วันที่ 9 ก.ค. 68 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายกรวีร์ ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย เป็นประธาน มีวาระพิจารณาแนวทางมาตรการแก้ปัญหาสถานการณ์ชายแดนไทย - กัมพูชา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ซึ่งติดภารกิจ และได้มอบหมาย นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ชี้แจงแทน ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ รองผู้อำนวยการลูกค้าสัมพันธ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ผู้แทนจากเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม
โดย ประธาน กมธ.การปกครอง ได้พุ่งเป้าไปที่การตัดไฟฟ้า กับสัญญาณอินเตอร์เน็ตทางฝั่งกัมพูชาว่าสถานะล่าสุดเป็นอย่างไร
นายขจรเกียรติ อัศวเบ็ญจาง รองผู้อำนวยการลูกค้าสัมพันธ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ชี้แจงว่า ปัจจุบัน กฟภ. มีสัญญาซื้อขายกับกัมพูชา 8 สัญญา ในพื้นที่ 4 จังหวัด คือ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด โดยกัมพูชาใช้ไฟมากที่สุดประมาณ 54 เมกะวัตต์ สถานะการจ่ายไฟตอนนี้ ปัจจุบันกัมพูชาหยุดการใช้พลังงานไฟฟ้าของ กฟภ.เป็นศูนย์ทุกจุด ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการหยุดใช้พลังงานไฟฟ้าเอง โดยทางไทยได้ทำหนังสือสอบถามเรื่องการใช้ไฟฟ้าไปกับกัมพูชาแล้ว ขณะนี้รอการตอบกลับ ถ้ากัมพูชาตอบกลับว่าจะไม่ใช้ ทางกฟภ.จะเข้าสู่กระบวนการยกเลิกสัญญา แต่ถ้าไม่มีการตอบกลับ ทางกฟภ. จะเรียกเก็บค่าใช้พลังงานขั้นต่ำตามสัญญาอยู่ที่ 70%
“กฟภ.ยังจ่ายไฟฟ้าตามปกติ แต่คู่สัญญาไม่ดึงไฟฟ้าไปใช้เอง ซึ่งที่ผ่านมา กัมพูชาจะจ่ายค่าไฟ 110 ล้านบาท ต่อเดือนทั้ง 8 สัญญา แต่หลังจากนี้ถ้าไม่มีการใช้ไฟฟ้าเลยจะคิดค่าไฟฟ้าพลังงานขั้นต่ำกรณีไม่ใช้อยู่ที่ 70%” นายขจรเกียรติ ระบุ
นายขจรเกียรติ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีนำไฟฟ้าไปใช้กับคอลเซ็นเตอร์หรือบ่อนการพนันหรือไม่นั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่รู้ว่าผู้ซื้อจากทางฝ่ายกัมพูชามีการจ่ายไฟไปให้ใครบ้าง
ด้าน เลขาฯสมช. ชี้แจงว่า ที่ผ่านมาทางฝ่ายไทยยังไม่ได้เป็นฝ่ายตัดไฟ แต่ทางกัมพูชาเป็นฝ่ายตัดก่อน ซึ่งเราทราบข้อมูลว่าขณะนี้ไฟของกัมพูชาไม่ค่อยเสถียร หากซื้อจากฝั่งไทยจะเต็มประสิทธิภาพมากกว่า อย่างไรก็ตาม เรามุ่งหมายแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติเป็นหลัก ซึ่งจะพิจารณาจาก 3 ส่วน คือ เป็นเรื่องที่เกิดจะส่งผลกระทบกว้างขวาง มีความรุนแรง และมีความเชื่อมโยงสลับซับซ้อน ซึ่งยืนยันว่า จะพิจารณาทุกอย่างด้วยความรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง ทั้งสถานพยาบาล และโรงเรียนที่ไม่เกี่ยวข้องในส่วนนี้
เลขาสมช. กล่าวอีกว่า จากการที่ทางกัมพูชาไม่ใช้ไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตจากประเทศไทยทำให้สถิติการก่ออาชญากรรมข้ามชาติลดลงอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 67 กับปลายปี 68 ซึ่งการควบคุมตรงนี้ถือว่าได้ผล
ขณะที่ ผู้แทน กสทช. ชี้แจงในส่วนของการสัญญาณอินเตอร์เน็ตว่า ปัจจุบันไม่มีการส่งสัญญาณระหว่างผู้ให้บริการไทยกับกัมพูชา ส่วนมาตรการในอนาคตของกสทช. หากสถานการณ์กลับมาเป็นปกติจะมีการกำหนดจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศให้เป็นจุดเดียวกันในแต่ละพื้นที่ รวมถึงสืบเนื่องจากมีการตัดสายสัญญาณกันไปเรียบร้อยแล้ว ในอนาคตกสทช.จะกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องแยกสายสื่อสารระหว่างกันให้สามารถตรวจสอบได้
นอกจากนี้ เลขาฯสมช. ยังชี้แจงเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ขัดแย้งชายแดนไทย - กัมพูชา ตอนนี้ ยังมีปัญหาเรื่องเส้นเขตแดน ที่ยังมีพื้นที่อ้างสิทธิ์ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเราก็มีกรอบการทำงานชัดเจนโดยใช้การพูดคุย และ MOU 43 ส่วนมาตรการต่างๆที่ผ่านมา มีการประชุมสมช.3 ครั้ง ยึดหลักปกป้องอธิปไตย ส่วนการเตรียมการด้านการทหาร ก็เป็นการเตรียมการตามหน้าที่ ขณะที่มาตรการ 4 ระดับ ตอนนี้ไทยใช้แค่ระดับ 1 และ 2 คือ จำกัดบุคคล จำกัดเวลาเปิด-ปิด ส่วนปิดจุดผ่านแดนเฉพาะที่ และปิดตลอดแนวชายแดน ยังไม่ได้ใช้
Advertisement