สถานีพัฒนาที่ดินนราธิวาส พัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกอย่างยั่งยืน
นายวีระพรรณ แกล้วทนงค์ หมอดินอาสาประจำตำบลสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ได้ปลูกส้มประมาณ 30 ไร่ ในพื้นที่อำเภอแว้ง สภาพพื้นที่ดินเป็นดินร่วนละเอียด หน้าดินลึกมาก เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย สภาพดินเป็นกรดจัดมาก ความอุดมสมบูรณ์ต่ำและน้ำซึมลงใต้ดินได้ช้า ขาดแคลนน้ำในระยะที่ฝนทิ้งช่วงนาน เป็นอุปสรรคต่อการใช้เครื่องมือทางการเกษตร เกิดปัญหาทำให้รากของต้นส้มมักเกิดโรคอยู่เสมอ
ในปี 2554 ได้นั่งดูทีวีและเปิดเจอสารคดี เรื่องการใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงสอน ก่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่า “หากหญ้าแฝกไม่ดีจริง ท่านคงไม่บอกให้เราใช้” ดังนั้นในผืนดินที่มีปัญหาย่อมต้องแก้ไขได้ ต่อมาได้เข้ามาขอรับการสนับสนุนน้ำหมักชีวภาพ พด.2 และได้เห็นต้นหญ้าแฝกจำนวนมาก ภายในสถานีพัฒนาที่ดินนราธิวาส จึงสอบถามและได้ขอรับกล้าหญ้าแฝกเปลือย จำนวน 5,000 กล้า เพื่อนำไปปลูกรอบทรงพุ่มของต้นส้ม
เมื่อปลูกได้ระยะหนึ่ง ได้มีการตัดใบหญ้าแฝกเพื่อนำมาห่มดิน จากเดิมที่ต้องรดน้ำเช้า-เย็นในแต่ละวัน ก็ลดลงเหลือสัปดาห์ละ 2 ครั้ง รากส้มเกิดโรคลดลง ดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้น สังเกตจากเริ่มมีไส้เดือนในดินเยอะขึ้น ดินซับน้ำได้ดี ความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้น เมื่อเห็นถึงความแตกต่างที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความเชื่อมั่น จึงได้ขยายพันธุ์หญ้าแฝกไปยังแปลงอื่น ๆ เช่น แปลงมะพร้าวน้ำหอม รวมถึงในพื้นที่ดำเนินการ 5 ไร่ จากสภาพพื้นที่ลาดชัน ขาดน้ำในการดำเนินการภาคเกษตร เกษตรกรจึงเข้ามาขอคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินนราธิวาส และได้สมัครเข้าร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ หลังดำเนินการขุดสระน้ำจึงมีการขุดแยกแฝกในแปลงเดิม มาขยายปลูกในพื้นที่ ใบหญ้าแฝกนอกจากจะใช้ห่มดินแล้ว ยังนำมาคลุมแปลงผักสลัดยกแคร่ โดยแทบไม่พบการเกิดโรค ทำให้ผลผลิตสวยงามเป็นที่ต้องการของตลาด
Advertisement