นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมนายสมชาย แสวงการ อดีต สว. และนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือ ทนายนกเขา เข้าทวงถามความคืบหน้ากรณีการปรับลดงบประมาณของรัฐบาลยุค นายเศรษฐา ทวีสิน และนางสาวแพรทองธาร ชินวัตร เพื่อใช้ในโครงการดิจิตอลวอลเลท เป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 144 ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนไว้ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ที่สำนักงานการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า วันนี้ได้นำคำสั่งและความเห็นจาก 3 หน่วยงาน ที่รัฐบาลได้เคยสอบถามไปจากโครงการดิจิตอลวอลเลท กับสำนักงานกฤษฎีกาว่าจะสามารถนำเงินที่จะกู้เงินจากธนาคารในมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อมาจัดทำโครงการได้หรือไม่ ซึ่งมีธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักกฤษฎีกา รวมทั้งความเห็นของป.ป.ช. ที่ได้แสดงความเห็นคัดค้านว่า การที่รัฐบาลกระทำดังกล่าวนั้นอาจทำให้เกิดความเสียหาย แต่ได้เกิดเหตุตาลปัตรขึ้น เมื่อรัฐบาลนำเงินในการจัดงบประมาณ ไว้ใช้หนี้
ซึ่งเป็นเงินที่ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ต้องนำเงินดังกล่าวนี้ไปจ่ายคืนในวงเงินกู้ ทำให้ธกส.ไม่มีเงินไปชำระหนี้กับธนาคารทั้ง 4 สถาบัน เป็นเหตุให้ธนาคารทั้งหมดไม่มีเงินไปใช้หนี้ แต่ได้นำเงินมาแจกในโครงการดิจิตอลวอเลท ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่าเป็นการปรับลดงบประมาณ ซึ่งตามกฏหมายแล้วได้ระบุบางคำไว้ว่า รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระเงินกู้ที่นำมาช่วยเหลือเกษตรกร โดยตนจะทำคดีนี้ให้เป็นกรณีศึกษา เพราะได้เกิดผลกระทบขึ้นแล้ว จะเห็นได้ว่าธกส.นิ่งเฉย ไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกร ปล่อยให้ราคาข้าว และผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ เพราะธกส. มีเพดานเงินกู้เต็มวงเงินแล้ว จากเหตุการณ์กระทำของรัฐบาล
ด้านนายสมชาย กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 และ 2550 จนถึงปัจจุบัน กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าห้ามตัดงบประมาณที่นำไปใช้หนี้ตามกฎหมาย ซึ่งหากฝ่าฝืน มีบทลงโทษในรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งรัฐบาลได้กระทำผิด โดยมีมติคณะรัฐมนตรี และมติคณะกรรมาธิการนำเงินไปแจกในดิจิตอลวอลเลท นำไปสู่ความเสียหายที่เห็นได้ชัด โดยเฉพาะดิจิตอลวอลเลทเฟสที่ 3 ไม่ควรเกิดขึ้นได้ การที่รัฐบาลตัดเงินจากมาตรา 144 ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องห้ามถือว่ารัฐบาลเบี้ยวหนี้ โดยยกเปรียบเทียบคดีจำนำข้าว ที่รัฐบาลขณะนั้นได้ใช้งบไป 900,000 ล้านบาท และขายข้าวได้ส่วนหนึ่ง แต่ยังขาดทุน 500,000 ล้านบาท
ซึ่งก็มีการตั้งงบใช้หนี้มาทุกปี ตอนนี้เหลือหนี้ประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยงบประมาณ 30,000 ล้านบาท ยังคงอยู่ในสถาบันการเงินทั้ง 5 แห่ง วันนี้เท่ากับไม่มีเงินไปจ่ายหนี้ โครงการจำนำข้าว แต่เอาเงินไปแจก ซึ่งก่อนหน้านี้ ก็มีคำเตือนจากธนาคารแห่งประเทศไทยและป.ป.ช. รวมไปถึงTDRI ว่าจะเกิดความเสียหาย และในวันนี้ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ดัชนีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจต่ำมาก และประเทศไทยถูกลดลำดับเครดิตความน่าเชื่อถือ เศรษฐกิจฐานรากอดอยากลำบากกว่าเดิม และขณะนี้ประเทศไทยได้เสียเครดิตแล้ว การไปกู้เงินนั้นทำไม่ได้ เพราะรัฐบาลได้เบี้ยวหนี้ไปแล้ว ซึ่งทำให้ธนาคารเอกชนในประเทศไทย และเวิลด์แบงก์จับตามองประเทศไทย ว่ามีพฤติกรรมเบี้ยวหนี้ของรัฐบาล ดังนั้นถือว่าความผิดได้สำเร็จแล้ว จึงขอให้คณะกรรมการป.ป.ช. มีหน้าที่ตรวจสอบ และมีมติส่งความเห็นไปที่ศาลรัฐธรรมนูญให้มีการวินิจฉัย หรือชี้ว่าการกระทำนั้นมีความผิด และก่อให้เกิดความเสียหาย เพื่อป้องกันการทำงบประมาณตามใจชอบ
ขณะที่ทนายนกเขา ระบุว่า ตามระยะเวลาการพิจารณาของป.ป.ช.มีเวลา 45 วัน ซึ่งตอนนี้ผ่านมาแล้ว 30 วัน จึงอยากให้ทางป.ป.ช.ทำการพิจารณาโดยพลัน เพื่อให้อยู่ในกรอบเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ สำหรับวันนี้นำเอกสารมายื่นให้เพิ่มเติม 3 ฉบับ คือความเห็น ของกฤษฎีกา ธนาคารแห่งประเทศไทย และความเห็นของป.ป.ช. และหากดูเอกสารของธนาคารแห่งประเทศไทย จะเห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เตือน ซึ่งในเอกสารระบุถึงความเลวร้ายที่จะเกิดขึ้น ที่จะดำเนินโครงการดิจิตอลวอลเลท ตนจึงมาย้ำเตือนให้ ป.ป.ช. ทำการพิจารณา และเชื่อว่าทางป.ป.ช. เองจะเร่งการพิจารณา รวมถึงการพิจารณาเอกสารเพิ่มเติม แต่ถ้าหากไม่ทัน เมื่อถึงเวลานั้นค่อยว่ากันอีกครั้ง
Advertisement