เมื่อวันที่ 4 ก.ค.นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายขับเคลื่อนงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยได้เน้นย้ำถึงหลักการทำงานสำคัญ โดยเฉพาะการ พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมุ่งเน้นการสืบสาน รักษา และต่อยอด ควบคู่ไปกับการสานต่อนโยบายเดิม 9 นโยบายและเพิ่มเติมมาตรการเพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และเสริมแกร่งเกษตรกรไทยให้สามารถแข่งขันได้ ภายใต้วิสัยทัศน์ Ignite Thailand ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเกษตรของโลก
นายอรรถกร กล่าวต่อว่า ระยะเวลาที่เหลือต่อจากนี้จะดำเนินการสานต่อ 9 นโยบายสำคัญของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ และดำเนินการ มาตรการเร่งด่วนเพิ่มเติม คือ มาตรการเพื่อลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และเสริมแกร่งเกษตรกรไทยให้สามารถแข่งขันได้
ดังนี้ 1. การลดต้นทุน เพิ่มรายได้ โดยมี การจัดหาพันธุ์ดี สนับสนุนพันธุ์พืช ประมง และปศุสัตว์คุณภาพได้มาตรฐานที่ตลาดต้องการ ไม่เน้นความหลากหลาย แต่เน้นคุณภาพที่เกษตรกรสามารถผลิตและขายได้ในราคาที่ดี ส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จะกำกับดูแลในมิติของการแปรรูปขั้นต้น รวมถึงการบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรและบริหารจัดการด้านการตลาดสินค้าเกษตร กระทรวงเกษตรฯ จะดูแลทั้งระบบตั้งแต่ข้อมูลการผลิต การส่งเสริมการผลิต การแปรรูป และการตลาด โดยส่งเสริมให้เกษตรกรหาตลาดได้ด้วยตนเอง องค์การตลาดเพื่อเกษตรกรจะต้องปรับตัวเป็นตลาดรองรับผลผลิต
ส่วนเรื่องที่ 2 เสริมแกร่งเกษตรกรให้สามารถแข่งขันได้ซึ่งต้องผลักดันเรื่องการสร้างโอกาสขยายระยะเวลาการชำระหนี้ของเกษตรกร และสร้างวินัยทางการเงินเพื่อบรรเทาภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสให้เกษตรกรมีเงินลงทุนทำการเกษตร รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเกษตรกร
และเรื่องที่ 3 ปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยให้เป็นปัจจุบัน เพื่อลดขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นอุปสรรค และป้องกันสินค้าเกษตรที่ทะลักเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย โดยให้ทุกหน่วยงานทบทวนและปรับปรุงกฎหมายกฎหมายที่ใช้อยู่ พร้อมทั้งกำหนดแนวทางแก้ไขพร้อม Timeline ที่ชัดเจนเพื่อผลักดันให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม
สำหรับ 9 นโยบายเดิม ประกอบด้วย
1. เน้นการสร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ เล็งเห็นว่าการสร้างศักยภาพของทุกหน่วยงานเป็นสิ่งสำคัญ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะต้องเข้าถึงเกษตรกรและพึ่งพาได้ เน้นเชิญชวนผู้บริหารเข้าถึงพื้นที่
2. จัดสรรที่ดินทำกิน รวมถึงมอบหมายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เร่งรัดการยกระดับเอกสารสิทธิให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร ซึ่งขณะนี้กำลังติดตามตัวเลขการขอลงทะเบียนออกโฉนด รวมถึงผลการดำเนินการต่าง ๆ
3. การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ปีนี้ประเด็นสำคัญของกระทรวงเกษตรฯ คือการบริหารจัดการน้ำให้มีคุณน้ำและมีศักยภาพเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร เน้นเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น โดยจากข้อมูลปี 2567 พบว่ารายได้ของเกษตรกรลดลง หนึ่งในสาเหตุหลักคือภาวะน้ำแล้ง ส่งผลกระทบไปยังผลผลิตทั้งพืชและสัตว์
4. ยกระดับสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรมูลค่าสูงที่มี GDP ด้านการเกษตรสูงถึง 75.8%
5. ยกระดับศักยภาพของเกษตรกรและสถาบันการเกษตรกร เรามีความจำเป็นให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) และส่งเสริมให้เป็นผู้ให้บริการทางการเกษตรครบวงจร
6. จัดการทรัพยากรทางเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
7. รับมือป้องกันภัยธรรมชาติ โดยการวางแผนมาตรการเชิงรุกเพื่อรับมือตั้งแต่การป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟู หากพื้นที่ที่พบว่าวิธีการรับมือแบบเดิมไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะต้องศึกษาหาวิธีใหม่ ๆ
8. สานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน เราต้องเร่งปราบปรามมาตรการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรที่กฎหมายซึ่งเป็นเรื่องที่เน้นย้ำความสำคัญและต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน
9. อำนวยความสะดวกด้านเกษตร สิ่งที่ทำได้ทันทีคือการแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อเกษตรกร มาตรการการนำเข้าสินค้าและส่งออกต้องมีความเท่าเทียมกันเพื่อปกป้องเกษตรกร
"ต้องยอมรับว่าเราในฐานะผู้ผลิตไม่สามารถควบคุมตลาดและปัจจัยภายนอกที่มีผลราคาผลผลิตได้ เชื่อว่าถ้าเราสร้างดีมานด์ได้ ราคาจะกลับไปสู่จุดที่พี่น้องเกษตรกรอยู่ได้"นายอรรถกร กล่าว
Advertisement