(23 ก.ค. 2568) พล.ร.ต.สุรสันต์ คงสิริ โฆษก ศบ.ทก. ฝ่ายความมั่นคง และ นางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงผลการประชุมศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา หรือ ศบ.ทก. ประจำวันพุธที่ 23 ก.ค. 2568
พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวว่า จากมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางผ่านๆให้แรงงานสัญชาติกัมพูชามาทำงานบริเวณชายแดน กรณีแรงงานต่างด้าวใช้เอกสารบุคคล Border Pass เป็นเอกสารแสดงตน ทั้งที่มีอายุหรือหมดอายุ ซึ่งได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร และอนุญาตให้พำนักในพื้นที่ชายแดนที่ได้รับอนุญาตนั้นสิ้นสุดลง ได้มีการผ่อนผันให้อยู่เป็นกรณีพิเศษ เพื่อทำงานได้เป็นระยะเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ประกาศของกระทรวงมหาดไทยมีผลบังคับใช้ 7 มิ.ย. 2568 หรือจนกว่ามาตรการควบคุมการผลิตระหว่างประเทศจะกลับสู่สภาวะปกติ
และให้ยกเว้นการเปรียบเทียบปรับคนต่างด้าวกรณีอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาที่กำหนด โดยให้คนงานต่างด้าวดำเนินการยื่นคำขออนุญาตทำงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งชำระค่ายื่นคำขอรวมทั้งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงาน โดยจะได้รับอนุญาตทำงานครั้งละ 3 เดือน และหากประสงค์ที่จะทำงานในราชอาณาจักรต่อไป ให้ยื่นคำขออนุญาตทำงาน พร้อมกับทั้งเอกสารและหลักฐานต่างๆที่กำหนด และชำระค่าธรรมเนียมภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ที่ยื่นคำขอ และขอให้คนงานต่างด้าวไปดำเนินการตรวจสุขภาพกับสถานพยาบาลของรัฐ และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตน สำหรับแรงงานต่างด้าวทำงานในกิจการหรือเป็นลูกจ้างที่ไม่อยู่ภายใต้การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และแรงงานต่างด้าวสามารถเปลี่ยนตัวนายจ้างหรือเพิ่มตัวนายจ้างได้ 3 ราย ในพื้นที่จังหวัดที่ได้รับอนุญาตทำงาน
นอกจากนี้ แรงงานต่างด้าวต้องรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมืองครั้งแรก ภายในวันที่ 30 ก.ค. 2568 และให้รายงานตัวทุกๆ 30 วัน นับตั้งแต่วันครบกำหนดครั้งก่อนโดยสามารถรายงานตัวก่อนได้ไม่เกิน 7 วัน นอกจากนี้ยังยกเว้นให้คนต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ เมื่อมาตรการควบคุมการผ่านแดนระหว่างทั้ง 2 ประเทศกับสู่สภาวะปกติ และให้คนงานต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรนั้นอยู่ได้ต่ออีก 7 วัน เพื่อเตรียมตัวเดินทางกลับประเทศตนเอง โดยมาตรการต่างๆ ที่มีการผ่อนผันนี้ก็เพื่อช่วยเหลือประชาชนชาวไทยผู้ประกอบการและเจ้าของพืชไร่สวนที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวในการเก็บเกี่ยวผลผลิต
ส่วนกรณีการเปิดให้เยี่ยมชมปราสาทตาเมือนธม พล.ร.ต.สุรสันต์ กล่าวว่า ทางฝ่ายไทยยังยืนยันที่จะเปิดบริการให้กับประชาชนนักท่องเที่ยวสามารถเยี่ยมชมปราสาทได้ตามปกติ โดยทั้งสองฝ่ายได้กำหนดมาตรการร่วมกัน หากเกิดปัญหาการนักท่องเที่ยวชาติใด ให้ชุดประสานงานจากชาตินั้นเป็นผู้นำนักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่ หากมีปัญหาในพื้นที่การแก้ไขปัญหาให้ชุดประสานงานประสาทในพื้นที่ เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องเรียกชุดกำลังอื่นโดยไม่จำเป็นเข้ามาเพิ่มเติม รวมไปถึงขอให้ทั้งสองฝ่ายดำเนินการคัดกรองนักท่องเที่ยวแต่ละฝ่ายอย่างเข้มงวด
ด้าน นางมาระตี ระบุถึงสถานการณ์ในพื้นที่โดย ศบ.ทก. ได้รับรายงาน สถานการณ์ในพื้นที่ว่าฝ่ายไทยยังคงดำเนินการเช่นเดิม มีการควบคุมจุดผ่านแดนที่เข้มงวด แต่ไม่ได้เป็นการปิดด่าน แต่เพื่อบริหารจัดการรักษาความปลอดภัยของประชาชนและตามนโยบายของรัฐบาลเรื่องการปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติอย่างจริงจัง และยังคงอนุโลมด้านมนุษยธรรมอย่างต่อเนื่อง และยังเปิดให้รถขนส่งสินค้าผ่านแดนเช่นกัน มีเพียงฝ่ายกัมพูชาที่ยังคงปิดด่านอยู่
ด้านการดำเนินการด้านต่างประเทศ นางมาระตี ระบุว่า วันนี้ในเวลา 16.00 น. กระทรวงการต่างประเทศจะจัดการบรรยายสรุปแก่คณะทูตและผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารต่างประเทศ ต่อเนื่องจากการบรรยายสรุปรายไตรมาสของกองทัพบกวานนี้ เพื่อชี้แจงการดำเนินการและท่าทีจุดยืนของไทย เกี่ยวกับสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งจัดเป็นประจำ แต่ครั้งนี้จะเน้นในเรื่องเหตุการณ์ทหารไทยเหยียบทุ่นระเบิด เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา และการดำเนินการหลังจากนี้ โดยการประชุมในวันนี้จะมีผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานรัฐความมั่นคงร่วมบรรยายสรุป ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติ และโฆษกกระทรวง ศบ.ทก. ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทยที่จะชี้แจงข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมหลักฐานที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ได้รวบรวมและประมวลตั้งแต่วันเกิดเหตุ รวมไปถึงผลของการตรวจสอบ ตรวจค้นในพื้นที่เพิ่มเติม ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวที่ผ่านการกลั่นกรองให้รอบคอบเพื่อความถูกต้องของข้อมูล
โดยนางมาระตี ย้ำว่า การบรรยายวันนี้จะชี้แจงกับชาวโลกอย่างมีความมั่นใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งนอกจากที่กระทรวงการต่างประเทศจะทำหนังสือประท้วงโดยตรงจากประเทศกัมพูชา และฉบับที่ 2 จะเป็นหนังสือถึงประเทศญี่ปุ่นในฐานะประธานที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาออตตาวา ตามพันธกรณีของไทย เพื่อเรียกร้องให้ฝ่ายกัมพูชาแสดงความรับผิดชอบทั้งต่อไทยและประชาคมโลก และองค์กรที่สนับสนุนกัมพูชาในเรื่องการเก็บกู้ทุ่นระเบิด
"ในเวทีระหว่างประเทศชื่อเสียง ความน่าเชื่อถือ และคำมั่นที่ประเทศนั้นได้ให้ต่อประชาคมระหว่างประเทศ ถือว่ามีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้ประเทศนั้นน่าคบหาและเป็นที่เคารพของประชาคมโลก หลังจากการบรรยายสรุปจากคณะทูตแล้วจะมีการแถลงในรายละเอียดอีกครั้ง"
Advertisement