การเงิน

สรุปเงื่อนไข กองทุน TESG และทางเลือกในการลดหย่อนภาษีด้วยกองทุนรวม

8 ธ.ค. 66
สรุปเงื่อนไข กองทุน TESG และทางเลือกในการลดหย่อนภาษีด้วยกองทุนรวม

เลือกกองทุนลดหย่อนภาษีด้วยอะไรดี กองทุน TESG ตัวใหม่ดีไหม ก่อนจะตอบคำถามนี้ได้ เรามาทำความเข้าใจเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีกันก่อนครับ 

ต้องบอกว่า คำว่า “ค่าลดหย่อน” หรือ “รายการลดหย่อนภาษี” เป็นรายการที่กฎหมายกำหนดไว้ให้นำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้นหลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้ว” ซึ่งมาจากวิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เรียกว่า “วิธีเงินได้สุทธิ” ซึ่งมาจาก (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี

ดังนั้นเราสามารถสรุปได้ว่า ถ้าหากรายการค่าลดหย่อนเรามีมากขึ้น มันจะช่วยให้เงินได้สุทธิของเราลดลงได้ และเมื่อเงินได้สุทธิลดลง ก็จะเสียภาษีน้อยลงไปด้วย แต่จะเสียภาษีน้อยลงแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่เราเสียครับ (ตั้งแต่ยกเว้น - 35%) นั่นเองครับ

แต่เนื่องจากปี 2566 ช่วงปลายปี มีรายการค่าลดหย่อนใหม่ล่าสุดอย่าง กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thailand ESG Fund หรือ TESG เกิดขึ้นมา ซึ่งเริ่มเปิดขายหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม. 2566 นี้ โดยผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน TESG จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประจำปี 2566 ที่ต้องยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2567 

โดยนโยบายการลงทุนของกองทุน ThaiESG นั้นกำหนดให้สามารถลงทุนในหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) ​และบรรษัทภิบาล (Governance) ซึ่งกำหนดเงื่อนไขในการซื้อและถือครองดังนี้ครับ

  • ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท 
  • เงื่อนไขในการถือครองหลังจากซื้อไม่น้อยกว่า 8 ปี (เต็ม) 
  • ซื้อปีไหนสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ในปีนั้น และสามารถซื้อได้ตั้งแต่ปี 2566 – 2575
  • ไม่มีกำหนดจำนวนเงินซื้อขั้นต่ำ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกองทุน) 

โดยวงเงินในการซื้อกองทุน TESG  จะไม่ถูกนับรวมกับ กลุ่มลดหย่อนเพื่อเกษียณ เช่น กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ปัจจุบันถูกกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท

นั่นแปลว่าเมื่อนับรวมกันแล้ว จะลดหย่อนได้สูงสุดถึง 600,000 บาท 

กองทุนรวมลดหย่อนภาษี

ถ้าหากถามว่ากองทุนนี้เหมาะกับใคร ก็ต้องบอกว่า เหมาะกับผู้เสียภาษีที่มีเงิน (ฮา) และต้องการลดหย่อนเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่ลงทุน SSF กับ RMF และกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ ที่ใช้จนเต็มสิทธิ์แล้วและมองเห็นโอกาสศักยภาพการเติบโตในหุ้นยั่งยืนและธุรกิจที่ดำเนินงานตามหลัก ESG ในประเทศไทยร่วมกับสามารถถือครองกองทุน TESG อย่างน้อย 8 ปีขึ้นไปเพื่อให้ครบตามเงื่อนไขลดหย่อนภาษีนั่นแหละครับ

ดังนั้นสุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราต้องกลับมาถามตัวเองอีกที คือ เป้าหมายการเงินที่เรามี กับตัวช่วยลดหย่อนภาษีมันสอดคล้องกันหรือเปล่า เพื่อให้เราเลือกลงทุนได้ดีที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเรามีเป้าหมายการเงินในอีก 8 ปีข้างหน้า และเรามั่นใจว่ากองทุน TESG นั้นลงทุนในธุรกิจตามหลัก ESG ที่ตอบโจทย์ผลตอบแทนที่เราคาดว่าจะได้รับ ร่วมกับรับความเสี่ยงในการลงทุนกองทุนหุ้นได้ การซื้อสะสมเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการเงินและลดหย่อนภาษีก็เป็นเรื่องควรทำ เพราะมันตอบได้ทุกจุดที่เราต้องการ

หรือถ้าหากเรามองว่าเราต้องลดหย่อนตามเป้าหมายอื่นที่สำคัญกว่าก่อน แล้วค่อยซื้อสะสมเพิ่มเติมก็ไม่ใช่เรื่องผิด ติดที่ต้องเช็คเงิน (สภาพคล่อง) ที่เรามี ร่วมกับเป้าหมายการเงินที่เราต้องการ เพียงแค่นั้นก็ทำให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นครับ

สุดท้ายแล้ว ผมมองว่าการวางแผนจัดการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ดีผ่านการลดหย่อนภาษีนั้น เราควรถามวัตถุประสงค์ของการใช้ชีวิตก่อนว่า จริงๆ แล้วเราต้องการอะไรในชีวิตกันแน่ หลังจากนั้นค่อยแนะนำไล่เรียงไปตามความสำคัญของสิ่งที่เราต้องการ แล้วค่อยมองหาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะช่วยเราได้อีกทอดหนึ่งครับ

เพราะไม่ว่าเราจะเลือกรายการลดหย่อนภาษีแบบไหน มันก็สามารถช่วยลดภาษีได้เหมือนกัน แต่สิ่งที่ทำให้ต่างมันคือสินทรัพย์และเป้าหมายการเงินที่เราได้รับนอกเหนือจากการลดหย่อนภาษีมากกว่าครับ

ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT