ที่มาคำว่า “ส้มหล่น” สู่แฮชแท็ก #นายกส้มหล่น
หลังจากการเลือกตั้งและการรวมตัวของพรรคการเมือง เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งใช้เวลานานกว่า 3 เดือน ล่าสุดในวันที่ 22 สิงหาคม 2566 สมาชิกรัฐสภาก็ได้ลงคะแนนโหวตพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย ด้วยคะแนน เห็นชอบ 374 เสียง ไม่เห็นชอบ 144 เสียง งดออกเสียง 67 เสียง จนทำให้โลกออนไลน์ต่างพร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #นายกส้มหล่น

ทีมข่าวอมรินทร์ทีวี ออนไลน์ พาไปย้อนดูที่มาของคำว่า “ส้มหล่น”

“ส้ม” เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมรับประทานมากเป็นลำดับต้น ๆ ด้วยรสชาติเปรี้ยวอมหวาน ซึ่งผสมผสานกันอย่างลงตัว อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมสดชื่นเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ส้มยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายประการ ส่วน “หล่น” เป็นคำกริยา หมายถึง ตกลงมา ร่วงลงมา

เมื่อนำทั้ง 2 คำ มารวมกัน เป็น “ส้มหล่น” จึงหมายความว่า ได้มาโดยไม่คาดคิด โดยที่มาของสำนวนมาจากส้มที่ไม่ต้องปีนหรือสอยจากบนต้น แต่หล่นลงมาให้กินเอง เปรียบได้กับผลประโยชน์หรือโชคที่ได้รับมาง่าย ๆ ฟรีๆ โดยไม่ต้องออกแรง ไม่ต้องลงทุน จึงถือเป็นเหมือนส้มหล่o ยกตัวอย่าง เช่น "นาย ก. นี่ส้มหล่นจริง ๆ ได้โควตาเข้าเรียน เพราะคนก่อนหน้าสละสิทธิ์"

อย่างไรก็ตาม แฮชแท็กร้อน #นายกส้มหล่น คาดว่ามีที่มาจากการที่พรรคก้าวไกล ซึ่งมีสีประจำพรรคเป็นสีส้ม เสนอชื่อของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้รับตำแหน่งนายกฯไม่ผ่านนั่นเอง จนในเวลาต่อมา พรรคก้าวไกลได้ส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีหลายครั้งด้วยกันที่พรรคการเมือง ซึ่งได้รับคะแนนผลการเลือกตั้งอันดับ 1 แต่ไม่ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยส่วนใหญ่เป็นการเลือกตั้งภายใต้ระบอบรัฐประหาร
- ปี 2500 พรรคสหภูมิ ได้คะแนนมากสุด แต่หัวหน้าพรรคฯไม่ได้เป็นนายกฯ โดยคนที่รับตำแหน่งนายกฯ ได้แก่ จอมพลถนอม กิตติขจร เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นเจ้าของพรรคสหภูมิ ซึ่งตั้งพรรคขึ้นมาเพื่อให้หัวหน้ารัฐประหารเป็นนายกฯ ต่อมา จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยุบพรรคสหภูมิ ก่อนจะดึงตัว สส. ที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง รวมถึง สส. จากพรรคอื่น จัดตั้งพรรคชาติสังคม เพื่อจัดตั้งรัฐบาล จนในเวลาต่อมา จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจาก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
- ปี 2518 พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้คะแนนเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 แต่ไม่สามารถรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นได้ เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมรวมกับพรรคการเมืองฝั่งทหารและฝ่ายซ้าย ทำให้ พรรคกิจสังคม ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (หม่อมน้อง) ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยจำนวน สส. ของพรรค เพียง 18 คน แต่สามารถรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นได้มากกว่า
- ปี 2522 พรรคกิจสังคม นำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฏร จำนวน 88 ที่นั่ง แต่พรรคกิจสังคมไม่มีเสียงในสภาผู้แทนราษฏรเกินกึ่งหนึ่ง ทุกพรรคการเมืองจึงลงมติเลือก “พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์” อดีตนายกรัฐมนตรีในสมัยก่อนหน้า ผู้มีที่มาจากคณะรัฐประหารเมื่อปี 2520 ให้กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง อีกทั้งในปี 2522 ยังอนุญาตให้วุฒิสภาที่มีที่มาจากการแต่งตั้งของพลเอกเกรียงศักดิ์ มีสิทธ์เลือกนายกรัฐมนตรี พลเอกเกรียงศักดิ์จึงได้เสียงจากคนกลุ่มนี้ไปอีก 225 เสียง ชนะพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งไปในทันที
- ปี 2535 นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้คะแนนสูงสุด ถูกสหรัฐอเมริกาปฏิเสธการออกวีซ่าให้ ทำให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน
- ปี 2562 พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้นั่งตำแหน่งนายกฯ เนื่องจากประเทศไทย ณ ขณะนั้น อยู่ภายใต้ระบอบรัฐประหาร อีกทั้ง กตต. ยังประกาศสูตรคำนวนที่นั่ง สส. ใหม่ ทำให้จำนวนที่นั่ง สส. ของพรรคแนวร่วมรัฐบาลลดลง สุดท้ายพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ก้าวมาสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเสียงจาก สส. ที่เพิ่มมาถึง ร่วมกับเสียงของ สว. ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะรัฐประหาร
- ปี 2566 พรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนการเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 แต่นายพิธา ลิ้มเจริญรัจน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะกติกาการเลือกนายกรัฐมนตรี ยังคงสือบทอดมากจากคณะรัฐประหาร เช่นเดียวกันกับในกรณปีเมื่อปี 2562 จนต่อมา พรรคก้าวไกลได้ส่งไม้ต่อให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำนการจัดตั้งรัฐบาล