ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินกลุ่มอาสากลุ่มหนึ่งที่ชื่อว่า “เส้นด้าย” ที่ออกมาช่วยเหลือผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการช่วยประสานหาเตียง หรือลงพื้นที่ไปตรวจเช็กอาการ บริจาคของ บริจาคยาสามัญประจำบ้าน หรือแม้แต่แชร์เรื่องราวของผู้ป่วยที่เข้าขั้นวิกฤต บางรายถึงกับเสียชีวิตคาบ้าน ให้เป็นอุทาหรณ์แก่สังคมมานักต่อนัก
ล่าสุดวันที่ 20 ก.ค.64 ทีมข่าวอมรินทร์ ทีวี ได้ติดตามภารกิจของกลุ่มเส้นด้าย และได้พูดคุยกันถึงที่มาที่ไปของกลุ่ม โดยนายภูวกร ศรีเนียน อายุ 48 ปี หรือ เจตน์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นมาจากวันที่ 24 เม.ย.64 ตนเดินทางไปร่วมงานฌาปนกิจศพของ “คุณอัพ” อดีตนักกีฬา E-Sports และหัวหน้าแคลน VGB (Vagabond Team) ที่ก่อนหน้านั้นวันที่ 20 เม.ย.64 ได้ออกมาไลฟ์ว่าหลังจากเริ่มรู้สึกป่วยโควิด-19 มาตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย.64 แต่ไม่สามารถติดต่อหน่วยงานรัฐ หรือโรงพยาบาล เพื่อเข้าถึงการรักษาที่ควรได้รับ
กระทั่งวันที่ 21 เม.ย.64 ถึงจะได้รับการตรวจและรักษา แต่ก็สายเกินไป เนื่องจากเชื้อโควิด-19 ทำลายปอด “คุณอัพ” ไปแล้วกว่า 80% ก่อนที่เขาจะทนต่อไปไม่ไหว และสิ้นลมหายใจในเวลา 11.26 น. ของวันที่ 24 เม.ย.64
นับตั้งแต่วันนั้นมา ตนก็ตั้งคำถามว่าทำไมคนที่น่าจะเข้าถึงการรักษา เข้าถึงสาธารณสุขของประเทศไทยได้ ถึงต้องเกิดเรื่องแบบนี้ หรือแม้แต่คุณแม่ของเขาที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และต้องการจะเข้าตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาลรัฐ ก็ยังดูจะเป็นไปได้ยาก ทำให้ช่วงเย็นหลังเผาศพเสร็จ ตนก็เลยเดินทางไปพร้อมกับแม่ผู้ตาย เพื่อเจรจาขอให้ได้รับการตรวจหาเชื้อ จนสำเร็จ ในขณะเดียวกันก็พยายามหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับสังคม ทำไมผู้ป่วยถึงไม่มีที่รักษา ในเมื่อตอนนั้นเตียงของโรงพยาบาลรัฐก็ยังไม่เต็ม ทำไมโรงพยาบาลเอกชนถึงไม่กล้ารับคนป่วยโควิด-19 เข้ารักษา หรืองบประมาณสาธารณสุขไม่เพียงพอ ทำไมการประสานงานของหน่วยงานไม่เป็นหนึ่งเดียว ทั้งหมดจึงกลายเป็นจุดประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้
ในวันที่ 25 เม.ย.64 ตนจึงชวนเพื่อนฝูงที่มีความคิดเหมือนกันประมาณ 3 คน ได้แก่ ตน, คริส โปตระนันทน์ อดีตนักการเมือง และ กุลเชษฐ วัฒนผล พี่ชายของ “คุณอัพ” มานั่งประชุมเพื่อหาคำตอบ กระทั่งวันที่ 26 เม.ย.64 สามารถรวมกลุ่มจากคนที่รู้จักและบอกต่อกันในสายงานต่าง ๆ เช่น นักธุรกิจ ข้าราชการเก่า ศิลปิน อาสาสมัคร คนในชุมชน ได้ 20 คน ภายในคืนเดียว วันที่ 27 เม.ย.64 จึงได้คำตอบว่าควรตั้งกลุ่ม “เส้นด้าย” ขึ้นอย่างเป็นทางการ ด้วยเงิน 300,000 บาท เพื่อจัดหาและจัดเตรียมสิ่งที่ “คุณอัพ” ขาดหรือไม่มี ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตจากโรคโควิด-19
ดังนั้นคำว่า “เส้นด้าย” จึงมาจากการสะท้อนสถานการณ์เลื่อมล้ำที่ว่า หากคุณป่วยแล้วต้องการเข้ารับการรักษา ต้องเป็นคนที่มีเส้นสายเท่านั้น แต่ “เส้นด้าย” จะทำให้คนที่ไม่มีเส้นสายได้รับการเข้าถึงระบบการรักษา และระบบสาธารณสุขให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรือชาวบ้านคนธรรมดาที่ขอความช่วยเหลือมา พร้อมกับการตั้งแฮชแท็ก #ได้ที่ไม่ใช้เส้น
แต่ก็ต้องยอมรับว่า ด้วยสถานการณ์และจำนวนตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นวันละเป็นหมื่นราย บางรายรอนานเป็นสัปดาห์ ไม่ว่าจะเป็นคนแก่หรือเด็ก ทำให้วันนี้มีสายโทรศัพท์เข้ามาที่เบอร์หลัก 02 096 5000 เพื่อขอความช่วยเหลือมากถึงเกือบ 2,000 เคส โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มาจากการตกสำรวจแล้วร้องขอความช่วยเหลือมา กลุ่มนี้จะมีอย่างน้อยวันละ 50-60 เคส ซึ่งมักจะพบว่าเป็นผู้ป่วยติดเตียง มีโรคประจำตัว และคนพวกนี้โอกาสที่จะได้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลปัจจุบันเท่ากับศูนย์ ดังนั้นสิ่งที่กลุ่มสามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้ นอกจากการประสานหาเตียงคือการเข้าไปให้ความช่วยเหลือแบบตัวต่อตัว ด้วยการป้องกันอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อติดตามอาการ ดังต่อไปนี้
-ประเมินอาการตามสถานการณ์หน้างานจริง
-วัดอุณหภูมิในเลือด วัดอุณหภูมิร่างกาย
-จ่ายยาสามัญประจำบ้านตามอาการ หรือติดตั้งเครื่องช่วยหายใจ ถังออกซิเจน สำหรับเคสที่อาการหนัก
-ประสานหาเตียงในโรงพยาบาลเอกชนในเครือข่าย สำหรับเคสสีเขียว อายุไม่เกิน 60 ปี ไม่ใช่เด็กเล็ก (แล้วแต่เคส) และเตียงในโรงพยาบาลสนามของภาครัฐ ซึ่งจะประเมินตามเคส
ส่วนเคสอื่น ๆ ทางกลุ่มก็พยายามรับสายและรับเรื่องกับเขาให้ได้นาทีละ 3 เคสก่อน แล้วจะให้อาสาคอลเซ็นเตอร์ติดต่อกลับไป เพื่อให้การช่วยเหลืออีกที เพราะไม่อย่างนั้นเกรงว่าจะเกิดดราม่าว่าทำไมติดต่อมาที่เบอร์ “เส้นด้าย” แล้วไม่มีคนรับสาย หรือหากเบอร์หลักรับสายไม่ไหวแล้วจริง ๆ ก็จะใช้วิธีสะสม Miss call รอบละ 10-15 เบอร์ แล้วค่อยให้อาสาคอลเซ็นเตอร์ ทยอยติดต่อกลับไปทั้งหมด
ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่ “คุณเจตน์” คาดหวังให้หน่วยงานภาครัฐรีบจัดตั้งโดยเร็ว คือ การรักษาแบบ Home isolation หรือการให้ผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตัวที่บ้าน ซึ่งต้องยอมรับว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้เขารู้ดีว่าสถานการณ์ขณะนี้มันย่ำแย่ เตียงไม่พอ จึงยอมที่จะดูแลตัวเองอยู่ในบ้าน แต่ทางหน่วยงานก็ต้องเตรียมยา ช่องทางการติดต่อกับแพทย์ ให้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ด้วย
ทั้งนี้กลุ่มเส้นด้าย มีอาสาคอลเซ็นเตอร์ 7 คน แต่ละคนนั่งรับสายติดกัน 4-5 ชั่วโมง ชั่วโมงละไม่เกิน 10-15 สาย เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด เพราะแต่ละสายต้องให้ข้อมูลการดูแลตัวเอง ถามข้อมูลผู้ป่วย และประสานหาเตียงต่อไป รวมแล้วแต่ละวันจะสามารถรับสายและพูดคุยรายละเอียดแบบไม่ทอดทิ้งกันได้จริง ๆ แค่ 400-500 สาย จากทั้งหมดเกือบ 2,000 สาย ดังนั้นหมายความว่าแต่ละวันกลุ่มสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้รวมแล้ว 400-500 เคส
โดยการขอความช่วยเหลือกับทางกลุ่มนั้น ทางที่ดีที่สุด ผู้ป่วยต้องทำตามขั้นตอนนี้ดังต่อไปนี้
-ต้องเป็นผู้ป่วยที่มีผลตรวจหาเชื้อแบบ PCR ยืนยันชัดเจน
-โทรไปลงระบบผู้ป่วยไว้กับ 1669 1668 1330 จนได้ส่งหลักฐานไปให้หน่วยงาน และได้รับการยืนยันผ่านระบบ LINE แล้ว เพื่อที่ทางกลุ่มจะได้หาสถานพยาบาลที่ไม่ซ้ำซ้อนกับภาครัฐที่ผู้ป่วยได้ลงระบบไว้ แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยที่โทรศัพท์เข้ามาแล้วไม่ได้ทำตาม 2 ขั้นตอนนี้ ทางคอลเซ็นเตอร์ที่คุยสายก็จะแนะนำวิธีทำให้
ส่วนการออกไปช่วยเหลือตามพื้นที่ต่าง ๆ หรือบ้านผู้ป่วยนั้น ตอนนี้ทางกลุ่มมีเจ้าหน้าที่อยู่ประมาณ 20 คน แบ่งเป็น 5-6 ทีม ทีมละ 2-3 คน และแต่ละวันจะลงพื้นที่ได้ไม่เกิน 20 เคส ซึ่งใน 20 เคสจะช่วยหาเตียงได้ประมาณ 10 เคส และอีก 10 เคสจะเป็นเข้าไปเช็กอาการ ให้ยา พาไปตรวจและนำตัวกลับบ้าน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละเคสด้วย สรุปได้ว่าตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.64 มีผู้ที่ขอความช่วยเหลือผ่านกลุ่มเส้นด้ายทั้งหมด 12,562 คน ทั้งโทรมาปรึกษา ช่วยลงระบบหาที่รักษาและเยี่ยมเยียน และพาไปตรวจอีก 2,284 คน พาเข้าสถานที่รักษารวม 1,934 คน
สำหรับปัจจุบันเจ้าหน้าที่ของกลุ่ม “เส้นด้าย” แบ่งออกเป็น 5 ทีมหลัก ๆ รวมแล้วประมาณ 20 คน ดังตอ่ไปนี้
-อาสาคอลเซ็นเตอร์ ทำงาน 24 ชั่วโมง สลับกัน รับสาย-โทรหาผู้ป่วย ให้คำแนะนำเบื้องต้น แล้วส่งต่อให้ แอดมิน ไม่มีเงินเดือน แต่มีค่าน้ำมัน สวัสดิการ
-เจ้าหน้าที่แอดมิน อายุไม่เกิน 25 ปี ทำงาน 08.30-18.30 น. ทำบัญชีรายชื่อผู้ป่วยที่ขอความช่วยเหลือ ส่งเรื่องไปยังโรงพยาบาล ประสานหาเตียง ติดตามผู้ป่วย มีเงินเดือนเท่ากับเด็กจบใหม่
-เจ้าหน้าที่ออกพื้นที่ ทำงาน 24 ชั่วโมง สลับกัน รับ-ส่ง ดูแล เช็กอาการผู้ป่วย ไม่มีเงินเดือน แต่มีค่าน้ำมัน สวัสดิการ
-สื่อสารสังคม อายุไม่เกิน 25 ปี ทำงาน 08.00-18.00 น. ดูแลเพจเฟสบุ๊ก โพสต์ข้อความ คลิป เคสต่าง ๆ ตอบคอมเมนต์ รับของบริจาค มีเงินเดือนเท่ากับเด็กจบใหม่
-อาสาสมัครตามชุมชนต่าง ๆ ในกรุงเทพและปริมณฑล ไม่มีเงินเดือน
นายภูวกร ผู้ก่อตั้งกลุ่มเส้นด้าย กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันมีรถรับ-ส่งผู้ป่วย 5 คัน รถกระบะสนับสนุน สำหรับขนของในกรณีเฉพาะกิจ 1 คัน และยังมีรถในเครือจากมูลนิธิอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งทั้ง 20 คนนี้ต้องเคยลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ป่วยมาแล้วทั้งสิ้น เพื่อความเข้าใจในเรื่องราวและต้องทำด้วยใจ ทำแล้วมีความสุข เพราะตอนนี้เงินเข้าของกลุ่ม ไม่ได้มาจากไหน นอกจากการรับบริจาคและขายของ ทำแคมเปญผ่านเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งก็พอจะมีเงินสำรองเพียงพอสำหรับอีกแค่ประมาณ 3 เดือนหลังจากนี้ และคาดว่าอีก 3 เดือน สถานการณ์โควิด-19 จะดีขึ้น ส่วนสถานที่ทำงานของของกลุ่ม ตั้งอยู่ที่ 41 ซอยพหลโยธิน 11 แขวงพญาไท เขตพญาไท กทม. 10400 โทร 02 0965000
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ตนเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง ยอมรับว่ากลุ่มมีจุดยืนในการแสดงออกทางสังคมอย่างชัดเจน ทั้งเชิงสัญลักษณ์และโดยตรง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ “การบริหารของภาครัฐผู้มีอำนาจในประเทศเราควรทำได้ดีกว่านี้ แต่ในทางกลับกันกลุ่มคนที่ไม่ได้มีอำนาจอย่างผม ยังสามารถทำได้ขนาดนี้ เพราะฉะนั้นในเมื่อคุณมีอำนาจ มีงบประมาณก็อยากให้ดูแลประชาชนอย่างตั้งใจให้ดีกว่านี้ รีบสร้างโรงพยาบาลสนามเพิ่ม ไม่อย่างนั้นเราก็จะสื่อให้คุณดูว่า ในขณะที่เรามีแค่นี้ เราจะทำได้ขนาดไหน” ตนจึงอยากฝากถึงภาคราชการว่า “ระเบียบปฎิบัติต่าง ๆ มันเป็นอะไรที่ยึดขาของคนทำงานหลาย ๆ คนในระหว่างปฎิบัติงาน อยากให้ลดระเบียบปฏิบัติของคนทำงานช่วงนี้ให้น้อยลงหน่อย” ส่วนประชาชนด้วยกันเอง ก็ไม่อยากให้มองผู้ติดเชื้อเป็นตัวแพร่เชื้อโรค อย่ารังเกียจจนก่อให้กิดความแตกแยก เพราะไม่มีใครอยากจะให้เกิดเรื่องแบบนี้
สุดท้ายนี้ หากใครอยากจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเส้นด้าย สามารถร่วมสนับสนุนได้ที่ บัญชีกสิกรไทย ชื่อบัญชี เส้นด้าย เลขที่บัญชี 101-8-05351-5 หรือ ส่งมาได้ที่ #ศูนย์เส้นด้ายกระจายเส้น 41 ซอยพหลโยธิน 11 แขวงพญาไท เขตพญาไท กทม. 10400 โทร 02 0965000
ในวันนี้กลุ่มเส้นด้ายก็มีภารกิจลงพื้นที่ไปเช็กอาการครอบครัวของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ชุมชนจันทราสุข ซอยลาดพร้าว 87 แยก 8 เขตวังทองหลาง กทม. ซึ่งภายในบ้านมีสมาชิกทั้งหมด 10 คน มีทั้งเด็กและผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 คน นายนฤธัช ศรีบุญเรือง อายุ 45 ปี และนายอภิวัฒน์ ด่านศรีชาญชัย อายุ 31 จะลงพื้นที่ไปวัดค่าออกซิเจนในเลือด วัดอุณหภูมิร่างกาย เพื่อดูความวิกฤตของแต่ละคน ถ้าใครมีค่าออกซิเจนต่ำกว่า 85 ก็จะประสานกลับมายังเส้นด้าย ให้นำถังออกซิเจนไปให้ทันที เนื่องจากยังไม่สามารถหาเตียงให้กับครอบครัวนี้ได้ พร้อมกับเข้ามอบอาหารบางส่วนสำหรับมื้อกลางวันและมื้อค่ำให้กับครอบครัวนี้
โดยมีการเตรียมตัวอย่างหนาแน่น สวมชุด PPE สวมถุงมือแพทย์ 3 ชั้น หมวกคลุมผม หน้ากากอนามัย N95 ถุงคลุมเท้า ซึ่งทุกอย่างสามารถใช้ได้แค่ครั้งเดียวเท่านั้น ส่วนอุปกรณ์หลัก ๆ ก็จะเป็นเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด เครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย ปรอทวัดไข้ ข้าวกล่อง เพื่อมอบให้กับผู้ป่วย
แต่ถ้าเป็นในกรณีที่ทางผู้ป่วยมีผลตรวจ RT-PCR และมีเตียงรอรองรับจากสถานพยาบาลต่าง ๆ แล้ว ก็จะเข้าไปรับแล้วพาไปส่งที่นั้น ๆ ทันที และหากเป็นกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิตคาบ้าน ก็ต้องมีการประสานไปยังทางเจ้าหน้าที่ตำรวจพื้นที่ เจ้าหน้าที่มูลนิธิ เข้าเก็บศพตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อีกครั้ง
นายนฤธัช กล่าวด้วยว่า จริง ๆ แล้วทุกเคสน่าสงสารหมด แต่อยากจะพูดถึง “คุณลุงเบิ้ม” ที่ป่วยอัลไซเมอร์และติดเชื้อโควิด-19 มาจากครอบครัวอีกที ซึ่งลุงออกมานอนอยู่ที่หน้าบ้าน ในสภาพที่อ่อนแรงมาก ๆ สื่อสารก็ไม่ค่อยจะได้ ภาพที่เห็นวันนั้นคือหดหู่และเศร้าใจมากจริง ๆ ยอมรับอีกว่าใจลึก ๆ ก็กลัว เพราะตนมีภรรยาและลูกอยู่ที่บ้าน แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ป่วยอีกหลายคนที่กำลังรอความช่วยเหลือ ก็เลยเลือกที่จะป้องกันตัวเองอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นการถอดชุด PPE ที่ได้รับการอบรมจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สปฉ.) หรือจะเป็นรถที่ใช้ออกปฏิบัติการพิเศษ ก็จะต้องได้รับการขึ้นทะเบียนและได้รับสติกเกอร์ชุดปฏิบัติการพิเศษตอบโต้โควิด-19 จาก สปฉ. เช่นกัน
Advertisement