับดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะของไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งในปี 2566 ที่จะถึงนี้จะครบรอบ 10 ปีที่เปิดใช้งานหอดูดาวแห่งชาติ ดวงตาแห่งเอกภพของไทย หอดูดาวขนาดใหญ่มาตรฐานโลก ซึ่งไม่เพียงแต่ใช้ศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเท่านั้น ยังเป็นห้องปฏิบัติการดาราศาสตร์ที่สำคัญสำหรับศึกษาวัตถุท้องฟ้าแก่นักวิจัยไทยและนานาชาติ
NARIT จึงจัดกิจกรรม “ ชวนเสนอชื่อไทยให้ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ” ขึ้นเพื่อสรรหา และคัดเลือกชื่อไทยที่เหมาะสม ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมเสนอชื่อดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะดังกล่าวเป็นชื่อไทย เพื่อเสนอไปยังสหพันธ์ดาราศาสตร์นานาชาติเห็นชอบ และประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป และยังเป็นการร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี หอดูดาวแห่งชาติ ในวาระดังกล่าวด้วย
บัดนี้ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้พิจารณาเลือกชื่อที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 2 ชื่อ ประกอบด้วย ชื่อดาวฤกษ์แม่ และดาวเคราะห์นอกระบบที่โคจรรอบดาวฤกษ์แม่ ดังนี้
[1] แก้วโกสินทร์ (Kaewkosin) – ไพลินสยาม (Phailinsiam)
แนวคิดการตั้งชื่อ : ในความเชื่อแต่โบราณ ดวงดาวที่ส่องแสงระยิบระยับบนท้องฟ้าคือแก้วรัตนชาติที่ประดับสรวงสวรรค์ บนสวรรค์มีพระอินทร์เป็นใหญ่ปกครองเหล่าเทวดาพร้อมด้วยแก้ววิเศษ ดาวแม่จึงมีชื่อว่า “แก้วโกสินทร์” อีกนัยยะ คือ รัตนโกสินทร์ คือยุคที่ค้นพบดาวนี้ และมีดาวบริวารเป็นรัตนชาติสีฟ้า คือ “ไพลินสยาม” ที่มีชื่อคล้องจองกัน เป็น “แก้วโกสินทร์” และ “ไพลินสยาม”
[2] ทับทิมไทย (Thabthimthai) - ไพลินล้อม (Phailinlom)
แนวคิดการตั้งชื่อ : ดวงดาวเปรียบเหมือนอัญมณีแห่งท้องฟ้า และ นพรัตน์ หรือ นพเก้า ก็เป็นอัญมณีมงคลคู่สังคมไทยมายาวนาน จึงอยากให้ชื่ออัญมณีไทยจารึกไว้บนท้องฟ้าเป็นชื่อของดาวทั้ง 2 ดวงในระบบนี้ ประกอบด้วย “ทับทิมไทย” มาจาก ทับทิมสยาม ราชาแห่งอัญมณีโบราณ มีสีแดงสื่อถึงดาวฤกษ์แม่ GJ 3470 ซึ่งเป็นดาวแคระแดง ส่วน “ไพลินล้อม” เป็นชื่อดาวเคราะห์ เนื่องจากไพลินมีสีน้ำเงินเช่นเดียวกับ GJ 3470 b และโคจร “ล้อม” รอบดาวฤกษ์แม่
เปิดให้โหวตตั้งแต่วันนี้ - 2 ธันวาคม 2565 ทาง https://bit.ly/NameExoWorldTH2022-Vote
สงวนสิทธิ์ 1 คน โหวตได้ 1 ครั้งเท่านั้น
*ผู้ร่วมกิจกรรม ลุ้นรับตั๋วชมท้องฟ้าจำลองในกำกับของ NARIT จำนวน 10 รางวัล รางวัลละ 2 ที่นั่ง
Advertisement