รู้จัก GASOHOL ดีพอหรือยัง? เชื้อเพลิงหลัก มีคุณสมบัติอย่างไร

21 เม.ย. 67

ปัจจุบัน GASOHOL กลายเป็นเชื้อเพลิงหลักแทนน้ำมันเบนซิน ทั้งแบบออกเทน 91 และ 95 เพราะรัฐบาลเลิกขายไปแล้วนั่นเอง แต่หลายคนก็ไม่ค่อยอยากใช้สักเท่าไหร่ และยังมีคนสงสัยถึงที่มาที่ไป รวมถึงว่า “จะใช้ดีหรือไม่ดี” เลยจะนำเรื่องราวเกี่ยวกับ GASOHOL มาบอกเล่ากัน

ในปัจจุบัน GASOHOL ที่ออกจำหน่ายตามสถานีบริการน้ำมัน ได้จากการผสมระหว่าง เอทานอล หรือที่เรียกว่า เอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% ผสมกับน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ในอัตราส่วนน้ำมันเบนซิน 9 ส่วน เอทานอล 1 ส่วน จึงได้เป็นน้ำมัน GASOHOL ออกเทน 95 ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมธุรกิจพลังงานกระทรวงพลังงาน การผสมแอลกอฮอล์ลงในน้ำมันเบนซินในข้างต้น เป็นในลักษณะของสารเติมแต่งปรับปรุงค่า OXYGENATES และค่าออกเทน ของน้ำมันเบนซิน ซึ่งสามารถใช้ทดแทนสารเติมแต่งชนิดอื่นที่นิยมใช้ในปัจจุบันอย่าง MTBE หรือ METHYL TERTIARY BUTYL ETHER ได้

istock-1136053255

GASOHOL มีคุณสมบัติอยู่ในเกณฑ์ข้อกำหนด

  1. ค่าออกเทน ไม่ต่ำกว่า 95.0 ค่าออกเทนของน้ำมันเบนซินจะบ่งถึงคุณภาพในการต้านทานการน็อค หรือความสามารถของน้ำมันเบนซินที่จะเผาไหม้โดยเครื่องยนต์ไม่น็อค
  2. ค่าความดันไอ ไม่สูงกว่า 65 Kpa.(กิโลปาสคาล) ค่าความดันไอเป็นคุณสมบัติอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความสามารถในการระเหย ซึ่งจะมีผลต่อการสตาร์ทเครื่องยนต์
  3. สำหรับคุณสมบัติอื่น ๆ ของ GASOHOL จะมีคุณสมบัติเหมือนกับน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ยกเว้นสาร OXYGENNATE COMPOUND ที่กำหนดให้มีการเติมในน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ในปริมาณ 5.5 - 11% ของปริมาตร ซึ่งโดยทั่วไปในน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ที่ใช้ในตลาดปัจจุบัน จะเติม MTBE แต่ใน GASOHOL จะใช้ เอทิลแอลกอฮอล์ 99.5% ทดแทนในปริมาณ 10 -11 % ซึ่งจะยังคงทำให้คุณสมบัติในการใช้งานกับเครื่องยนต์เหมือนกันกับน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ทุกประการ

GASOHOL 95 มีคุณสมบัติใกล้เคียงหรือเทียบเท่าน้ำมันเบนซินออกเทน 95 สามารถใช้ได้กับรถยนต์ทุกรุ่น ที่มีระบบเชื้อเพลิงแบบหัวฉีด แต่ไม่แนะนำให้ใช้กับรถยนต์รุ่นเก่า ที่มีระบบจ่ายเชื้อเพลิงแบบคาร์บูเรเตอร์ เพราะในระยะยาว แอลกอฮอล์ที่ผสมอยู่ใน GASOHOL จะทำให้ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีส่วนประกอบยางธรรมชาติ เกิดการเสื่อมสภาพจนไม่สามารถใช้งานได้ อาจเกิดปัญหาคาร์บูเรเตอร์รั่ว หรือไม่สามารถจ่ายส่วนผสมไอดีได้อย่างถูกต้อง ทำให้เครื่องยนต์เดินไม่เรียบ เร่งไม่ขึ้น กำลังเครื่องตก และกินน้ำมันเชื้อเพลิงมากกว่าปรกติหลายเท่า

รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซิน ที่มีระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยหัวฉีด สามารถเติม GASOHOL ผสมกับน้ำมันที่เหลืออยู่ในถังได้เลย โดยไม่ต้องรอให้น้ำมันในถังหมด และผู้ใช้รถไม่ต้องดำเนินการปรับแต่งเครื่องยนต์แต่อย่างใด เพราะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเครื่องยนต์ และมีคุณสมบัติทำให้เกิดการเผาไหม้ของเครื่องยนต์สมบูรณ์ยิ่งขึ้นด้วย

ส่วนที่หลาย ๆ คนนึกถึง ปัญหาของเอทิลแอลกอฮอล์ ที่อาจส่งผลให้ชิ้นส่วนบางตัวในระบบเชื้อเพลิงมีปัญหา โดยเฉพาะชิ้นส่วนที่ทำจากยางนั้น ก็บอกว่ามันก็มีปัญหาบ้างล่ะ และกว่าจะถึงขั้นรั่วหรือปริแตกนั้น ก็คงใช้เวลาเป็นปี ๆ โดยรวมก็คงไม่น้อยไปกว่าการใช้เบนซินอย่างเดียวเป็นเชื้อเพลิงหรอก

อยากจะฝากเตือนถึง ท่านที่ยังใช้รถยนต์ติดแก๊สไม่ว่าจะ LPG หรือ NGV เป็นเชื้อเพลิงประจำรถ ควรจะเติมน้ำมันเบนซิน 91 หรือ 95 ขังไว้ในถังแทนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ด้วย ไม่อย่างนั้น นอกจากจะต้องเสียเงินค่าล้างถังน้ำมันแล้ว ท่านยังจะต้องเสียเงินค่าเปลี่ยนปั๊มติ๊กหรือปั๊มเชื้อเพลิงไฟฟ้าเพิ่มอีกด้วย

ยิ่งรถที่ใช้แก๊สเป็นประจำด้วยแล้ว ยิ่งต้องระวังให้ดี เพราะส่วนใหญ่จะใช้น้ำมัน ก็แค่ตอนสตาร์ทเครื่องยนต์ และเพื่อให้ Save สุด ๆ ก็ต้องเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ขังไว้ในถัง ประมาณ 15 – 20 ลิตรเท่านั้น แต่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ที่ขังไว้ในถังรถ สามารถสร้างน้ำให้ออกมากองอยู่ก้นถังได้ไม่น้อยกว่าลิตรหรือ 2 ลิตรเป็นอย่างต่ำทีเดียว

สังเกตได้ง่าย ๆ ว่า รถที่วิ่งด้วยเชื้อเพลิงแก๊สเป็นประจำ แล้วขังน้ำมันแก๊สโซฮอล์ไว้ในถังเป็นประจำอีกเช่นกัน พอจะหันกลับมาใช้น้ำมัน ผลก็คือ จะใช้น้ำมันไม่ได้ เนื่องจากน้ำมันไม่จ่าย ก็จะจ่ายได้ยังไงล่ะ ในเมื่อปั๊มเชื้อเพลิงไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า ปั๊มติ๊ก ซึ่งส่วนใหญ่มักถูกติดตั้งอยู่ในถังน้ำมัน เรียกได้ว่าตายสนิท เพราะมันไม่ได้แช่น้ำมันเพียงอย่างเดียวนะสิ มันแช่น้ำอยู่ด้วย ก็เลยเกิดสนิมขึ้นที่ตัวปั๊มติ๊ก เมื่อสนิมเกาะเขรอะไปทั้งตัว แล้วปั๊มติ๊กจะทำงานได้ยังไงล่ะ จริงไหม? ฝากไว้ด้วยนะ!

advertisement

Powered by อมรินทร์ นิวส์ - ยานยนต์

ยานยนต์ คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม