อย่าให้แม่ต้องสาป! ฮิจรา กะเทยอินเดีย ที่ผู้คนเชื่อว่าวาจาศักดิ์สิทธิ์ ใครโดนแช่งชีวิตจะซวย

7 มิ.ย. 67

อย่าให้แม่ต้องสาป! ทำความรู้จัก "ฮิจรา" กะเทยอินเดีย กลุ่มคนที่เชื่อกันว่ามีเทพเจ้าคุ้มครอง เหนือกว่าคนธรรมดา วาจาศักดิ์สิทธิ์ หากใครโดนแช่งชีวิตจะโชคร้าย ซวยซ้ำซวยซ้อน

ฮิจรา คืออะไร

กะเทย หรือ ฮิจรา (Hijra) ในวัฒนธรรมอินเดีย คำนี้เป็นภาษาอูรดู ภาษาถิ่นของทางอินเดียเหนือ ภาษาฮินดียืมคำนี้มาใช้เรียกคนข้ามเพศหรือกลุ่มผู้ชายที่มีลักษณะและพฤติกรรมท่าทางคล้ายผู้หญิง

ในสังคมอินเดียการมีเพศสภาพเป็นชาย แต่จิตใจและการแต่งกายเป็นหญิง ทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ให้การยอมรับ เพราะถูกมองว่าไม่ใช่ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย "ฮิจรา" มักจะถูกครอบครัวขับไล่ออกมาเพราะเป็นเรื่องน่าอับอาย ทำให้คนกลุ่มนี้ขาดโอกาสทางการศึกษา ขาดการเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ทำให้พวกเธอมักจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เพื่อต่อสู้ ดูแล และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน กลุ่มหนึ่งมีราว 5 คนหรือมากกว่านั้น โดยมี “กูรู” เป็นผู้นำ และมีกฎเกณฑ์ภายในกลุ่มของตนเอง มีการสอนร้องเพลง เต้นรำ และกิจกรรมอื่นๆ เพื่อหาเลี้ยงชีพ ประเทศที่มีฮิจรามากที่สุด คือ อินเดีย ปากีสถาน และ บังกลาเทศ ตามลำดับ

afp__20170323__mw2db__v1__hig

ตำนานความเชื่อโบราณของ ฮิจรา

ในตอนหนึ่งของรามเกียรติ์ หรือ รามายณะของฉบับอินเดียใต้ ครั้งที่พระรามถูกเนรเทศ มีกลุ่มชนได้เดินทางไปส่งพระราม เนื่องจากพระรามต้องเดินทางไปอยู่บำเพ็ญพรตในป่าเป็นเวลานาน จนถึงชายป่า พระรามได้ตรัสกับกลุ่มชนว่า “ผู้ชาย ผู้หญิงทั้งหลาย ให้กลับไปบ้านของเจ้าเถิด” กลุ่มชนเหล่านั้นก็เดินทางกลับบ้านของตนอย่างเชื่อฟัง จนกระทั่ง 14 ปีผ่านไป พระรามเดินทางกลับออกจากป่า พระรามได้พบกับกลุ่มฮิจรารอพระองค์อยู่ เนื่องจากพระรามมิได้บอกให้กลุ่มฮิจราเดินทางกลับ เพราะไม่ใช่เพศชายหรือเพศหญิง จึงเฝ้ารอพระรามอย่างเชื่อฟัง จึงทำให้พระรามเกิดความเมตตาที่กลุ่มฮิจรามีความเคารพศรัทธาในคำพูดของพระองค์ จึงประสาทพรให้ฮิจราสามารถให้พรใครก็ได้ และสามารถสาปแช่งใครก็ได้ ให้เป็นไปตามคำพูดของตน

นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า พระแม่พหุชระ (Bahuchara Devi) ซึ่งเป็นภาคหนึ่งของพระแม่อุมาเทวี ชายาพระศิวะ ได้ทรงทราบถึงความรักของมนุษย์ว่าบนโลกนี้ไม่ได้มีความรักระหว่างหญิง-ชายเท่านั้น แต่ยังมีความรักในเพศเดียวกัน แต่คนกลุ่มนี้ยังถูกกีดกันจากครอบครัวและสังคม พระแม่อุมาเทวีจึงแบ่งภาคมาเป็นพระเทวีพระองค์หนึ่ง มีแปดพระกร ในพระหัตถ์ถือตรีศูล ดาบ ศาสตราอาวุธอื่นๆ คัมภีร์ ดอกบัว และจะมีพระหัตถ์ทำท่าประทานพร ประทับบนหลังไก่ตัวผู้เป็นพาหนะอันเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ พร้อมบริวารติดตามสองตน คือ ชายรักร่วมเพศ และ หญิงรักร่วมเพศ เพื่อให้ความอุปถัมภ์ ปกป้องคุ้มครอง ตลอดจนเสริมพลังสร้างกำลังใจให้แก่ ชายรักชาย และหญิงรักหญิง

afp__20170922__so1g7__v1__hig

ความเชื่อของคนอินเดียที่มีต่อ ฮิจรา

คนในสังคมอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดู มีความศรัทธาในเทพเจ้าอย่างแรงกล้าเป็นพื้นฐาน ทำให้ฮิจรามีพลังและอำนาจในการต่อรองเพื่อการมีตัวตนในสังคมฮินดูที่ไม่ยอมรับพวกเธอ ผ่านคติความเชื่อว่า พระแม่พหุชระ เสมือนเป็นมารดาของ ฮิจรา โดยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-19 ฮิจรายังถือว่ามีอำนาจทางศาสนา พวกเธอมักได้รับเชิญในช่วงพิธีทางศาสนา วันสำคัญต่างๆ มาอวยพรเด็กแรกเกิด หรือ เต้นรำเพื่ออวยพรในงานแต่งงาน เพราะเชื่อว่าพวกฮิจราจะนำโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์มาสู่ครอบครัว อย่างไรก็ตาม หากผู้ใดถูกกลุ่มฮิจราสาปแช่ง จะถือเป็นความโชคร้ายอย่างที่สุด ชีวิตจะเจอแต่ความซวยเป็นไปตามความเชื่อในรามายณะของฉบับอินเดียใต้

แต่เมื่อครั้งที่อินเดียตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 รัฐบาลอังกฤษได้เข้ามามีอิทธิพลในการเปลี่ยนวัฒนธรรม มีการใช้ความรู้สึกส่วนตัวในการตัดสินว่าเพศสภาพของฮิจรานั้นขัดต่อธรรมชาติ ผิดศีลธรรม ทำให้ผู้คนเริ่มลดการเคารพและให้เกียรติฮิจรา

afp__20141010__del6359728__v1_1

พื้นที่ทางสังคมของ ฮิจรา ในสังคมปัจจุบันของอินเดีย

สังคมอินเดียยังไม่เปิดกว้างต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ และระบบวรรณะยังคงฝังรากลึกอยู่ในความเชื่อ จึงกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ฮิจราไม่สามารถขยับสถานะทางสังคม มีการงานที่มั่นคง หรือประกอบอาชีพอื่นได้มากนัก พวกเธอจึงยังคงมีบทบาทสำคัญแค่การเต้นระบำรำฟ้อน อวยพรในงานแต่งงานและวันแรกเกิดของเด็กๆ ประกอบกับความเชื่อเรื่องการอำนวยพร ให้โชคของฮิจราจึงยังมีผู้คนพร้อมที่จะให้เงินกลุ่มฮิจรา ซึ่งเรามักจะเห็นพวกเธอเดินบนท้องถนนขอเงินผู้คนและนักท่องเที่ยว พวกเธอจะแต่งหน้าด้วยเครื่องสำอางราคาถูก สวมส่าหรีที่สวยงามที่สุดเท่าที่จะหาได้เพราะข้อจำกัดเรื่องการเงินนั่นเอง

ในปัจจุบันกลุ่มฮิจราพยายามหาพื้นที่ในสังคมมากขึ้น โดยอ้างถึงสิทธิมนุษยชนในการเรียกร้อง ทำให้ทางการอินเดียออกกฎหมายให้พวกเธอสามารถมีบัตรประชาชน มีสิทธิการศึกษา ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง รัฐต่างๆ ในอินเดียต่างตื่นตัวในการรับรองความหลากหลายทางเพศ จึงออกกฎหมายให้คนข้ามเพศสามารถเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ ได้รับสวัสดิการอื่นๆ แต่ระบบวัฒนธรรมและความเชื่อทั้งหลายที่ฝังลึกมานานนับพันปี ทำให้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศยังคงไม่ได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่ ทำให้บุคคลกลุ่มนี้ต้องสร้างความเข้าใจและต่อสู้ในเรื่องต่างๆ กันต่อไป

advertisement

เทรนดี้ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด