ทำความรู้จัก ภาวะฝืนทำงาน หลังผลการสำรวจกรมสุขภาพจิตชี้ วัยทำงาน เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ฝืนทำงานทั้งที่ร่างกายเจ็บป่วย
รู้หรือไม่ว่า พฤติกรรมการทำงาน สามารถบอกสุขภาวะทางจิตของคนนั้นได้ โดยเฉพาะในวัยทำงานหลายคน ที่มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพทางจิต ยิ่งทำงานมากเกินไป ไม่กล้าลาทั้งที่เจ็บป่วย อดทนทำงานไปเรื่อย ๆ จนพาร่างกายและตัวเองเข้าสู่ ภาวะฝืนทำงาน
การฝืนทำงานทั้งที่เจ็บป่วย โดยที่ไม่กดวันลา ถือเป็นพฤติกรรมการทำงานพร้อมด้วยร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ หรือ Presenteeism ถือเป็นอาการที่ไม่เต็มที่สำหรับการทำงาน อนึ่ง การมาทำงานที่ออฟฟิศทั้งที่ป่วย เป็นการทำงานในสภาพที่ไม่พร้อมเต็มที่ อาจมีสาเหตุมาจากอาการป่วย การบาดเจ็บ หรือโรคต่าง ๆ เป็นหนึ่งในนั้น ทำให้เกิดการทำงานผิดพลาด ได้คุณภาพของงานน้อยลง และมีค่าใช้จ่ายมากกว่าพฤติกรรมการขาดงานเป็นประจำ
วัยทำงาน เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตสูง
ข้อมูลจาก สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ที่ได้รายงานไว้เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 พบว่า วัยทำงานที่อายุ 20-59 ปี เข้าขอรับบริการเกี่ยวกับคามเครียด ความวิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน สูงถึง 6,337 สาย นับเป็นอันดับ 1 ในการขอคำปรึกษา จากทั้งหมด 8,528 สาย ซึ่งถือเป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชน ที่ต้องการวิธีจัดการกับปัญหาสุขภาพจิต
โดยส่วนใหญ่แล้ว จากการสำรวจสุขภาวะของวัยทำงาน พบว่าพนักงานมีปัญหาสุขภาพจิต 42.7% ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เกิดจาก 5 สาเหตุ
- คิดว่าไม่มีใครทำงานแทนได้
- มีงานด่วน
- กลัวผลกระทบกับผลการประเมิน
- ความจำเป็นด้านการเงิน
- รู้สึกว่ายังทำไหว ไม่จำเป็นต้องหยุดทำงาน
ซึ่งกลุ่มวัยทำงานที่อายุ 20-59 ปี ถือเป็นกำลังสำคัญ ที่ต้องแบกรับรอบด้าน ทั้งผู้ใหญ่ ครอบครัว ผู้สูงวัย และเด็ก โดยผลสำรวจจาก 200 คน พบว่าร้อยละ 49.1 อยู่ในภาวะฝืนทำงาน ประกอบกับการทำงาน 5-6 วันต่อสัปดาห์ กล่าวคือ รู้ตัวเองว่าไม่ไหวแต่ยังคงต้องไปทำงาน แม้ว่าขณะดังกล่าวรู้สึกชัดเจนถึงอาการเจ็บป่วยทางใจ
นอกจากนี้ยังพบผลจากการสำรวจว่า พนักงานต้องการนโยบายการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตที่ดีในการทำงาน 6 เรื่อง อันได้แก่
- เพิ่มสวัสดิการด้านการรักษาสุขภาพกายและใจ 41.7%
- อบรมให้ความรู้และจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมสุขภาพกายและจิตใจ 16.7%
- เพิ่มสวัสดิการที่เกี่ยวข้องกับการลา และนโยบายการลาพักผ่อน 13.1%
- มีการสื่อสาร แลส่งเสริมการพูดคุยสื่อสาร และรับฟังปัญหาซึ่งกันและกัน 11.3%
- สร้างบรรยากาศ วัฒนธรรมที่ดีในองค์กร และสร้างความเท่าเทียม ไม่กดดัน 10.1%
- เพิ่มสวัสดิการทางการเงิน หรือเพิ่มสวัสดิการเกี่ยวกับค่าตอบแทน อาหาร โบนัส 6.0%
รู้จักพฤติกรรมการทำงานขณะร่างกายไม่สมบูรณ์ หรือ ภาวะฝืนทำงาน
ภาวะฝืนทำงาน หรือ พฤติกรรมการทำงานในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ (Presenteeism) ไม่ได้เป็นที่กล่าวถึงในประเทศไทยเท่าไรนัก เพราะเป็นพฤติกรรมที่สามารถพบได้ทั่วไปทุกที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องดูแลคนไข้ โดยมีลักษณะตรงกันข้ามกับพฤติกรรมขาดงานเป็นประจำ (Absenteeism)
การทำงานในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์นั้น จะทำให้ผลิตผลจากการทำงานของบุคคลดังกล่าวลดลง ไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งพฤติกรรมนี้สามารถตรวจจับได้ยากกว่า พฤติกรรมการขาดงานเป็นประจำ ที่มีการบันทึกอย่างชัดเจนและสังเกตเห็นได้
ผลกระทบการทำงานในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์นั้น ทำให้เกิดการทำงานที่ผิดพลาด ได้คุณภาพงานที่น้อยลง และมีค่าใช้จ่ายมากกว่าพฤติกรรมขาดงานเป็นประจำถึง 5 เท่า เนื่องจากต้องใช้เวลาในการรักษาโรคเรื้อรังที่ไม่หาย อีกทั้งจากการที่ไม่ยอมหยุดงาน ดังนั้นการเข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดพฤติกรรมฝืนทำงาน จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานหรือหัวหน้างาน สามารถหาวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างถูกวิธี
อาการที่พบได้จากภาวะฝืนทำงาน
อาการที่พบได้ของพฤติกรรมการทำงานในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์นั้น คือ การมาทำงานทั้งที่มีความเจ็บป่วย สมควรแก่การหยุดงาน ซึ่งมีผลกระทบของพฤติกรรมการทำงานในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ไว้ใน 2 แง่ คือ ด้านเศรษฐกิจ และด้านพฤติกรรม
- ด้านเศรษฐกิจ : ผลการทำงานน้อยลง ไม่ได้ประสิทธิภาพ เนื่องจากไปทำงานขณะเจ็บป่วย ทำงานได้ไม่เหมือนปกติ
- ด้านพฤติกรรม : ไปทำงานทั้งที่มีความเจ็ยป่วย จำเป็นต้องหยุดงาน หรือไปทำงานทั้งที่มีความรู้สึกว่าเจ็บป่วย
ในปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานการวินิจฉัยพฤติกรรมการทำงาน ในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ แต่นิยมใช้กัน คือ The Stanford Presenteeism Scale หรืออาจเป็นคำถามสั้น ๆ พบได้ในงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นว่า มีการมาทำงานทั้งที่มีความเจ็บป่วยหรือไม่ โดยพฤติกรรมการทำงานในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์นั้นเป็นพฤติกรรม ไม่ใช่โรค จึงไม่มีการระบุไว้ในระบบ ICD-10 และ DSM-V
สาเหตุพฤติกรรมการทำงานในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์
- อาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน อาทิ เป็นหวัด ภูมิแพ้ อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะ
- โรคที่เป็นซ้ำ ๆ อาทิ ภูมิแพ้ แพ้อากาศ
- โรคเรื้อรัง อาทิ ข้ออักเสบ ปัญหากระดูกและกล้ามเนื้อ อาการทางสุขภาพจิต อาการนอนไม่หลับ
- ปัจจัยด้านวิถีชีวิต อาทิ มีปัญหาเรื่องการกินอาหาร การสูบบุหรี่
ประเด็นเกณฑ์เรื่องความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพจิต ว่าสมควรต้องมีการหยุดงานหรือไม่ เป็นสาเหตุที่ทำให้มีความชอบธรรมน้อยกว่า การเจ็บป่วยทางกายในการหยุดงาน ทำให้เกิดพฤติกรรมการทำงานในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์มากขึ้น
กล่าวคือ หากบุคคลดังกล่าวมีปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ คิดมาก หรือกังวลจากการทำงาน รวมไปถึงผู้ที่มีภาวะเครียด ภาวะซึมเศร้า อาจลาได้ยากกว่าคนทั่วไปที่มีการเจ็บป่วยอย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่มีการแสดงออกของโรคให้เห็นอย่างชัดเจน มีเพียงการแสดงออกทางด้านจิตใจ ที่เจ้าตัวจะแสดงหรือไม่แสดงให้เห็นก็เป็นได้
ปัญหาจากการทำงาน อาจเป็นต้นเหตุในการเกิดภาวะฝืนทำงาน
ปัจจัยด้านเศรษฐกิจยังเป็นสาเหตุในการเกิดพฤติกรรมการทำงานในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ ได้แก่ ความไม่มั่นคงของการทำงาน ในฐานะลูกจ้างชั่วคราว หรือผู้ที่ยังไม่ผ่านโปรการทำงาน และการขาดทางเลือกในการเลือกงาน ถ้าหยุดงานจะไม่ได้รับเงินชดเชยแม้ป่วยจริง นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นที่พบอีก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ อาจมีส่วนในการไม่ใช้สิทธิ์การลาป่วยที่ได้รับค่าจ้าง ทำให้การเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และความรุนแรงของความเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น
อีกทั้งตัวบ่งชี้ในการทำงานโดยการนับวันหยุด เพื่อเป็นการให้พนักงานมาทำงานให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เป็นตัวบ่งชี้ที่ไม่สามารถควบคุมคุณภาพการทำงานได้ แต่เน้นที่การมาทำงานให้มากที่สุด ทำให้มีการส่งเสริมพฤติกรรมฝืนทำงานมากขึ้น รวมไปถึงการใช้วนหยุดมากถูกหักเงิน และการหยุดในวันหยุดราชการ หรือการไม่ทำงานสองแรง
สิ่งที่เห็นได้ชัดจากภาวะการฝืนทำงาน หากผู้นั้นอยู่ในวัฒนธรรมองค์กร ที่มีการกำหนดมาตรฐานความเจ็บป่วยที่ชัดเจนในการลาหยุด มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเมื่อมีความเจ็บป่วย และการทำตัวเป็นแบบอย่างของหัวหน้า ที่หยุดเมื่อเจ็บป่วย จะสามารถช่วยลดการฝืนทำงานทั้งที่ป่วยได้
ลักษณะงานที่ทำให้เกิดพฤติกรรมการทำงานในร่างกายที่ไม่สมบูรณ์
- ใช้ความสามารถสูง
- งานหนัก
- ทำงานแข่งกับเวลา
- งานกะ (งานแบบแบ่งกะเวลาทำงาน)
- งานที่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- งานที่ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ
- งานมีความเสี่ยง
- งานที่มีความเครียดสูง
นอกจากนี้ยังรวมไปถึง ผู้ที่มีนิสัยส่วนตัวที่ติดการทำงาน ทุ่มเทให้กับงานมากเกินไป อาจเกิดผลเสียทำให้เกิดพฤติกรรมการทำงานที่ฝืน หรือภาวะฝืนทำงานเพิ่มขึ้น จนเกิดเป็นภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) มากขึ้น
กล่าวคือบุคคลดังกล่าวจะมีความสุขในการทำงานน้อยลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานต่ำ และนิสัยที่ผู้ที่ปฏิเสธคนอื่นไม่เป็น ยังเป็นส่วนที่ทำให้เกิดการฝืนมาทำงาน ทั้งที่ตัวเองป่วยเพิ่มขึ้นอีกด้วย ในลูกจ้างที่ป่วยเรื้อรัง พบว่า การรู้จักประเมินตนเองว่า มีความเจ็บป่วยที่สมควรแก่การลาหยุด สามารถลดการฝืนมาทำงานทั้งที่สภาพร่างกายไม่ดีได้
ปัญหาเรื่องพฤติกรรมการทำงาน ในขณะที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ หรือการตกอยู่ใน ภาวะฝืนทำงาน อาจไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปให้ความสนใจมากนัก เนื่องจากมีเกณฑ์ชี้วัดที่หาได้ยาก และไม่เห็นถึงผลกระทบต่อทั้งคนงานและองค์กรในหลาย ๆ ด้าน แต่ในลักษณะงานที่มักเป็นสาเหตุของพฤติกรรมดังกล่าว ที่มีความจำเพาะกับงานมาก ชนิดที่ไม่สามารถหาคนมาแทนได้ อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ แพทย์ ครู หรือผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ ควรมีการดูแลด้านอาชีวอนามัยในการทำงาน เพื่อเป็นการรักษาและฟื้นฟูปัญหาที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังได้เป็นการเก็บข้อมูลว่าหน่วยงานใดบ้างที่มีความเสี่ยง เพื่อเป็นการปรับกฎเกณฑ์ในการพักผ่อน เพื่อให้พนักงานไม่จมอยู่ในภาวะฝืนทำงาน และเกิดเป็นภาวะหมดไฟในการทำงาน (Burnout Syndrome) ในอนาคต
ที่มา : Hfocus (hfocus.org) / สำนักวิจัยและพัฒนาด้านสุขภาพ (thaijo.org)