หนังสือพิมพ์ The Phnom Penh Post ของกัมพูชา ได้เผยแพร่บทความชื่อ “Polling Propaganda vs. Public Truth: Why the Thai Narrative About Samdech Techo Hun Sen Fails to Convince Cambodians” เขียนโดย Roth Santepheap นักวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์ชาวกัมพูชา วิจารณ์ต่อโพลของไทย ซึ่งพยายามลดทอนความน่าเชื่อถือของสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและอดีตผู้นำกัมพูชา
โดยเนื้อหาระบุว่า ในช่วงเวลาที่มีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นและการบิดเบือนข้อมูลอย่างแพร่หลาย การสำรวจความคิดเห็นสามารถเปิดเผยความจริงหรือถูกใช้เป็นอาวุธเพื่อบิดเบือนความจริง กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นกับนิด้าโพล (NIDA Poll) ที่เพิ่งเผยแพร่ไปโดยได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ซึ่งพยายามโจมตีสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและอดีตนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งมายาวนานของกัมพูชา โดยกล่าวหาว่าเขาไม่น่าเชื่อถือ เห็นแก่ตัว และเข้ามาแทรกแซงการเมืองของไทย
ขณะที่กลไกทางการเมืองของไทยมีการบิดเบือนข้อมูลเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของคนในประเทศ ประชาชนชาวกัมพูชาได้แสดงจุดยืน และพวกเขาได้แสดงออกอย่างชัดเจน จากผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดที่จัดทำโดย Asia Vision Institute (AVI) เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2568 เสนอความจริงที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความชอบธรรมของประชาชน ความอดทนเชิงยุทธศาสตร์ และความสามัคคีของชาติ
นิด้าโพล ภาพสะท้อนของความกลัว ไม่ใช่ข้อเท็จจริง
โพลของนิด้าจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึง 2 กรกฎาคม 2568 โดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 1,310 คน ได้ใช้ภาพล้อเลียนฮุนเซนว่าเป็นบุคคลต่างชาติที่สร้างความวุ่นวาย ซึ่งเข้ามาแทรกแซงการเมืองของไทยและแสวงหาผลประโยชน์เพื่อส่วนตน และไม่ใช่การวิเคราะห์นโยบาย แต่เป็นความพยายามที่จัดฉากขึ้นเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความไม่มั่นคงภายในของไทย และโยนความผิดไปที่ผู้นำของกัมพูชา
ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย 67.63% ระบุว่าสมเด็จฮุน เซนกระทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และ 57.25% มองว่าเขาไม่น่าไว้วางใจ แสดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางการเมืองของไทยมากกว่าตัวบุคคล คำตอบเหล่านี้สะท้อนถึงความไม่สบายใจที่เพิ่มขึ้นในสถาบันการเมืองของไทย คือความกลัวอิทธิพล ประสบการณ์ และความกล้าหาญของฮุน เซน ในการพูดความจริงที่ผู้นำไทยปฏิเสธที่จะเผชิญหน้า
โพลเผยให้เห็นความวิตกกังวลของประชาชนชาวไทยเกี่ยวกับผู้นำของตนเอง เมื่อ 43.05% ระบุว่าคำทำนายของสมเด็จฮุน เซน เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีประเทศไทย "ไม่น่าเชื่อถือ" และ 34.12% กล่าวว่าเป็น "การคาดเดาแบบสุ่ม" แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของสถานการณ์ทางการเมืองในกรุงเทพฯและทำไมจึงเกิดความหวาดระแวงต่อคำพูดของผู้นำต่างชาติ ถ้าไม่มีอะไรต้องปิดบัง?
ผลสำรวจ AVI ความเชื่อมั่น ความสามัคคี และการสนับสนุนจากประชาชน
ตรงกันข้ามกับผลสำรวจของ AVI ซึ่งดำเนินการเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2568 โดยมีผู้เข้าร่วม 1,588 คนจากภาคส่วนต่างๆ รวมถึงนักศึกษา ข้าราชการ และแรงงาน แสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนอย่างล้นหลามต่อรัฐบาลกัมพูชาและผู้นำในการแก้ไขข้อพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชา ที่สำคัญยังเผยให้เห็นถึงระดับความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อแนวทางสันติภาพสอดคล้องกับกฎหมายและยุทธศาสตร์ของกัมพูชา
ผลลัพธ์ได้แก่ 93.6% ของชาวกัมพูชาพอใจกับการจัดการข้อพิพาทชายแดนไทยของรัฐบาล เกือบเป็นเอกฉันท์ 99.8% สนับสนุนแนวทางศาลยุติธรรมระหว่างประเทศใช้ช่องทางในการแก้ไขข้อพิพาท กรณีปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาควาย 88.7% สนับสนุนการตัดสินใจปิดชายแดนเพื่อตอบโต้การยั่วยุทางทหารของไทย 73.8% เชื่อว่ากองทัพไทยเป็นฝ่ายยั่วยุความขัดแย้ง ขณะที่ 23.1% โทษกลุ่มชาตินิยมของไทย 95.8% สนับสนุนให้กองทัพกัมพูชา (RCAF) ในการเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อปกป้องอธิปไตยของกัมพูชา
ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่ามีความสามัคคี ไม่แตกแยก แสดงให้เห็นความเป็นผู้นำของฮุน เซน ยังคงได้รับความเคารพ ไม่ใช่แค่ในอดีต แต่ในปัจจุบันด้วย ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่กัมพูชากลับยืนหยัดอย่างมั่นคงด้วยกลยุทธ์ทางกฎหมายที่ชัดเจน กองทัพที่มีระเบียบวินัย และประชาชนที่พร้อมปกป้องสันติภาพ
ผู้นำที่ได้รับการยกย่องทั้งในและต่างประเทศ
การรณรงค์ของไทยเพื่อทำให้ฮุน เซน เสื่อมเสียชื่อเสียง ไม่เพียงเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ยังแสดงถึงความไม่มั่นคงอีกด้วย ตลอดหลายทศวรรษที่ฮุน เซน ได้นำพากัมพูชาผ่านสงคราม ความยากจน และการแทรกแซงจากต่างชาติ ไปสู่การฟื้นฟูประเทศ การเติบโต และการยอมรับในระดับสากล เสียงของเขามีความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่เพราะเป็นการยั่วยุ แต่เพราะมันมาจากประสบการณ์
นักวิจารณ์ในประเทศไทยกลัวเสียงนี้ เพราะมันดังไปไกลกว่าพรมแดนของกัมพูชา เมื่อเขาเตือนถึงความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศไทย ไม่ใช่การคุกคาม แต่มันคือการสังเกตการณ์ที่มีข้อมูลครบถ้วน แทนที่จะจัดการกับวิกฤตภายในของตน ชนชั้นนำของไทยเลือกที่จะโจมตีผู้ส่งสาร
แต่ประวัติของสมเด็จ ฮุน เซน พูดได้ด้วยตัวเอง ผู้สนับสนุนแนวทางแก้ไขอย่างสันติผ่านกฎหมายระหว่างประเทศ เป็นผู้นำที่ยกระดับกัมพูชาให้มีบทบาทในภูมิภาคอาเซียน เป็นนักการเมืองที่ได้รับการยอมรับจากมหาอำนาจโลก ตั้งแต่จีนไปจนถึงยุโรป
ชนชั้นทางการเมืองของไทยพยายามบิดเบือนความคิดเห็นผ่านนิด้าโพล แต่ความจริงไม่สามารถบิดเบือนได้ตลอดไป ประชาชนชาวกัมพูชาได้แสดงจุดยืนผ่านการสำรวจของ AVI ว่าพวกเขายืนอยู่ข้างสันติภาพ ข้างอธิปไตย และข้างผู้นำที่รับใช้ชาติไม่ใช่เพื่อตัวเอง
สมเด็จฮุน เซน ยังคงเป็นบุคคลสำคัญที่ได้รับความเคารพไม่เพียงแต่ในกัมพูชาแต่ทั่วทั้งภูมิภาค เขาไม่จำเป็นต้องได้รับการยืนยันจากแบบสำรวจที่มีอคติทางการเมืองจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อพิสูจน์ผลงาน ประเทศไทยอาจพยายามบ่อนทำลายเขาด้วยคำพูด แต่กัมพูชาสนับสนุนเขาด้วยการกระทำ ความภักดี และความไว้วางใจ และเป็นสิ่งที่ประวัติศาสตร์จะจดจำ
Advertisement