28 ก.ค. 68 นายชำนาญ ชื่นตา ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ชี้แจงกรณีที่มีครูในพื้นที่ต้องเข้าเวรดูแลศูนย์พักพิงผู้ประสบเหตุจากเหตุปะทะบริเวณชายแดนไทยกัมพูชา ซึ่งมีเสียงสะท้อนในโลกออนำลน์ทำนองว่าเป็นกังวลเรื่องความปลอดภัย โดยระบุว่า การให้ครูอยู่ตามศูนย์อพยพหรือศูนย์พักพิง เป็นเรื่องจริง เนื่องจากมีศูนย์พักพิงหลายที่ตั้งอยู่ในโรงเรียน จึงจำเป็นต้องให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมในคณะทำงาน เพื่อดูแลสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า รวมถึงความเรียบร้อยของสถานที่ในฐานะเจ้าของพื้นที่
นายชำนาญ กล่าวต่อว่า คณะทำงานประจำศูนย์ประกอบด้วยตัวแทนจากหน่วยงานท้องถิ่น เช่น ปลัดอำเภอ, กำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารโรงเรียน โดยมีนายอำเภอเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และพิจารณาคัดเลือกบุคลากรตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ ในหลายกรณี ทางโรงเรียนได้จัดครูมาเวรเกินจำนวนที่กำหนดตามประกาศของอำเภอ ซึ่งบางส่วนมาด้วยความสมัครใจ แต่ก็มีบางรายที่รู้สึกว่าเป็นการปฏิบัติงานในวันหยุดและอาจคาดหวังค่าตอบแทน เช่น ค่าโอที นายชำนาญ มองว่า ก็ขึ้นอยู่กับจิตสำนึกและความร่วมมือของแต่ละบุคคล และหากศูนย์พักพิงไม่ได้ตั้งอยู่ในโรงเรียน ก็จะไม่มีความจำเป็นต้องให้ครูอยู่เวร แต่หากใช้สถานศึกษาก็จำเป็นต้องมีบุคลากรจากโรงเรียนร่วมดูแล ส่วนจำนวนครูที่ต้องเข้าเวรในแต่ละศูนย์จะขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นที่และการจัดการเฉพาะจุด
สำหรับโรงเรียนที่ปิดการเรียนการสอนชั่วคราวตามแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการ ก็อาจไม่จำเป็นต้องมีการเฝ้าประจำตลอดเวลา แต่สามารถแวะเวียนไปตรวจสอบเป็นระยะได้ โดยจะพิจารณาตามความปลอดภัยของพื้นที่และระดับความรุนแรงของสถานการณ์
นายชำนาญ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่ดูแลพื้นที่ส่วนหลังจะมีทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) โดยทั้งหมดมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในเขตรับผิดชอบ ไม่เฉพาะในหมู่บ้าน แต่รวมถึงวัดและโรงเรียนด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้ว ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บริหารสถานศึกษาแต่ละแห่งว่าจะจัดเวรครูในลักษณะใด
Advertisement