ข่าวเศรษฐกิจ

ส่อง 5 มาตรการอสังหาริมทรัพย์  กระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน?

16 เม.ย. 67
ส่อง 5 มาตรการอสังหาริมทรัพย์   กระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน?

 

อีกหนึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาลของนายกเศรษฐา ทวีสิน คือ มาตรการอสัหาริมทรัพย์ ที่จะช่วยลดภาระของประชาชนในการซื้อ สร้าง ที่อยู่อาศัย พร้อมมีธนาคารของรัฐที่ซัพพอร์ตสินเชื่อบ้านด้วย

โดยมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์นี้มีอะไรบ้าง และสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยแค่ไหน ประโยชน์ของมาตรการนี้มีอะไรบ้าง SPOTLIGHT จะพามาดูกัน

เริ่มจาก 5 มาตรการอสังหาริมทรัพย์ มีอะไรบ้าง

อสังหาริมทรัพย์

  1. ปรับปรุงมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยปี 2567 โดยลดค่าโอนจาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% สำหรับการซื้อขายบ้านเดี่ยว บ้านแฝด บ้านแถว อาคารพาณิชย์ และห้องชุดที่มีราคาซื้อขายและราคาประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 7 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 7 ล้านบาท โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่กฎหมายได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2567
  2. มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน กำหนดให้บุคคลธรรมดาสามารถลดหย่อนค่าจ้างก่อสร้างบ้านในอัตรา 10,000 บาทต่อค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท รวมไม่เกิน 1 แสนบาท ในปีภาษีที่ก่อสร้างบ้านเสร็จ ตามสัญญาจ้างที่ได้กระทำขึ้นและเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ 9 เม.ย. 2567 ถึง 31 ธ.ค. 2568
  3. โครงการ Happy Home วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดย ธอส. จะสนับสนุนให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง นับรวมถึงการปลูกสร้างอาคาร การซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้าง และซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการอยู่อาศัย ผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยคงที่ 3% นาน 5 ปี วงเงินต่อรายสุงสุดไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยสามารถยื่นคำขอกู้ได้จนถึง 30 ธ.ค. 2568 หรือจนกว่าสินเชื่อจะเต็มตามกรอบวงเงินของโครงการ
  4. โครงการ Happy Life วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดย ธอส. จะสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองนับรวมถึงการต่อเติม ขยาย หรือซ่อมแซมอาคาร หรือไถ่ถอนจากสถาบันการเงินอื่น ผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรก 2.98% วงเงินต่อรายตั้งแต่ 2.5 ล้านบาท ขึ้นไป
  5. โครงการบ้าน BOI ขยับเพดานเป็น 1.5 ล้านบาท โดย BOI ให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี ในวงเงินไม่เกิน 100% ของเงินลงทุนในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข โดยได้ขยายเพดานราคาบ้านเพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านบาท เป็น 1.5 ล้านบาท

เปิดเหตุผลรัฐบาลกระตุ้นภาคอสังหาฯ?

ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในส่วนของตลาดที่อยู่อาศัย เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยสะท้อนจากมูลค่าตลาดต่อ GDP ที่ค่อนข้างสูงราว 5-6% 

โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562-2566) ตลาดที่อยู่อาศัยของไทยซึ่งประเมินจากการโอนกรรมสิทธิ์มีมูลค่าอยู่ในกรอบปีละ 0.93-1.07 ล้านล้านบาท เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจไทยที่มีมูลค่าปีละ 15.7-17.9 ล้านล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า ตลาดที่อยู่อาศัยมีขนาดอยู่ที่ราว 5-6% ของเศรษฐกิจไทย

นอกจากขนาดที่ใหญ่แล้ว ธุรกิจอสังหาฯ เป็นธุรกิจที่มี Supply Chain ยาว ทำให้ประโยชน์ของการใช้มาตรการกระตุ้นจะไม่ได้จบลงเพียงแค่ในภาคอสังหาฯ เท่านั้น แต่ยังคงสร้างอานิสงส์สู่ธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจผลิตและจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจตกแต่งภายใน หรือธุรกิจตัวแทนขายอสังหาฯ ให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น จ้างงานมากขึ้น และส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการบริโภคที่สูงขึ้นตาม

คาดมาตรการนี้มีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจ 1.14 ล้านล้านบาท

โดยภาครัฐมองว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ครั้งนี้ จะส่งเสริมให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
คิดเป็นมูลค่า 1.14 ล้านล้านบาท แบ่งได้เป็น

1) การเพิ่มมูลค่าการซื้อขายอสังหาฯ 8 แสนล้านบาท จากการลดลงของค่าใช้จ่ายในการซื้ออสังหาฯ ของผู้บริโภค อาทิ ค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนอง ที่ลดลงจากล้านละ 30,000 บาท เหลือล้านละ 200 บาท ตลอดจนการมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยวงเงินรวม 30,000 ล้านบาท จาก ธอส. มาช่วยสนับสนุนผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

2) การลงทุนในภาคอสังหาฯ 4-5 แสนล้านบาท จากการที่ผู้ประกอบการต้องลงทุนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยใหม่เพื่อทดแทนสต็อกเหลือขายที่มีโอกาสถูกเร่งระบายออกไป

3) การบริโภค 1 แสนล้านบาท จากการที่ผู้ซื้ออสังหาฯ ต้องซื้ออุปกรณ์เครื่องใช้ที่เกี่ยวเนื่องกับการอยู่อาศัย อาทิ เครื่องปรับอากาศ ทีวี ตู้เย็น รวมถึงเฟอร์นิเจอร์เพื่อตกแต่งที่อยู่อาศัย เป็นต้น

จับตามาตรการอสังหาฯ อื่นๆ เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามมาตรการอื่นๆ ที่มีโอกาสเข้ามากระตุ้นภาคอสังหาฯ กันอย่างต่อเนื่อง อาทิ การกระตุ้นกำลังซื้ออสังหาฯของชาวต่างชาติผ่านการทบทวนหลักเกณฑ์การถือครองอสังหาฯ โดยชาวต่างชาติ 

ตลอดจนการลดต้นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงง่ายขึ้น ผ่านการปรับลดขนาดที่ดินของโครงการจัดสรรลง ยกตัวอย่างเช่น การปรับที่ดินของบ้านเดี่ยวให้ลดลงจากไม่ต่ำกว่า 50 ตร.ว. เป็นไม่ต่ำกว่า 35 ตร.ว. หรือ บ้านแฝด ปรับจากไม่ต่ำกว่า 35 ตร.ว. เป็นไม่ต่ำกว่า 28 ตร.ว. ซึ่งปัจจุบันกระบวนการแก้กฎหมายจัดสรรที่ดินได้เข้าคณะกรรมการจัดสรรกลางไปแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างพิจารณา คาดใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน     

มาตรการอสังหาฯ จะช่วย  Oversupply ได้หรือไม่? 

นอกจากนี้ ต้องติดตามคือ “การกระตุ้นอสังหาฯ จะช่วยลดภาวะ Oversupply ของที่อยู่อาศัยในบาง Segment ได้มากน้อยแค่ไหน” 

โดยข้อมูลจาก AREA ชี้ว่าที่อยู่อาศัยประเภท “ทาวน์เฮ้าส์” และ “อาคารชุด” มีสต็อกราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทเป็นจำนวนมากราว 74,500 ยูนิต และ 71,300 ยูนิต ตามลำดับ คิดเป็น 96.3% และ 84.7% ของสต็อกทั้งหมด 

จึงเป็นที่น่าติดตามว่า มาตรการลดค่าโอน-จดจำนองที่มีการขยายจากเดิมที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 7 ล้านบาท พร้อมกับให้ส่วนลดค่าโอนจากอัตราปกติที่ 2% เหลือ 0.01% จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยระบายสต็อกในส่วนนี้ได้หรือไม่ 

ส่วนสต็อกบ้านเดี่ยวที่เกิน 50% อยู่ในช่วงราคา 5-10 ล้านบาท ก็มีโอกาสได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ อยู่บ้างเช่นกัน

ที่มา : Krungthai Compass, ไทยคู่ฟ้า

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT