วันที่ 7 มิ.ย. 65 เวลา 10.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เป็นประธานการประชุมเพื่อหารือแนวทางบูรณาการการปฏิบัติงานในการป้องกันไม่ให้นำรถส่งผู้ป่วย รถกู้ชีพ มาใช้ในการกระทำความผิด โดยมีตัวแทนจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ผู้บังคับการตำรวจภูธรทั้ง 9 จังหวัดในภาค 1 เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และตัวแทนมูลนิธิต่าง ๆ ในพื้นที่ภาค 1 ร่วมด้วย
ขณะนี้สามารถจับกุมคดีรถกู้ภัยขนยาเสพติดได้แล้ว 2 คน ยังหลบหนีอยู่อีก 2 คน และขยายผลถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ซึ่งคนร้ายกลุ่มนี้ไม่ได้ทำครั้งแรก พฤติกรรมเป็นการรับจ้างลำเลียงยาเสพติดมาจากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มากระจายในพื้นที่ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามพฤติกรรมมานานแล้ว มีการจับกุมผู้ค้ารายกลาง จนทราบว่า 4 คนนี้จะลักลอบขนยาเสพติดในช่วงเดือน มิ.ย.
จนวันเกิดเหตุ 5 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบว่ามีการขนยาเสพติดมาจากต้นทางตั้งแต่เวลา 05.00 น. รู้ขนาดว่าใช้รถอะไรขนยาเสพติด มีรถนำทาง ผู้บังคับการจังหวัดสระบุรีทราบว่ามีการขนยาผ่านจังหวัดสระบุรี จึงวางแผนสกัดจับ และสามารถจับกุมรถนำได้ผู้ต้องหา 2 คน ขับรถกระบะใส่ตู้ทึบ คือนายสมพงษ์ สุรินทร์คำ อายุ 23 ปี และนายพิวัส ไชยสลี อายุ 23 ปี ส่วนรถตู้กู้ชีพได้หลบหนี โดยใช้สัญญาณไซเรนและเปิดไฟวับวาบ จนเข้าเขตนครบาลพร้อมทิ้งของกลางยาบ้า 2,250,000 เม็ด
โดยรถตู้กู้ชีพคันนี้จากการตรวจสอบทราบว่า มีการขับรถจากกรุงเทพไปรับยาเสพติดด้วยตัวเองที่ จ.เลย ก่อนขับนำยาเสพติดกลับมาส่งในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งเป็นการขับออกนอกพื้นที่แบบผิดกฎหมาย เพราะปกติรถกู้ชีพต้องขออนุญาตออกนอกพื้นที่ ส่วนการทิ้งยาเสพติดและรับตัวสามีภรรยาผู้ก่อเหตุออกไปนั้น อยู่ระหว่างการสืบสวน โดยเฉพาะตัวนายไอซ์ ซึ่งขับรถตามรถตู้เข้าไปว่ามีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ โดยคดีนี้ต้องแยกระหว่างนายทุน ผู้ผลิต และชุดลำเลียงคือกลุ่มผู้ต้องหาซึ่งได้รับเงินค่าจ้างครั้งละ 150,000 บาท ถึง 300,000 บาท ปลายทางคือกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ทีมข่าวเดินทางไปที่บ้านพักของนายชาญณรงค์ พุฒเจริญ หรือ ไอซ์ ผู้ที่ขับรถไปรับ 2 ผู้ต้องหาที่ขนยาเสพติด โดยทีมข่าวได้พบนางมะลิ (นามสมมติ) แม่เลี้ยงของนายไอซ์ ระบุว่า ปกตินายไอซ์พักอยู่กับแฟนที่หอพักอีกแห่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทราบว่านายไอซ์ไปรับนายโด้กับ น.ส.ทิพย์ เพราะนายไอซ์เป็นเพื่อนกับนายโด้ โดยนายโด้โทรศัพท์มาบอกให้ไปรับ แต่ไม่รู้ว่ามีการขนยาเสพติด
จากนั้นนางมะลิโทรศัพท์หาพ่อของนายไอซ์ เพื่อให้ทีมข่าวได้พูดคุย โดยพ่อของนายไอซ์ กล่าวว่า วันเกิดเหตุนายโด้โทรศัพท์มาหาลูกชาย บอกให้ออกไปรับเพราะถูกตำรวจไล่ยิง ลูกชายด้วยความเป็นห่วงเพื่อนก็ขับรถออกไปหา โดยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น โดยลูกชายตนได้คุยโทรศัพท์กับลูกชายเมื่อ 2 วันที่แล้ว หลังเกิดเหตุลูกเล่าให้ฟังว่า ได้แยกกับนายโด้ แล ะน.ส.ทิพย์แล้ว นายโด้ อ้างว่าตัวเองขนกัญชามาจึงต้องหนี ซึ่งตนก็มาทราบตามข่าวว่าเป็นยาบ้า
นอกจากนี้ ลูกยังบอกว่าทางนายโด้กำลังประสานติดต่อทนายและจะเข้ามอบตัว โดยตนก็บอกให้ลูกมอบตัวเลย เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องยาเสพติด ลูกบอกแค่ว่าต้องหนีก่อน หลังจากนั้นตนก็ติดต่อลูกไม่ได้อีกเลย พ่อของนายไอซ์ยังกล่าวว่า ลูกชายกับนายโด้รู้จักกันมานานแล้ว โดยลูกชายของตนเป็นกู้ภัยก่อน และนายโด้บอกว่าอยากทำด้วย ลูกตนจึงชวนให้มาทำด้วยกันไม่คิดว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ โดยพ่อของนายไอซ์ยืนยันว่าลูกไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนยาเสพติด
จากนั้นทีมข่าวเดินทางมาที่หอพักของนายชาญณรงค์ พุฒเจริญ หรือ ไอซ์ โดยนางน้อย (นามสมมติ) ผู้อาศัยในหอพักดังกล่าว เล่าว่า ปกตินายไอซ์อาศัยอยู่กับภรรยา ทั้งคู่ทำงานเป็นอาสาสมัครกู้ภัยอยู่ด้วยกัน ซึ่งเมื่อวันอาทิตย์ตนเจอนายไอซ์ช่วงเช้า หลังกลับมาจากทำงาน ทราบว่าเจ้าตัวลืมกุญแจเข้าห้องและได้มาขอกุญแจที่ผู้ดูแลหอพัก จากนั้นช่วงกลางวันก็ไม่ได้สังเกตว่านายไอซ์ออกไปช่วงไหน โดยเมื่อวานนี้ช่วงเช้ามืดก็เห็นนายไอซ์กลับมาที่หออีกรอบ เจ้าตัวยังยกมือไหว้ตน ตนเพิ่งมารู้เรื่องช่วงกลางดึกของเมื่อวานนี้ก็ตกใจมาก ส่วนตัวมองว่านายไอซ์เป็นเด็กดี ไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการขนยาเสพติด แต่ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่านายไอซ์หายไปไหน
ขณะที่กล้องวงจรปิดตรงข้ามหอพักจับภาพช่วงที่นายไอซ์เดินกลับเข้าหอในวันที่ 5 มิ.ย. 65 เวลาประมาณ 06.14 น. ซึ่งเป็นเวลาก่อนเกิด
เวลา 12.00 น. ภายหลังการประชุม พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 กล่าวว่า จากการประชุมจะมีการรวบรวมตัวเลขรถที่ขออนุญาตจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติอย่างถูกต้อง ทั้งรถที่ลำเลียงผู้ป่วย และรถที่ไม่ลำเลียงผู้ป่วย
ส่วนรถอาสาสมัครที่อยู่ในสังกัด อบต. หรือ อบจ. ก็ประกอบไปด้วยรถลำเลียงผู้ป่วย รถกู้ภัย และรถเก็บศพ ซึ่งทั้งหมดข้อมูลยังกระจายอยู่ตามจังหวัด
หลังจากนี้จะรวบรวมทะเบียนรถที่ได้รับอนุญาตประเภทต่าง ๆ มารวมไว้ที่เดียวกัน และลงโปรแกรมที่ตำรวจสามารถตรวจสอบรถที่ขับผ่านได้ว่าเป็นรถที่ลงทะเบียน สามารถติดไฟฉุกเฉินได้หรือไม่ เพื่อป้องกันการนำรถไปกระทำความผิด โดยการรวบรวมข้อมูลได้กำชับทางผู้บังคับการจังหวัดให้รวบรวมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว คาดว่าไม่เกิน 30 วันแน่นอน
ทั้งนี้ รถพยาบาล รถกู้ภัย ต้องปฏิบัติงานในจังหวัดของตัวเอง เว้นแต่มีเหตุการณ์ใหญ่ที่ต้องระดมกำลังเข้ามาเสริม ส่วนการส่งตัวผู้ป่วยนอกเขตนั้น ทางสาธารณสุขแต่ละจังหวัดมีศูนย์สั่งการอยู่แล้ว แต่จะมีการประสานมายัง 191 ของตำรวจ ทาง 191 จะแจ้งไปยังสถานีตำรวจพื้นที่ เพื่ออำนวยความสะดวก เป็นข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้เกิดความชัดเจน
สำหรับลักษณะรถที่ใช้ในก่อเหตุเป็นรถเถื่อนแน่นอน เพราะไม่มีข้อความกำกับว่าอยู่หน่วยใด เขียนแค่คำว่า Ambulance เท่านั้น
ตอนนี้ได้สั่งการว่าหากเจอรถที่ไม่มีสังกัดในลักษณะนี้ ให้ทำการตรวจทันทีว่าติดสัญญาณไฟได้อย่างไร ขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ หากผิดจับหมด
Advertisement