อั่งเปาตรุษจีน ควรแจกเท่าไร ใส่ซองมากแค่ไหน How to เปย์อย่างไรให้ปัง !

7 ก.พ. 67

วันตรุษจีน 2567 ปีนี้ ยังคงคึกคักเหมือนดังเช่นทุกปี พร้อมกับวลีที่ว่า "ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้" หรือไม่ก็ประโยคว่า "อั่งเปาตั่วตั่วไก๊" ก็ได้วนกลับมาอีกครั้ง เมื่อถึงคราวที่ต้องแจก อั่งเปาตรุษจีน ควรที่จะต้องจ่ายเท่าไร ใส่ซองยังไง แบงก์แดงพอมั้ย วันนี้ Amarin Horoscope จะพาไปทำความเข้าใจให้มากขึ้นค่ะ

ความหมายของอั่งเปา
ต้องบอกก่อนว่า อั่งเปา มาจากคำว่า อั่ง" ที่หมายถึง สีแดง และ "เปา" ที่แปลว่า ซอง ตามรากศัพท์ภาษาแต้จิ๋ว เมื่อรวมกันแล้วจึงมีความหมายว่า "ซองสีแดง" ซองที่ได้รับอิทธิพลมาจากความเชื่อเรื่องสี ที่เชื่อว่า สีแดงเป็นสีแห่งโชคลาภ เป็นสีแห่งความสิริมงคล

การให้อั่งเปา เป็นเหมือนการให้ขวัญถุง ที่มีเงินอยู่ด้านใน เป็นหนึ่งในการอวยพรจากผู้ใหญ่ ที่เป็นวัฒนธรรมต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีต ซึ่งนอกจากจะให้อั่งเปาคนที่อายุน้อยกว่าแล้ว ในช่วงนี้คนที่ทำงานแล้ว ยังถือเป็นโอกาสดีที่จะมอบอั่งเป่ากลับให้พ่อแม่ หรือญาติผู้ใหญ่ด้วยก็ได้ค่ะ

ก่อนที่จะไปเรื่องการใส่ซองนั้น ขอแวะไปทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่าง "อั่งเปา" กับ "แต๊ะเอีย" ก่อนค่ะ อย่างที่บอกว่าอั่งเปาคือคำนาม ที่หมายถึงซองแดงที่ใส่เงินไว้ มักมีลวดลายสีทองเป็นคำอวยพรควบคู่ไปด้วย แต่คำว่าแต๊ะเอียเป็นคำกริยา ที่หมายถึงการผูกเงินไว้ที่เอว

istock-1777772264

อั่งเปาตรุษจีน แจกเท่าไรถึงจะดี เปย์อย่างไรถึงจะปัง
พิธีการส่วนใหญ่นั้นมีหลักการที่ต่างกัน รวมถึงการให้อั่งเปาด้วย และเพราะไม่ได้มีการกำหนดราคากลาง จึงเป็นเหตุให้หลายคนที่เพิ่งได้จ่ายครั้งแรก ตั้งข้อสงสัยว่า "อั่งเปาตรุษจีนควรให้อั่งเปาเท่าไร" ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว จะนิยมให้เงินในซองอั่งเปาเป็นเลขคู่ เพราะถือเป็นตัวเลขมงคล หรือจะลองยึดเทคนิคตามด้านล่างนี้ก็ได้ค่ะ

  • ไม่ใส่ซองด้วยเงินเลขคี่ และเลข 4 : เพราะในภาษาจีนแล้ว เลข 4 มีการพ้องเสียงกับ ซี้ ที่แปลว่าความตาย
  • เลข 6 และ 8 เป็นเลขมงคล : เป็นเลขที่แทนถึงความราบรื่น สื่อถึงความร่ำรวย
  • ใส่เป็นจำนวนเลขคู่ เพื่อความทวีคูณ : เช่น 600, 2,000, 8,000 บาท อาจมีเลข 16 หรือ 36 ก็อนุโลมได้ เนื่องจากการรวมกันของ 6×6 หรือ 8+8
  • เน้นเงินสดและแบงก์แดง : เพราะสีแดงคือสีแห่งโชคลาภ ทางความเชื่อแล้ว แนะนำให้งดแจกแบงค์ 500 หรือ 1,000 แต่ถ้าเพื่อลูกหลานก็ไม่ว่ากัน
  • นิยมให้แบงค์ใหม่ไม่มีรอยยับ : แบงก์เก่าหรือยับ เป็นหนึ่งความเชื่อที่สวนทางกัน จึงไม่ควรให้แบงค์เก่าหรือยับ และใส่เหรียญให้แก่คนอื่น

 

แต่ถ้าต่อให้มีเทคนิคประกอบการตัดสินใจแล้ว แต่ก็ยังเลือกไม่ได้อยู่ดี ว่าเราควรจะใส่ซองเท่าไหน เพราะลูกหลานเยอะเหลือเกิน งั้นมาลองอีกอย่างค่ะ อาจใช้ประกอบการตัดสินใจได้

  • ให้ลูก : ประมาณ 500 บาทขึ้นไป
  • ให้พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ : ประมาณ 2,500 – 10,000 บาท (โดยผู้ใหญ่มักรวมเป็นซองเดียว)
  • ให้ลูกค้า : ประมาณมูลค่า 100 – 200 บาท (ส่วนใหญ่มักเป็นคูปองแทนเงินสด)
  • ให้ญาติ ให้ลูกของเพื่อนสนิท ที่อายุน้อยกว่าไม่มีรายได้ : ประมาณ 250 – 1, 000 บาท
  • ให้พนักงาน ให้ลูกน้อง : ประมาณ 500 – 5,000 บาท
  • ให้เด็กทั่วไปเพิ่งเจอกันครั้งแรก : ประมาณ 50 – 100 บาท

 

ถึงจะเป็นเทศกาลแห่งการให้ ที่กลายเป็นรายจ่ายวงเงินใหญ่ แต่หัวใจหลักสำคัญของเทศกาลนี้ คือการได้พบปะคนในครอบครัวอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้เจอกันเป็นเวลานาน และเพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้ที่จากไปแล้ว จึงมีพิธีการไหว้ตรุษจีนด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดมลภาวะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเสียง หรือฝุ่น PM 2.5 การปรับเปลี่ยนพิธีการให้ทันสมัยขึ้น ก็เป็นเรื่องที่น่าลองค่ะ

Powered by amarintv

ดูดวง คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม

ไลฟ์สไตล์ ล่าสุด