การเงิน

ตลท. ยกเครื่องเกณฑ์ IPO เพิ่มเครื่องหมายเตือนปัญหาการเงิน ปรับเกณฑ์ Backdoor Listing เข้มเท่าบจ.

20 ก.พ. 67
ตลท. ยกเครื่องเกณฑ์ IPO เพิ่มเครื่องหมายเตือนปัญหาการเงิน ปรับเกณฑ์ Backdoor Listing เข้มเท่าบจ.

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน(บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งกระบวนการ เพิ่มเครื่องหมายเตือนนักลงทุนกรณีบจ. มีปัญหาการเงิน พร้อมปรับเกณฑ์ Backdoor Listing ให้เข้มข้นเท่าการ IPO ทยอยมีผลใช้บังคับตั้งแต่ 25 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยประสบกับข่าวฉาวมากมาย ไม่ว่าจะเป็นกรณีหุ้น MORE และหุ้น STARK ซึ่งลดทอนความมั่นใจของนักลงทุนที่มีต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทจดทะเบียน ทำให้ตลท. ต้องเร่งหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ในการดูแลบจ. และการซื้อขายให้ปลอดภัยแก่นักลงทุนมากยิ่งขึ้น

ในวันนี้ (20 ก.พ. 2567) นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำงานร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. อย่างต่อเนื่องในการศึกษา ทบทวน และปรับปรุงเกณฑ์ต่างๆ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน 

หลังจากการศึกษาทบทวนอย่างถี่ถ้วน ตลท. ได้ดำเนินการปรับกฎเกณฑ์ยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนทั้งกระบวนการเข้าจดทะเบียน การดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน ตลอดจนการเพิกถอน เพื่อเพิ่มคุณภาพบริษัทจดทะเบียนทั้งด้านฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน 

พร้อมกันนี้ ตลาดหลักทรัพย์ยังได้เพิ่มการเปิดเผยข้อมูลและการเตือนผู้ลงทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพให้ตลาดทุนไทย และจัดให้มีการแยกประเภทเครื่องหมาย “C” เพื่อเตือนผู้ลงทุนในกรณีที่บริษัทจดทะเบียนมีเหตุการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อฐานะการเงินและการดำเนินธุรกิจ หรือมีสารสนเทศที่ต้องชี้แจงหรือรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากมีการปรับปรุงการเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหลักทรัพย์ให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลมากขึ้น ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้วเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ ตลท. ยังได้ปรับปรุงการพิจารณาคุณสมบัติ Backdoor Listing และ Resume Trading ให้เทียบเท่า New Listing โดยเริ่มทยอยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป

ปรับเกณฑ์บริษัทที่จะ IPO ต้องมีกำไรสูงขึ้น เพิ่ม Free Float

เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน ตลท. ได้ปรับปรุงคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทั้งใน SET และ mai โดยการเพิ่มมูลค่ากำไรและส่วนของผู้ถือหุ้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงทั้งด้านฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน 

คุณสมบัติของบริษัทที่สามารถจดทะเบียนใน SET และ mai ได้มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ดังนี้

  • บริษัทที่จะจดทะเบียนใน SET ต้องมีกำไรปีล่าสุดมากกว่า 75 ล้านบาท (จากเดิม 30 ล้านบาท และมีกำไรรวม 2-3 ปีก่อนการจดทะเบียนมากกว่า 125 ล้านบาท ขึ้นไป (จากเดิม 50 ล้านบาท) และบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 50-300 ล้านบาท ต้องเพิ่มอัตราส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) เป็น 30% (จากเดิม 25%)
  • บริษัทที่จะจดทะเบียนใน mai ต้องมีกำไรปีล่าสุดมากกว่า 25 ล้านบาท (จากเดิม 10 ล้านบาท) และมีกำไรรวม 2-3 ปีก่อนการจดทะเบียนมากกว่า 40 ล้านบาท ขึ้นไป (จากเดิมไม่กำหนด) และบริษัทที่มีทุนจดทะเบียน 50-300 ล้านบาท ต้องเพิ่มอัตราส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) เป็น 30% (จากเดิม 25%)

เกณฑ์ใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อให้บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนและผู้ที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามเกณฑ์ใหม่ได้
newlisting

 

เพิ่มเครื่องหมายเตือนนักลงทุนกรณีบจ. มีปัญหา จากเดิมมีแค่ “C”

นอกจากเกณฑ์ในการจดทะเบียนบริษัทแล้ว ตลท. ยังได้ยกระดับการเตือนผู้ลงทุน โดยเพิ่มเหตุที่จะเตือนผู้ลงทุนด้วยเครื่องหมายต่างๆ จากเดิมที่มีแค่ “C” (Caution) ดังนี้ 

  1. ตลท. จะติดเครื่องหมาย “CB” ให้กับหุ้น กรณีบริษัทจดทะเบียนมีความเสี่ยงด้านฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน สภาพคล่องทางการเงิน ทั้งกรณีไม่มีธุรกิจ มีขาดทุนต่อเนื่อง หรือผิดนัดชำระหนี้สถาบันการเงินหรือตราสารหนี้ 
  2. ตลท. จะติดเครื่องหมาย “CS” ให้กับหุ้น กรณีผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบจ.
  3. ตลท. จะติดเครื่องหมาย “CC” ให้กับหุ้น กรณีบริษัทจดทะเบียนมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ เป็น Cash Company มีคณะกรรมการตรวจสอบ หรือไม่จัด Opportunity Day ตามที่กำหนด 
  4. ตลท. จะติดเครื่องหมาย “CF” ให้กับหุ้น กรณีที่สัดส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือ Free Float ไม่เป็นไปตามเกณฑ์

เกณฑ์ใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 และหากบจ. แก้ไขไม่ได้ในระยะเวลาที่กำหนดจะเข้าข่ายมีสิทธิถูกเพิกถอน และจะถูกปลด C แล้วขึ้นเป็น SP หรือ Trading Suspension 

นอกจากนี้ ตลท. ยังเพิ่มเหตุเพิกถอนกรณีบริษัทจดทะเบียนไม่มีธุรกิจต่อเนื่องหลายปี หรือไม่สามารถแก้ไข Free Float ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพเหมาะสมที่จะเป็นบริษัทจดทะเบียน

 csign

 

เพิ่มคุณสมบัติ Backdoor Listing ไม่ซ้ำรอย STARK

นอกจากนี้ จากกรณี STARK ตลท. ยังเพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณาคุณสมบัติบริษัทที่เข้าจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และกรณีย้ายกลับมาซื้อขายหลังแก้ไขเหตุอาจถูกเพิกถอน (Resume Trading) ให้เทียบเท่ากับการเข้าจดทะเบียนใหม่ (New Listing) เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนมีคุณภาพใกล้เคียงกัน   

โดยหลังมีการปรับเกณฑ์ ก.ล.ต. จะเข้ามามีส่วนร่วมพิจารณาบริษัทที่จะทำการ Backdoor Listing และบริษัทนั้นจะต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ร่วมยื่นคำขอเหมือนกับบริษัทที่ยื่น IPO ทั่วไป รวมไปถึงจะต้องมีคุณสมบัติและกำไรตามเกณฑ์ที่ตลท. กำหนด และต้องจัด Opportunity Day อย่างน้อย 1 ครั้งในปีแรก

เกณฑ์ใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจดทะเบียนไม่ว่าผ่านช่องทางใดมีคุณภาพเหมาะสมที่จะเป็นบริษัทจดทะเบียน

 backdoorlisting-resumetradi

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเกณฑ์ที่มีการปรับปรุงได้ที่เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ฯ www.set.or.th ภายใต้หัวข้อ “กฎเกณฑ์/การกำกับ” และ “กฎเกณฑ์ – หนังสือเวียนส่วนที่เกี่ยวกับหลักทรัพย์จดทะเบียน”   

advertisement

SPOTLIGHT