ไลฟ์สไตล์

นักเรียนแห่ใช้ AI ช่วยทำการบ้าน ครูสหรัฐฯ เร่งปรับหลักสูตรรับมือสู้

19 ม.ค. 66
นักเรียนแห่ใช้ AI ช่วยทำการบ้าน ครูสหรัฐฯ เร่งปรับหลักสูตรรับมือสู้

ความโด่งดังของ Chat GPT แชทบอทอับดุล ถามได้ตอบได้ตัวนี้ กำลังทำให้วงการ IT สั่นสะเทือน จนทำให้ Google ต้องเร่งพัฒนา AI เข้าสู้ และ Microsoft กำเงินเข้าลงทุนในบริษัทกว่า 3 แสนล้านบาท เบอร์ใหญ่ด้านไอทีอย่าง ‘Bill Gates’ ถึงขั้นมองว่า AI จะกลายเป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก มากกว่า Metaverse หรือ Web 3.0 เสียอีก

แต่แชทบอทตัวนี้กำลังกลายเป็นฝันร้ายของ “คุณครู” ทั่วโลก
 
 
นักเรียนใช้ ChatGPT ทำการบ้านแทน เขย่าวิธีสอนหนังสือครูสหรัฐ

 

ลอกการบ้าน ChatGPT

 

ด้วยศักยภาพของ Chat GPT ที่ทำได้หลากหลายตั้งแต่เขียนบทความ ตอบคำถาม ให้คำปรึกษา แก้โจทย์เลข เขียนโค้ด ฯลฯ ล่าสุด มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในสหรัฐ จับไต๋ได้ว่า เรียงความเรื่อง “คุณธรรมเบื้องหลังการแบนบูร์กา (ชุดคลุมของหญิงมุสลิม)” ที่เขียนขึ้นอย่างงดงาม ให้ตัวอย่างที่สมเหตุสมผล และวิพากษ์ได้อย่างแม่นยำนั้น ถูกเขียนขึ้นโดย AI ไม่ใช่นักเรียนของเขา

นักเรียนของดร. Antony Aumann อาจารย์สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัย Nothern Michigan ในสหรัฐ สารภาพกับเขาว่า ได้ใช้ Chat GPT ในการเขียนเรียงความฉบับบนี้ เป็นสัญญาณให้เห็นว่า เขาจะใช้หลักสูตรเดิมๆ ในการสอนไม่ได้อีกต่อไป ดร. Aumann จึงเตรียมที่จะปรับรูปแบบการสอนของเขา โดยจะให้นักเรียนเขียนโครงร่างฉบับแรกในห้องเรียน โดยใช้เว็บบราวเซอร์ซึ่งตามติดพฤติกรรมการท่องเว็บของนักเรียน แล้วให้นักเรียนเข้ามาเล่าให้ฟังด้วยว่า แต่ละดราฟต์ที่แก้ไข มีพัฒนาการอย่างไรบ้าง

และในเทอมต่อๆ ไป ดร. Aumann ก็ได้มีแผนจะนำ Chat GPT เข้ามาผสมผสาน เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรด้วย โดยจะให้นักเรียนประเมิณผลงานการเขียนที่ AI สร้างขึ้น โดยมองว่า ต่อจากนี้กิจกรรมในห้องเรียนจะไม่ใช่เพียงแค่การถกเถียงคำถามที่อาจารย์โยนให้ ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน (นักเรียน - อาจารย์) แต่จะเพิ่มรูปแบบใหม่ คือ เจ้าหุ่นยนต์แห่งโลกอนาคตเหล่านี้ จะคิดอย่างไรกับโจทย์ที่เรามีบ้าง?

 

ChatGPT



ผลกระทบของ Chat GPT ที่มีต่อวงการการศึกษาดังเช่นตัวอย่างนี้ ทำให้บรรดาผู้บริหารสถานศึกษา ต้องกลับมาปรับรูปแบบการเรียนการสอนการยกใหญ่ อาจารย์ในมหาวิทยาลัยบางแห่งต้องออกแบบคอร์สเรียนใหม่ทั้งหมด เพิ่มสัดส่วนการสอบปากเปล่า การทำงานเป็นกลุ่ม และการส่งงานด้วยการเขียนมือ ทดแทนการพิมพ์แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ด้วยความเข้าถึงง่ายของแชทบอทตัวนี้ ซึ่งแม้แต่คนที่ไม่ได้ชำนิชำนาญด้านไอทีก็ใช้ได้ โรงเรียนมัธยมในสหรัฐบางแห่ง จึงบล็อกการเข้าถึงเว็บไซต์ ChatGPT ในระบบโรงเรียน แม้จะรู้ดีว่ามีสารพัดวิธีอื่นให้เข้าถึงเว็บนี้ได้ แต่มหาวิทยาลัยหลายแห่ง เลือกที่จะให้อิสระในการเข้าถึงเว็บไซต์ เพราะไม่อยากจำกัดอิสรภาพในกระบวนการการศึกษา แต่จะหันมาปรับเปลี่ยนวิธีการสอนของอาจารย์แทน เพราะมองว่าในอนาคตจะมีเทคโนโลยีแบบนี้ คอยมาเขย่าวิธีการออกแบบการศึกษาอยู่เรื่อยๆ เป็นแน่

อย่างไรก็ดี ในแวดวงวิชาการนั้น “การคัดลอกผลงานทางวิชาการ (Plagiarism)” ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่อาจถูกเร่งด้วยการเข้ามาของ AI เพื่อรับมือกับการนำ ChatGPT ไปใช้แบบผิดวัตถุประสงค์ หลายมหาวิทยาลัยจึงมีแผนที่จะเริ่มใช้ “GPTZero” โปรแกรมที่จะตรวจสอบว่าบทความไหนถูกเขียนขึ้นโดยใช้ ChatGPT บ้าง ซึ่งณ ขณะนี้ มีอาจารย์มหาวิทยาลัยจาก Harvard, Yale แลพ Rhode Island กว่า 6,000 คน จึงลงชื่อร่วมใช้งานโปรแกรมดังกล่าวแล้ว
 

สถาบันการศึกษาไทย รับมือ ChatGPT อย่างไรดี?

 

ChatGPT การศึกษา

 

ทีมข่าว Spotlight ได้สัมภาษณ์ ‘ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ’ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงมุมมองต่อการใช้แชทบอท AI ในแวดวงการศึกษา

ดร. โรจน์ฤทธิ์ชวนมองต่างมุมว่า การที่ผู้เรียนหันมาพึ่งแชทบอท มากกว่าศักยภาพของตัวเองนั้น เกิดจากปัญหาใหญ่ของที่อยู่คู่วงการการศึกษามานาน นั่นคือการให้คุณค่ากับ “คะแนน” มากกว่า “ความรู้” ที่จะได้รับจากห้องเรียน

เด็กทุกวันนี้ ถูกบีบบังคับโดยครอบครัว ว่าต้องเรียนได้คะแนนดีๆ ถูกบีบบังคับโดยสถานที่ทำงานว่าจะต้องมีเกรดสวยๆ พวกเขาจึงเลือกวิธีที่ที่ง่ายที่สุด ที่จะพาพวกเขาไปถึงจุดหมาย โดยละเลยการพัฒนา ‘ทักษะ’ โดยเฉพาะทักษะในการคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ ซึ่งจะทำพวกเขาเติบโตอย่างยั่งยืนมากกว่าในโลกแห่งการทำงาน

หนึ่งปัญหาใหญ่คู่วงการการศึกษาก็คือ Plagiarism หรือก็คือการคัดลอกผลงานของคนอื่น แล้วนำมาเคลมว่าเป็นของตน ก็มีต้นกำเนิดมาจากแนวคิดเรื่องการให้คุณค่ากับ ‘ผลลัพธ์สุดท้าย’ มากกว่า ‘กระบวนการการได้มา’ ซึ่งสถาบันการศึกษาควรปลูกฝังคุณค่าตรงนี้ให้มาก สำหรับกลุ่มผู้สอน-ผู้เรียนที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ดร. โรจน์ฤทธิ์มองว่าคือ “เด็กมัธยมปลาย” เพราะในระดับประถมถึงมัธยมต้นนั้น หากใช้ AI ช่วยเขียนการบ้าน ระดับภาษาคงเลิศหรูดูดีเกินจริงไปมาก (ซึ่งอาจารย์ก็มั่นใจว่า ในอนาคตอันใกล้ AI จะถูกออกแบบให้ปรับระดับภาษาของงานเขียนได้แน่ๆ ) ในระดับมหาวิทยาลัย ผู้เรียนก็มีวิทยายุทธ์แก่กล้ามากพอที่จะเจอโจทย์อันท้าทายที่ยากจะให้ AI ช่วย ระดับมัธยมปลายซึ่งอยู่ตรงกลางนั้น เป็นระดับที่เด็กอาจสร้างงานเขียนระดับดีเยี่ยมได้เองจริงๆ และยังไม่สามารถสร้างแบบฝึกหัดสุดโหดหิน มาป้องกันเด็กใช้ AI ช่วยทำการบ้านได้ คุณครูในระดับมัธยมจึงอาจเป็นผู้ที่ต้องเหนื่อยมากสุด ในยุคที่เด็กๆ สามารถใช้ AI มาช่วยทำการบ้านได้

 
 
เทคโนโลยียิ่งล้ำสมัย เด็กไทยยิ่งขี้เกียจ

 

ChatGPT ไทย

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เราเจอปัญหากับการใช้เทคโนโลยีช่วย “ลอกการบ้าน” เราเจอปัญหาลอกการบ้าน นี้มาตั้งแต่สมัย Google เข้ามาในประเทศไทยใหม่ๆ แถมปัญหานี้ยิ่งเข้มข้นขึ้นในช่วงที่มีการเรียนการสอนทางไกลจากที่บ้าน จุดนี้สะท้อนว่า การออกแบบชิ้นงานที่จะให้กับผู้เรียนก็เป็นเรื่องสำคัญ หากเป็นชิ้นงานทดสอบความรู้ทั่วไป ที่สามารถหาได้จากอินเตอร์เน็ต หรือใช้ ChatGPT ช่วยได้ ก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากพวกเขาจะใช้เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้งานเสร็จเร็วขึ้น

แต่หากเป็นชิ้นงานที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์ขั้นสูง เป็นตัวอย่างสดใหม่ ที่หาไม่ได้บนอินเตอร์เน็ต ก็จะท้าทายให้ผู้เรียนสร้างผลงานด้วยทักษะความสามารถของตัวเอง, การเลือกปรับน้ำหนักการวัดประเมิณผล เพิ่มสัดส่วนคะแนนในการวัดผลทักษะ มากกว่าการวัดผลส่วนที่เป็นความรู้ท่องจำ ก็เป็นโซลูชั่นของปัญหาเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่า จะเป็นการสร้างภาระให้กับผู้สอนเพิ่มเติมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย

 

โรจน์ฤทธิ์ โรจนธเนศ

 

แม้มหาวิทยาลัย หรือโลกการทำงานจะใช้ระดับคะแนนในการสกรีนเบื้องต้น แต่ท้ายที่สุด การสัมภาษณ์ก็เป็นจุดคัดกรองระหว่างเด็กที่มีความสามารถจริงๆ หรือเก่งได้เพราะมี AI ช่วย การพัฒนาผู้เรียนโดยเน้นการพัฒนาทักษะต่างๆ ทั้งทักษะการทำงานเฉพาะด้าน ทักษะการคิดแบบ Critical Thinking จึงจะเป็นหนทางสู่การพัฒนาเด็กไทย ให้สามารถพึ่งพิงตัวเองได้ โดยใช้เทคโนโลยีสนับสนุน เพื่อเตรียมตัวให้พวกเขาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในโลกการทำงานแห่งอนาคต

 

ที่มา : Japan Times

advertisement

SPOTLIGHT